มีดทำครัวและกรรไกรแบบเหล็กลาย แบบไหนลามิเนท แบบไหนดามัสกัส

เหล็กดามัสกัส เหล็กลามิเนท

เป็นเหล็กผสมทั้งคู่นะครับ แต่ลักษณะทางโลหะวิทยาหรือคำจำกัดความมันต่างกันอยู่ หลายท่านยังสับสนอยู่บ้าง มีคนถามหลายที วันนี้วันดีๆผมจะเล่าให้ฟัง

ขออนุญาตใช้ภาพประกอบเก่าของผมนะครับ มีดหรือกรรไกรไปอยู่กับท่านผู้ครอบครองแล้ว มีเพียงรูปถ่ายและข้อมูลทางการค้นคว้าที่ยังเหลือให้ระลึกถึงกันได้

เหล็กดามัสกัส หลักการกว้างๆก็คือเอาเหล็กที่เนื้อต่างกันสองชนิดขึ้นไปมาเรียงติดกันแล้วก็ทำการเผาหรือผสมให้หลอมติดกันแต่ไม่ใช่ละลายเป็นเนื้อเดียวกันนะครับ มันมีหลายสูตร หลายประเภท หลายแหล่งที่มา มีทำกันเกือบทุกภูมิภาคของโลก ที่โด่งดังมีชื่อเสียงที่สุดก็คงจะเป็นของซีเรียจากเมืองดามัสกัสโดยตรง ที่เค้าเรียกเหล็กดามัสกัสก็คือเหล็กหรือดาบที่ผสมกันในเมืองดามัสกัส เป็นแหล่งใหญ่ หลังจากนั้นชาวโลกก็เรียกเหล็กแบบนี้ว่ามาม่า เอ้ยไม่ใช่ เรียกว่าเหล็กดามัสกัสไม่ว่าจะทำกันที่ไหนก็ตาม

ผมขอยึดเอาตามโรงเรียนอเมริกันเบลดสมิธหรือ ABS ก็แล้วกัน ตามหลักสูตรของครูใหญ่บิลล์ มอแรน ว่ากันตามนั้นเลย ใบมีดดามัสกัสหรือเหล็กดามัสกัส ทำจากเหล็กสองชนิด ซึ่งพื้นฐานที่สุดก็ใช้ไฮคาร์บอนผสมกับโลวคาร์บอนหรือแม้แต่ผสมกับเหล็กเหนียวไปเลย ใช้เหล็กสองชนิดนี้ในสภาพเป็นแผ่นๆ วางซ้อนสลับกันตามแต่ว่าจะใช้กี่แผ่นก็สุดแล้วแต่ เมื่อก่อนทำกันใช้แผ่นเริ่มต้นไม่มาก แค่ 4-5 แผ่นก็เริ่มทำกันได้ แต่สมัยนี้บางทีใส่กันหลายสิบแผ่นและตีผสมด้วยค้อนกล

สมมุติว่าเราเริ่มที่เหล็ก 5 แผ่น คือ1-2-3-4-5 โดยใช้เหล็กคือ ไฮคาร์บอน-โลวคาร์บอน-ไฮคาร์บอน-โลวคาร์บอน-ไฮคาร์บอน

สมัยก่อนเอาเหล็กเรียงกันแล้วมัดด้วยลวด สมัยนี้เชื่อมติดกันด้วยแท่งอ็อก ผมก็แบบนี้แหละครับ เป็นพวกหัวโบราณ ทำอะไรใหม่ๆตามสมัยกับใครไม่ค่อยเป็น เผาเหล็กมัดนี้ให้ร้อน เอาออกมาตีให้แนบติดกัน อุณหภูมิเบื้องต้นก็ประมาณ 900 - 1000 องศาเซลเซียส เหมือนๆการตีเหล็กนี่แหละ ตีให้เหล็กทั้ง 5 แผ่นแนบชิดกันเหมือนเป็นก้อนเดียว ถ้าคิดว่ามันแนบกันดีแล้วก็เอาออกมาใส่ฟลักซ์หรือสารป้องกันการเติมอากาศ มีเคมีหลายตัวนะครับ ง่ายสุดก็ใช้บอแรกซ์ ถ้าชอบแบบดั้งเดิมก็เอาเพียงน้ำโคลนก็ช่วยป้องกันการเติมอากาศได้

