ลายฮาดะ 地肌 บนใบมีดทำครัว

ลายฮาดะ 地肌 หรือจิฮาดะ หมายถึงแนวการซ้อนกันของชั้นเหล็ก ที่ผ่านการตีทบ บนใบมีดหรือใบดาบ

จริงๆแล้วมันก็เป็นส่วนหนึ่งหรืออันหนึ่งอันเดียวกันกับฮาม่อน 刃文 ที่หมายถึงแนวชุบแข็งของใบมีดหรือใบดาบ

ถ้าเป็นเหล็กตีทบแบบญี่ปุ่นเพื่อทำใบดาบ เค้าจะเป็นเหล็กผสมทั้งก้อนครับ มีวิธีการหลายวิธีที่จะรวมเหล็กที่มีคุณสมบัติต่างกันให้เป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อให้ได้ใบมีดหรือใบดาบที่มีคุณสมบัติดีที่สุด ทั้งในด้านการใช้งาน และความงาม

ถ้าอยู่บนใบมีดตันโตะ ฮามอนก็คือฮาดะที่ถูกชุบแข็ง และฮาดะคือฮาดะส่วนที่ไม่ได้ชุบแข็ง งงไหมครับ จริงๆแล้วก็คือลายเส้นที่เกิดจากการเรียงตัวของเหล็กผสมที่ไม่ติดกัน แล้วผสมหรือเชือบให้มันติดกัน ด้วยความร้อนตามกรรมวิธีของการตีใบดาบ คือการทำใบดาบเหล็กผสมหรือการผสมเหล็ก
เหล็กลายแบบญี่ปุ่นหรือเหล็กดามัสกัสของซีเรีย ก็ใช้หลักการเหมือนๆกันคือทำเหล็กที่ไม่ติดกันให้ติดกันด้วยการเผาที่อุณหภูมิประมาณ 1100 - 1200 องศาเซลเซียส ถ้าร้อนกว่านั้นคือ 1400 ขึ้นไปเหล็กมันจะละลายหรือหลอมจนเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ได้ติดกันด้วยการเชื่อมแต่ละแผ่น

การทำก็เหมือนๆท่านทั้งหลายเห็นตามยูทูปนั่นแหละ ผมเองก็ไม่ค่อยเชี่ยวชาญนัก คือเรียงชิ้นเหล็กทามาฮากาเนะที่แตกเป็นชิ้นเล็กๆให้รวมกันเป็นก้อน หลอมและตีให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วก็พับ หลอมให้ติดกัน ตีให้บางแล้วก็พับ ทำต่อไปเรื่อยๆตามแต่ใจต้องการจะพับกี่ครั้งกี่รอบก็เถอะ

โดยปรกติช่างตีดาบจะมีเหล็กสองชุด คือชุดเปลือกและชุดคม ต่างก็เป็นเหล็กผสมด้วยกันทั้งคู่ คือผสมมาตามกรรมวิธี และตีทบมาจนเหล็กแน่นตัวและเกิดลาย ลายที่แตกต่างกันตามการวางเหล็กหรือเอียง ซ้อน สลับ ต่างๆ ตามกรรมวิธี ช่างตีดาบแต่ละสายวิชาจะผสมเหล็กไม่เหมือนกัน คือวางลายไม่เหมือนกัน ไม่ใช่เค้าตีให้ติดกันแบบเรื่อยเปื่อยนะครับ เรื่องการผสมเหล็กก็เป็นส่วนสำคัญที่จะชุบแข็งได้คุณสมบัติดีและแนวชุบแข็งหรือฮามอนสวยงาม

ช่างแต่ละสายวิชา เรียงเหล็กไม่เหมือนกัน เวลาชุบแข็งออกมา ถึงจะเขียนลายโคลนลายเดียวกัน แต่ฮามอนที่ออกมามันก็ต่างกันไปด้วย ลายฮามอนบนใบดาบในยุคดาบเก่า บางลาย ว่ากันว่าทุกวันนี้ไม่มีใครชุบได้อีกแล้ว ความลับบนใบดาบนอกจากวิธีชุบ วิธีเขียนลาย ยังย้อนไปถึงการวางแนวของเหล็กที่จะให้ปรากฏต่อสายตา และสัดส่วนของเหล็กเหนียวและเหล็กกล้าที่รวมกันเป็นใบดาบ

ผมไม่ค่อยเชี่ยวชาญหรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับดาบญี่ปุ่นนัก แต่ถ้าพูดกันแค่ฮาดะกับฮามอน ก็พอจะโม้ให้กันฟังได้ รอยต่อระหว่างฮามอนกับฮาดะเรียกว่าฮาบูชิ หรือเส้นฮาบูชิ คล้ายๆกับรอยต่อของเหล็กแข็งที่เรียกว่าฮากาเนะ กับเหล็กเหนียวที่เรียกว่าจิกาเนะของใบมีดครัวที่เป็นลามิเนท รอยต่อตรงนี้เรียกว่าคาซึมิ

ฮามอนตามขนบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ไม่ได้รวมเอารอยเหล็กแข็งของมีดลามิเนทเข้าไปด้วยนะครับ ฮามอนที่แท้จริงจะมาจากการชุบแข็งโดยตั้งใจเท่านั้น คือพอกโคลนแล้วก็ชุบ แบบดั้งเดิม บางสำนักถึงกับบอกว่าต้องชุบในน้ำเท่านั้น ห้ามชุบในน้ำมัน มันผิดหลักการ เพราะฉะนั้นถ้าคิดตามความเชื่อดั้งเดิมนี้ ลายฮามอนที่ทำกันในฝั่งอเมริกัน จำนวนมากไม่ได้ถูกยอมรับว่าเป็นฮามอนในมุมมองของคนญี่ปุ่น หรือเจาะจงลงไปว่าช่างตีดาบชาวญี่ปุ่น

มีดครัวแบบฮอนยากิก็เหมือนกัน ถ้ารอยชุบแข็งที่ได้มาถูกต้องตามหลักการถึงเรียกมีดครัวเล่มนั้นว่าฮอนยากิ คือมีดครัวที่ผลิตตามขนบดั้งเดิมชของช่างตีดาบ ถ้าลายฮามอนนั่นได้มาจากการชุบแข็งแบบอินดักชั่น หรือการชุบแข็งแบบดิฟเฟอเรนเชี่ยลฮาร์ดเดนนิ่งวิธีอื่นๆ มีดเล่มนี้ก็ยังไม่ใช่ฮอนยากิ

ว่าไปโน่นและน้า เขียนมาจนตะวันจะตกดินยังไม่ได้ว่าถึงมีดเล่มนี้ซะที

คือมีดเล่มที่เห็นนี่เป็นมีดยานากิบะนะครับ ก็เหมือนกับยานากิบะโดยทั่วๆไปคือทำด้วยเหล็กลามิเนท คือประกอบด้วยสองส่วนคือเหล็กกล้าและเหล็กเหนียว เหล็กกล้าอยู่ตรงส่วนคม ในที่นี้ก็คือฝั่งซ้ายของใบมีด และเหล็กเหนียวอยู่ฝั่งขวาของใบมีด มีดซิงเกิ้ลบีเวลหรือปาดแนวคมข้างเดียวมันเป็นอย่างนี้

เล่มนี้ต่างจากเล่มอื่นๆตรงไหน ? คือเหล็กเหนียวหรือจะเรียกว่าชั้นเหล็กเหนียวทำด้วยเหล็กลายหรือเหล็กผสม คือผสมเหล็กให้ลายเป็นชั้นๆก่อน แล้วค่อยมารวมกับเหล็กแข็งเพื่อเป็นมีดลามิเนทอีกที และไอ้ส่วนลายๆของชั้นเหล็กที่ซ้อนเรียงกันเหมือนแผ่นกระดาษ นี่แหละคือฮาดะ

ในมีดครัวจะพบใบมีดที่เป็นแบบนี้น้อยนะครับ คือมักจะเป็นเหล็กแข็งติดกับเหล็กเหนียวเลย ที่ผสมเหล็กเหนียวให้ลายก่อนแล้วค่อยมาติดกับเหล็กแข็งมีน้อย แต่ถ้าเป็นใบกบไสไม้ เค้านิยมทำกันด้วยวิธีนี้ คือผมเจอบ่อยมาก ที่ใบกบเป็นเหล็กลาย และชั้นเหล็กลายบนใบกบก็เรียกว่าฮาดะเหมือนกัน รูปแบบการซ้อนหรือเรียงฮาดะ ก็มีชื่อเรียกอยู่นะครับ หลายแบบเหมือนกันผมจำไม่ได้ รายละเอียดของดาบญี่ปุ่นมีเยอะมาก ต่อให้ใบดาบไม่ได้สลักชื่อ แต่ดูฮามอน ดูเนื้อเหล็ก ดูฮาดะ ดูเกรนเหล็ก ดูปลาย ดูสัน ดูจังหวะความโค้งงอน ดูกั่น ดูการแต่งผิว ผู้เชี่ยวชาญดาบญี่ปุ่นสามารถบอกได้ว่าเป็นใบดาบที่มาจากส่วนไหนของประเทศ จากสำนักไหน ยุคไหน หรือบางทีบอกได้กระทั่งใครทำ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่