นิฮองกาเนะ 日本鋼 มีดที่ทำด้วยเหล็กญี่ปุ่น

日本鋼 นิฮองกาเนะ หรือนิฮองโกะ เหล็กแบบญี่ปุ่น หรือเหล็กญี่ปุ่น จริงๆแล้วในความหมายของชาวญี่ปุ่นหรือช่างทำมีดญี่ปุ่น คำว่านิฮองกาเนะคือเหล็กกล้าที่ใช้ทำมีดแบบที่เราเข้าใจกันว่าไฮคาร์บอนหรือไฮคาร์บอนสตีลนั่นแหละครับ ถึงแม้ว่าจะมีคำศัพท์ญี่ปุ่นทีหมายถึงเหล็กกล้าคาร์บอน คือคำว่าแทนโซโกะ 炭素鋼 อยู่ก็ตาม

เรามักจะเจอคำว่า 日本鋼 ประทับอยู่บนมีดครัว ทั้งในแบบมีดครัวตะวันออกคือมีดครัวญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมหรือมีดครัวแบบตะวันตกที่สร้างโดยช่างญี่ปุ่นหรือผลิตในญี่ปุ่น บางทีก็เขียนไว้ในกล่องใส่มีดหรือเป็นสติกเกอร์ติดมีดก็มีครับ หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าไอ้นิฮองกาเนะเนี่ยมันเป็นยังไง

อย่างแรกเลย ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นผลิตภัณฑ์ของนิปปอนสตีล NIPPON STEEL หรือ นิปปอนสตีลซูมิโตโมะ อะไรทั้งนั้น ทั้งๆที่ความจริงแล้วข้าวของที่นิปปอนสตีลผลิตขึ้นมาหลายอย่างหรือหลายเบอร์ก็คือนิฮองกาเนะนี่แหละ

และคำว่า นิฮอง หรือ นิปปอง นิปปอน ก็หมายถึงประเทศญี่ปุ่นหรือชาวญี่ปุ่นลูกหลานพระอาทิตย์แห่งแดนอาทิตย์อุทัยนั่นแหละ

ผมไม่แน่ใจว่าว่ายุคเหล็กในญี่ปุ่นเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ หรือจะนับโลหะวิทยาในแบบชาวไอนุเข้าไปด้วยหรือไม่ แต่เท่าที่มีการบันทึกมา ในญี่ปุ่นมีการใช้เหล็กมาเป็นพันๆปี เหล็กที่ช่างตีเหล็กชาวญี่ปุ่นคุ้นเคยและชาวบ้านชาวเมืองของญี่ปุ่นใช้งานกันมาแต่โบราณ เป็นเหล็กที่หาได้และถลุงให้เป็นเหล็กในญี่ปุ่นเอง ซึ่งแหล่งแร่เหล็กหรือเหมืองเหล็กของญี่ปุ่นมีทั้งในทะเล ชายหาด ริมแม่น้ำ และในภูเขาก็ยังมี คือมีอยู่ทั่วๆไป แต่เรามักจะคุ้นเคยกับการใช้แร่เหล็กจากทรายชายหาดที่เราเรียกกันว่าเหล็กหยก หรือเหล็กทรายหยก เหล็กประกายเพชร 玉鋼 ทามะฮากาเนะอันกระเดื่องเลื่องลือนั่นเอง

เหล็กกล้าแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ไม่ค่อยมีสารประกอบอะไรนัก คือมักจะมีแค่เนื้อเหล็กและคาร์บอน เป็นหลัก มีซัลเฟอร์กับแมงกานีสเป็นสารประกอบหรือสารมณฑิล และมีธาตุหลักอีกอย่างคือซิลิกอนที่ได้จากเม็ดทราย