เมื่อเคลือบก้อนเหล็กได้ดีแล้วก็เอากลับเข้าไปเผาใหม่คราวนี้เพิ่มอุณหภูมิขึ้นไปจนถึง 1100 องศา อย่าให้เกิน 1200 นะครับ มันจะละลายเข้าหากัน เอาแค่มันเยิ้มๆเหนียวๆพอจะยึดติดกันได้ ขยับแท่งเหล็กหรือมัดเหล็กให้ร้อนทั่วดีแล้วก็เอาออกมาตีให้มันติดกัน ฟังดูเหมือนง่าย จริงๆมันก็ง่ายนั่นแหละ ในสถานการณ์จริงๆแบบดั้งเดิมไม่ว่าจะอเมริกันหรือญี่ปุ่น เค้าก็ไม่ได้วัดอุณหภูมิจริงจังว่ามันเท่าไหร่แน่ แต่ควบคุมหรือดูปฎิกิริยาของเหล็ก ช่างตีเหล็กเค้าดูกันออกว่ามันได้ที่รึยัง เอาออกมาตีมันจะติดกันไหมหรือเผามากจนมันละลายกลายเป็นหยดเหล็กหยาดเหล็กลงไปกองกับพื้นก็มี

ถ้าขั้นตอนการผสมเรียบร้อยดี เหล็กก้อนนี้หรือมัดนี้จะมีชั้นเหล็กเรียงกันอยู่ 5 ชั้น ก็ลดไฟลงมาหน่อยตีให้เหล็กยืดออกจนได้ขนาด พับครึ่งอีกคือพับครั้งที่หนึ่ง เหล็กจาก 5 ชั้นก็จะกลายเป็น 10 ชั้น ผสมให้ติดกัน ตีให้ยึดออกพับเหล็กครั้งที่สองจาก 10 ชั้นก็กลายเป็น 20 ชั้น และมากขึ้นเป็นทวีคูณ คูณสองไปเรื่อยๆ ตามแต่ความพึงพอใจของช่างตีเหล็กว่าจะพับกี่ครั้ง

สมมุติว่ามัดนี้พับทั้งหมด 5 ครั้ง จากเหล็กเริ่มต้น 5 ชั้นมันจะกลายเป็น 160 ชั้น สลับกันระหว่างเหล็กแข็งและเหล็กเหนียว ไอ้ก้อนที่ว่านี่เป็นดามัสกัสพิมพ์ธรรมชาติหรือพิมพ์พื้นฐานนะครับ ถ้าพิเศษกว่านี้ยังมีการผสมลายและกำหนดลวดลายของเหล็กได้อีก ไอ้เหล็กแท่งนี้มันจะลายไปทั่วเหมือนกับบะหมี่ทำนองนั้น และเราก็จะเอาไอ้เหล็กที่ผ่านการผสมแล้วไปตีขึ้นรูปให้เป็นใบมีดและให้ความร้อน เข้ากระบวนการอบชุบแบบปรกติของเหล็กไฮคาร์บอนในส่วนที่เราเลือกไว้ทำความคม เช่นเราผสมเหล็กกล้าโดยใช้เบอร์ 1095 และเหล็กเหนียวเราใช้เหล็กโลคาร์บอนแบบเหล็กก่อสร้าง เวลาเราให้ความร้อนเราก็นับเฉพาะเหล็ก 1095 ครับ เผาที่ 800 - 810 องศาเซเลเซียสแล้วก็จุ่มลดอุณหภูมิในน้ำมันอุ่น คืนไฟเรียบร้อย เราจะได้ใบมีดดามัสกัสมาหนึ่งใบ
ไอ้เหล็กที่ว่านี่มันดียังไงหรือมันคมกว่าเหล็กอื่นๆจริงรึเปล่า ตามหลักการแล้วจริงครับ หน้าคมของเหล็กดามัสกัสมันจะแข็งไม่เท่ากันเพราะมันมีส่วนของเหล็กกล้าและเหล็กเหนียว ถ้ามองกันระดับไมโครเซอเรท หน้าคมของเหล็กประเภทนี้มันมีความหยาบกระด้าง ไม่เรียบโดยตัวมันเอง ทำให้มันคมเรียกว่าคมอยู่นานหรือคมอยู่ตลอดเวลาที่ใช้งาน

