การลับมีดด้วยหินคองโกโตะ 金剛砥

หินคองโกโตะ
หรือหินคองโกะ , คองโกโตอิชิ ก็ได้ทั้งนั้น

เป็นหินที่ผมต้องใช้มากที่สุดในบรรดาหินลับมีดทั้งหมด จริงๆแล้วมันก็คือหินลับมีดสังเคราะห์ชนิดหยาบที่เราเรียกกันว่าหินคาโบรันดั้มหรือหินกากเพชรนี่แหละครับ เรียกหินคองโกโตะให้มันฟังดูขลังๆไปอย่างนั้นเอง

คำว่าคองโกโตะ หรือ 金剛砥 ผมหารากศัพท์ที่แท้จริงไม่ได้ครับคือผมอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก เท่าที่หาข้อมูลแบบง่ายๆจะแยกเป็น
金剛 แปลว่าซิลิกอนคาร์ไบด์ 砥 แปลว่าหินลับมีด เท่านี้ก็แปลตรงตัวได้ว่าหินลับมีดซิลิกอนคาร์ไบด์ น่าจะใช่นะครับ คำค้นที่ได้ก็มีชื่อภูเขาคองโกะและป่าคองโกะอยู่ด้วย ไม่แน่ใจว่าในภาษาญี่ปุ่นดั้งเดิมจะหมายถึงอะไร อาจจะหมายถึงภูเขาหินแข็งหรือระยิบระยับดั่งเพชรก็ได้ คำว่าซิลิกอนคาร์ไบด์บางทียังหมายถึงเพชรเทียม ดูแปลกๆที่จะเรียกซิลิกอนคาร์ไบด์ว่าคองโกะ อาจจะต้องมีต้นเหตุหรือรากศัพท์มาก่อนหน้านั้น

มาถึงคำว่าคองโกะกันบ้างครับ คองโกะหรือคองโกโตะ มีความหมายสำหรับหินลับมีดก็คือหินซิลิกอนคาร์ไบด์อย่างที่ว่าไปแล้ว และยังหมายถึงหินก้อนแรกที่ใช้ในการขัดใบดาบ ซึ่งแต่ดั้งเดิมหินคองโกโตะนี้จะใช้หินทรายขนาดหยาบๆอย่างหินโอมูระที่หยาบมากๆ แต่ในปัจจุบันอนุโลมให้ใช้หินสังเคราะห์แทน คือหินคาโบรันดัมแบบที่เราใช้กันนี่แหละครับเป็นหินคองโกะ หรือเป็นหินก้อนแรกในชุดหินอาราโตะคือหินธรรมชาติกริตหยาบๆที่ใช้ขัดใบดาบขั้นต้น

นอกจากใช้ขัดมีดหรือลับมีดแล้ว หินคองโกโตะนี่ก็หมดเปลืองไปกับการแต่งหน้าหินธรรมชาติอยู่หลายนะครับ ถ้าเจอหินแข็งๆอย่างหินโป่งเขียวนี่ขัดแล้วขัดอีก ถูด้วยหินคองโกโตะอยู่นั่นแหละไม่เรียบซักที

ขัดฮามอนด้วยหินคองโกโตะ
หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายๆว่าขัดใบมีดที่มีแนวชุบแข็งด้วยหินคาโบรันดั้ม

หลายๆท่านอาจจะสนใจการขัดฮามอนหรือขัดใบดาบแบบญี่ปุ่น พี่ๆน้องๆหลายท่านในกลุ่มของเราก็เป็นช่างขัดดาบมืออาชีพ หลายท่านก็เป็นนักสะสมมีดสะสมดาบ หลายท่านก็เป็นนักทำมีด มีความชอบความสนใจในเหล็กแบบญี่ปุ่น หรือการขัดดาบแบบญี่ปุ่น วันนี้ผมจะแนะนำวิธีง่ายๆที่ง่ายที่สุดสำหรับการขัดฮามอน มันง่ายขนาดไหน ขนาดที่ว่าเด็กสิบขวบก็ทำได้ครับ

เป็นการขัดดาบแบบพื้นบ้านพื้นฐานธรรมดานะครับ ไม่สามารถเอาไปอ้างอิงขั้นตอนทางวิชาการใดๆทั้งสิ้น เรียกว่าเป็นการละเล่นเพลินๆสำหรับคนชอบหิน ซึ่งการขัดดาบแบบญี่ปุ่นที่แท้จริงเป็นงานที่ละเอียดอ่อน ซับซ้อนและใช้ฝีมือใช้ความทุ่มเท หลักใหญ่ๆคือใช้ต้นทุนและเวลาอย่างมหาศาล เรียกได้ว่าเป็นงานหรือการกระทำที่เข้าใกล้พิธีศักสิทธิ์อีกประเภทนึง ขอกราบยกไว้เหนือหัวก่อน วันนี้เราจะมาทำแบบนอกคอกกัน