ปริมาณคาร์บอนในแบบปรกติคาดว่าราวๆ 0.7 - 0.8 ประมาณนี้ครับ ถ้าสูงกว่านั้นก็จะเริ่มเป็นเหล็กพิเศษ อย่างทามะฮากาเนะบางก้อนที่ปริมาณคาร์บอนสูงถึง 1.0 - 1.1 % ก็มี ในทางปฏิบัติ ถ้าใช้เหล็กที่คาร์บอนสูงขนาดนั้นเค้ามักจะบอกไปเลยว่าใช้เบอร์อะไร เช่นใช้เหล็กยาสึกิ กระดาษเหลือง , กระดาษขาว หรือใช้เหล็กทาเคฟุ ถ้าเค้าบอกว่านิฮองกาเนะคืออาจจะใช้เหล็กทีสเปกต่ำกว่านั้นลงมา

นอกจากใช้เหล็กญี่ปุ่นแล้วกระบวนการให้ความร้อนหรือการชุบแข็งแบบญี่ปุ่นก็เป็นเรื่องสำคัญ สำหรับการทำให้เหล็กดีๆกลายเป็นมีดดีๆ เหล็กแบบญี่ปุ่นจะใช้ทำมีดแบบลามิเนทหรือใช้เหล็กกล้าผสมกับเหล็กเหนียวก็ได้ หรือใช้เหล็กกล้าชิ้นเดียวชุบแข็งให้มันมีค่าความแข็งที่ต่างกันก็ได้ และมันใช้กันทั่วๆไปในทุกวงการ ไม่ว่าจะมีด ดาบ กรรไกร จอบ เสียม เคียว แม้แต่ตะไบ ก็ใช้เหล็กญี่ปุ่นหรือนิฮองกาเนะเหมือนกัน

วันนี้มีมีดมาให้ชมเล่มนึงครับ หน้าตาอาจจะไม่ญี่ปุ่นนัก แต่เหล็กและกระบวนการให้ความร้อนเป็นแบบญี่ปุ่น คือตีขึ้นรูปจากเหล็กตะไบญี่ปุ่น และชุบแข็งให้ใบมีดมีความแข็งไม่เท่ากันด้วยการพอกโคลนแบบญี่ปุ่น ได้ใบมีดแบบดิฟเฟอเรนเชี่ยลฮาร์ดเดนนิ่ง เห็นแนวชุบแข็งแบบญี่ปุ่นหรือฮามอน

ดูตามรูปแรกๆจะเห็นได้ชัดเจนว่าส่วนที่แข็งมันอยู่ตรงไหน ส่วนเหนียวหรือส่วนที่ไม่แข็งอยู่ตรงไหน แนวแข็งหรือฮามอนส่วนปลายย้อนกลับ จำไม่ได้แล้วคำศัพท์เรียกฮามอนส่วนนี้เรียกว่าอะไร สัญญาอนิจจา ความจำได้หมายรู้เป็นของไม่เที่ยง

สรุปแล้วมีดที่ตีตราว่านิฮองกาเนะ คาดว่าเราจะได้เหล็กกล้าคาร์บอนที่ปริมาณคาร์บอนราวๆ 0.7-0.8 % ครับ อาจจะมากน้อยกว่านี้ก็ได้ แล้วแต่ว่าเค้าซื้อเหล็กสูตรไหนหรือใช้เหล็กจากแหล่งไหน ในญี่ปุ่นมีเหล็กขายมากมาย ถึงรายใหญ่จะดูว่ามีไม่กี่ยี่ห้อ แต่รายเล็กระดับชุมชนก็มีเยอะมาก ทั่วไปเกือบทุกเมือง ช่างตีเหล็กในญี่ปุ่นก็มีเหล็กให้เลือกว่าจะใช้เหล็กที่ผลิตในท้องถิ่นก็ได้หรือใช้เหล็กอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่หนีแบบนี้คือใบมีดเหล็กกล้าค่าความแข็งได้มาตรฐาน อาจจะซัก 57 -59 ร็อกเวลส์ และใบมีดขึ้นสนิมได้ง่าย อาจจะชุบแข็งทั้งใบหรือชุบแข็งบางส่วน รักษาคมได้ดีและลับง่ายเรียกเกสรคมได้ง่าย

เป็นเหล็กกล้าที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนและวิถีชีวิตแบบญี่ปุ่นมานับพันปี

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่