ถ้าเหล็กใบมีดที่ทำจาก 1095 เนื้อเดี่ยวจะชุบแข็งทั้งใบหรือทำฮามอนก็เถอะ ถ้ามันกลายเป็นมีดแล้วหน้าคมมันจะแข็งเท่าๆกัน ติ๊งต่างว่าแข็งที่ 59 ร็อกเวลส์และปรับขนาดเกรนมาอย่างดีละเอียดได้มาตรฐาน มันจะรักษาคมได้ชั่วระยะเวลานึงซึ่งค่อนข้างเสถียร เช่นมันทนทานการเสียคมได้ 1000 ครั้ง ถ้าเราตัดไปตามปรกติ 500 ครั้งมันจะยังคมอยู่และลดความคมลงเรื่อยๆ จนใกล้ๆหนึ่งพันครั้งเราจะรู้สึกว่ามันไม่คม เราจะต้องไปลับเพราะเกรนเหล็กหรือเนื้อเหล็กส่วนปลายคมถูกดึงออกไปทีละนิดจนหน้าคมมันเรียบหรือโค้งมน

แต่ดามัสกัสมันมีลักษณะทางกายภาพที่ต่างไปจากนั้น คือมันคมได้ด้วยการลับคมและคมได้ด้วยเนื้อของมันเอง คือมันมีคมที่ผ่านการลับ ผสมกันทั้งเหล็กแข็งและเหล็กเหนียว เมื่อใช้ไประยะนึงเหล็กเหนียวก็จะเปิดช่องว่างเล็กๆให้เหล็กกล้าที่อยู่ด้วยกันโผล่ออกมาเป็นคมอีกครั้ง เหล็กจะมีช่องว่างเล็กๆที่เรามองไม่เห็นแต่บางทีอาจจะสัมผัสได้ เหมือนมันเป็นเลื่อยละเอียดๆอยู่ตลอดเวลา คือคมกว่ามีดปรกติและคมนานกว่ามีดปรกติจากการสึกกร่อนปรับสภาพของมันเอง

และใบมีดดามัสกัสนอกจากจะคมกว่าคือมีความแข็งแกร่งแข็งผสมเหนียว ซึมซับแรงสะเทือนได้ดี ยังมีความสวยงามบนใบมีดที่เกิดจากการผสมผสานของเหล็กต่างชนิดกันเมื่อแต่งผิวละเอียดเราก็จะเห็นว่ามันไม่เหมือนกันคือมีลวดลายที่สลับกันระหว่างเหล็กกล้าและเหล็กเหนียว เมื่อขึ้นสนิมก็ขึ้นไม่เหมือนกัน มองเห็นลายในเนื้อเหล็กได้อยู่ดี

ที่ว่ามาทั้งหมดนี่คือ " ดามัสกัส "

แล้วลามิเนทล่ะเป็นยังไง มันก็เหล็กผสมเหมือนกันนั่นแหละ คือผสมระหว่างเหล็กกล้ากับเหล็กเหนียว เพื่อเพิ่มคุณสมบัติของใบมีด จริงๆแล้วลามิเนทมีข้อดีหลายอย่างผมเคยเขียนไว้ยืดยาวหลายรอบ อธิบายให้เข้าใจสั้นเพราะเหนื่อย เอิ้ก เอิ้ก คือใช้เหล็กกล้ามาผสมให้ติดกับเหล็กเหนียว จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ เช่นประหยัดเหล็ก , ซึมซับแรงสะเทือน , ทำให้ลับง่าย , เพิ่มความสวยงาม คือใช้เหล็กเหนียวทำตัวใบมีดและเอาเหล็กกล้าหรือเหล็กแข็งทำแนวคม

ทำได้ตั้งแต่เหล็ก 2 แผ่นขึ้นไป คนที่เล่นมีดครัวก็จะเข้าใจกันดี เป็นใบมีดแบบสองแผ่นหรือสองชั้น คือแปะเข้าไปเลย มีดของคนถนัดขวาก็เอาเหล็กกล้าแปะไว้ทางซ้ายคือประกอบกันข้างซ้ายเหล็กกล้า ข้างขวาเหล็กเหนียว

หรือจะลามิเนทแบบสามแผ่นก็ได้ แบบที่เรียกกันทั่วไปว่าซานไม แบบนี้จะเห็นใบมีดเป็นสามชั้น หลังผ่าตลอด คือด้านซ้ายเป็นเหล็กเหนียว ตรงกลางเป็นเหล็กกล้า และด้านขวาก็เป็นเหล็กเหนียวอีกที อันนี้สำหรับมีดคมกลางดับเบิ้ลบีเวล