อุปกรณ์ที่สำคัญก็มีสองอย่างคือใบมีดหรือใบดาบที่แน่ใจว่ามันมีฮามอน และหินคองโกโตะคือหินคาโบเบอร์หยาบๆอีกซักสองสามก้อน ใบมีดที่ผมถ่ายรูปให้ดูใช้หินคาโบสามก้อน จริงๆแล้วมันมีแค่สองเนื้อนะครับ คือสองก้อนเป็นเบอร์ร้อยกว่าๆ และอีกก้อนเป็นเบอร์ราวๆสามสี่ร้อย ที่ใช้เบอร์ร้อยสองก้อนคือมีก้อนนึงผมซื้อมือสองมาก็อยากปรับแต่งให้มันเรียบด้วยการขัดใบมีด

มีน้ำซักขันก็พอทำได้แล้วครับ วิธีทำก็ไม่มีอะไรเลยครับ ลับมีดเหมือนๆที่เราลับนั่นแหละ แต่ลับให้เป็นรอยเดียวหรือลากใบมีดไปในทางเดียว ถ้าจะลับทางยาวก็ลับทางยาว ถ้าจะลับทางเฉียงก็ลับทางเฉียง ดูรอยกัดไสหรือขนแมวให้ไปในทิศเดียวกัน ถ้าใบมีดใบนั้นมีแนวชุบแข็งมันจะปรากฏให้เห็นในครั้งแรกของการขัดเมื่อรอยขนแมวไปในทางเดียวกันเมื่อไหร่เราจะรู้ทันทีว่ามันมีแนวแข็งอยู่ตรงไหน เหล็กเหนียวอยู่ตรงไหน

มันมีเคล็ดลับอยู่นิดหน่อยคือเราต้องวางใบมีดให้แนบกับหิน แต่เวลาดันใบมีดหรือถูใบมีดให้ใช้น้ำหนักกดลงทางคมหรือทางแนวชุบ ให้แนวสันมีดแค่ลากผ่านๆเท่านั้นครับ ถ้าเรากดใบมีดด้วยน้ำหนักที่เท่ากัน ใบมีดจะถูกกินไปทางด้านหลังซึ่งทำให้ตัวมีดเสียเนื้อไปเรื่อยๆ

และรายละเอียดอีกอย่างของการขัดใบดาบหรือมีดสั้นมีดตันโตะคือแนวคมหรือการปาดใบมีดจากสันลงมาหาหน้าคมมันจะเป็นแนวโค้งนะครับ คือเป็นแนวแบบคอนเว็กซ์อ่อนๆ ไม่ใช่แนวแบนหรือตรงแบบแฟลต บางตำราถึงกับบอกว่าใบมีดตันโตะที่ปาดใบแบบแฟลตหรือถูกขัดให้เป็นแฟลตคือแบนขนาดเอาไม้บรรทัดทาบแล้วแสงผ่านไม่ได้นั่นคือข้อเสียของใบมีด

ตอนขัดใบมีดแต่งหน้าหินคองโกโตะด้วยหินโป่งเนื้ออ่อนหรือหินนากูระซักหน่อยจะช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น และเห็นการแยกตัวของชั้นเหล็กระหว่างฮากาเนะกับจิกาเนะหรือเหล็กแข็งส่วนหน้ากับเหล็กเหนียวส่วนกลางใบเห็นชัดขึ้น

ในขั้นนี้จะยังไม่เห็นรายละเอียดปลีกย่อยนะครับ เช่นไม่เห็นเส้นฮาบูชิคือเส้นขาวเชื่อมต่อระหว่างเหล็กแข็งกับเหล็กเหนียว และเส้นอาชิ คือเส้นขาวที่แทงย้อนเข้าไปในส่วนของเหล็กแข็ง

การขัดหรือลับใบมีดด้วยหินชนิดนี้ หรือความหยาบละเอียดขนาดนี้ ถ้าเราตั้งองศาถูกต้อง มีดจะคมแล้วนะครับ คือส่วนที่คมหน้ายังเป็นโค้งมนจะต้องไม่มีแล้ว ต้องแหลมตลอด ตัดเฉือนอะไรได้แล้ว การลับในขั้นตอนนี้ต้องระวังถ้าเราดันแรงเกินหรือลับด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไปคมมีดจะเกิดการพับหรือที่เรียกว่าเบอรร์ ทำให้ต้องลบออก เสียเนื้อเหล็กมากเกินกว่าที่ควรจะเป็น

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่