หรือจะใช้เหล็กสองแผ่นแต่ทำสามชั้นก็ได้ คือล้อมด้านหลังไปด้วยแบบที่เราเรียกว่ามีดสอดไส้หรือวาริโกมิ ถ้าดูด้านข้างจะเห็นเป็นเหล็กสามแผ่นแบบซานไมเหมือนกัน แต่ถ้าดูด้านหลังจะไม่เห็นเหล็กกล้า วิธีนี้จะใช้เหล็กกล้าแผ่นไม่กว้างนัก บางทีก็ใช้ครึ่งใบเท่านั้น ประหยัดเหล็กกว่าการทำแบบซานไม
ไอ้ที่ว่ามานี่คือลามิเนท ยังไม่ค่อยสับสนกันเท่าไหร่

ไอ้ที่สร้างความงงสำหรับมือใหม่คือลามิเนทแบบเหล็กลาย คือส่วนของเหล็กกล้าใช้เหล็กกล้าเนื้อเดี่ยว แต่ส่วนเหล็กเหนียวหรือผนังหรือจะเรียกว่าเปลือกก็ได้ใช้เหล็กผสม คือเป็นเหล็กผสมในเหล็กผสมอีกที อันนี้มีหลายท่านเข้าใจผิดว่ามันเรียกว่าดามัสกัส จริงๆแล้วไม่ใช่นะครับ มันเป็นเพียงลามิเนทที่ผสมเหล็กลาย หรือบางครั้งเรียกตามศัพท์เทคนิคว่าลามิเนทเลเยอร์

คือบางทีบอกมาเลยว่ากี่เลเยอร์ เช่นเปลือกสองข้างใช้เหล็กลายผสมมา 32 ชั้น รวมกันสองข้างเป็น 64 ชั้น รวมกับเหล็กกล้าตรงกลาง 1 แผ่นก็เป็น 65 เค้าจะเรียกว่าลามิเนท 65 เลเยอร์ ไม่ใช่ดามัสกัส

สังเกตหรือยึดหลักง่ายๆว่าถ้ามันคมโดยเหล็กรวมคือไปตรงไหนก็คม อันนั้นเป็นดามัสกัส แต่ถ้าแนวคมของมันอาศัยเพียงเหล็กแผ่นเดียวอันนั้นคือลามิเนท ถึงมันจะมีขอบข้างสลับชั้นก็ลายพร้อย แต่ถ้าตรงกลางของมันมีเพียงหนึ่งเดียวมันก็ยังไม่ใช่ดามัสกัส

แล้วเหล็กญี่ปุ่นแบบทามะฮากาเนะที่ตีทบชั้นล่ะเป็นดามัสกัสไหม เป็นครับ ถึงบางครั้งจะมีการผสมเหล็กเปลือกต่างหากก้อนนึงและเหล็กแกนกลางต่างหากอีกก้อนนึงแล้วจังหวะสุดท้ายเอามาเรียงต่อกันแบบลามิเนท มันก็ยังเป็นดามัสกัสนะครับ เรียกว่าโคตรดามัสกัส เท่าที่ดูมาช่างตีดาบญี่ปุ่นผสมดามัสกัสชั้นถี่หรือละเอียดกว่าช่างอเมริกันหรือซีเรียมาก

บ้านเราก็มีนะครับ ดามัสกัส อย่างการผสมเหล็กน้ำพี้แบบดั้งเดิมก็เป็นดามัสกัสคือเอาเหล็กที่ปริมาณคาร์บอนต่างกันมาตีผสมกัน ดาบฟ้าฟื้นก็รับรองว่าลายพร้อยแน่นอน เป็นดามัสกัสแหงๆ

อีกแหล่งนึงของบ้านเราที่นิยมการทำดามัสกัสก็ช่างกริช เป็นวัฒนธรรมร่วมของช่างชวาหรือมลายู ผสมเหล็กแบบดามัสกัส ที่เป็นลามิเนทเลเยอร์ก็มีพบบ้างแต่ส่วนใหญ่เป็นดามัสกัส เพียงแต่ว่าคติการซ้อนเหล็กของบ้านเราไม่เหมือนกับของซีเรีย ญี่ปุ่น หรืออเมริกัน คือเป็นในแบบของบ้านเรา

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่