รูปแบบความแข็งของใบกรรไกรสามแบบ

รูปแบบความแข็งของใบกรรไกรสามแบบ
 
สวัสดีครับผมพี่ๆน้องๆนักนิยมความคมทุกท่าน วันนี้วันดีมีกรรไกรบอนไซ หรือกรรไกรโอคุโบะมาให้ชมสามเล่ม ถ้าดูหน้าตาท่าทางแล้วมันก็เหมือนๆกัน ไม่แน่ใจว่ามีอะไรต่างกันนักโดยเฉพาะถ้าอยู่ในสภาพเดิมๆจากตู้ญี่ปุ่นคือดำๆแดงๆ

เราจะดูแทบไม่ออกว่ามันต่างกันยังไง นอกจากยี่ห้อที่ไม่เหมือนกันแล้วใบของกรรไกรยังมีรูปแบบความแข็งหรือลักษณะของความแข็งต่างกันออกไปถึงสามแบบ

จะมีทำจากเหล็กเนื้อเดี่ยวๆอยู่2แบบและแบบเหล็กผสมอยู่แบบนึง เอาแบบเหล็กผสมก่อนดีกว่า เพราะแบบนี้ค่อนข้างพบได้มากในกรรไกรบอนไซ

แบบที่1.ใบมีดลามิเนท คือส่วนของตัวกรรไกรด้ามและใบกรรไกรส่วนหลังเป็นเหล็กเหนียว และส่วนคมตัดเป็นเหล็กกล้า ใบกรรไกรแบบนี้มีข้อดีคือลับง่าย , ดัดปลายกรรไกรให้โค้งเข้าหากันได้ , จังหวะการทำงานนุ่มนวลเพราะซึมซับแรงสะเทือนได้ , ให้ใบมีดที่มีการแยกชั้นของเหล็กตัดกันสวยงาม และในสมัยโบราณที่เหล็กยังหาได้ยากกว่าทุกวันนี้เป็นการประหยัดเหล็กกล้าที่หายากมากๆ คือเหล็กกล้าชั้นดีจำนวนน้อยสามารถทำเครื่องมือมีคมได้หลายชิ้น

แบบที่2.เหล็กเนื้อเดี่ยวชุบแข็งทั้งใบ ใบมีดหรือกรรไกรแบบนี้ยังแยกกว้างๆได้อีกคือเหล็กกล้าธรรมดาที่ชุบแข็งทั้งใบ มักจะพบในกรรไกรราคาไม่แพง คืออาศัยความง่ายสะดวกในกระบวนการผลิต ใบมีดแบบนี้จะแข็งทั้งใบบางยี่ห้อชุบแข็งเฉพาะส่วนใบไม่ได้ชุบด้าม บางยี่ห้อชุบแข็งด้ามไปด้วย เวลาใช้จะสะเทิอนหรือฝืนๆมือหน่อย กับอีกแบบนึงที่ชุบแข็งทั้งใบก็พวกที่ทำจากอัลลอยด์ เป็นฮาร์ดเบลด อาจจะทำจากเหล็ก D2 หรือ SKD11 หรือไม่ก็สแตนเลส เล่มที่ลงให้ดูเป็นเหล็กกล้าคาร์บอนชุบแข็งทั้งใบแต่ไม่ได้ชุบด้าม

แบบที่3. เหล็กเนื้อเดี่ยวชุบแข็งบางส่วนหรือเอจก์เคว้นช์ จริงๆแล้วยังแยกไปได้อีกเป็นชุบแนวคมอย่างเดียวหรือชุบแข็งแนวคมเพื่อให้เกิดลายชุบแข็งที่เรียกว่าฮามอน หรือการทำใบมีดใบกรรไกรแบบฮอนยากิ แบบนี้จะพบได้น้อยที่สุด โดยสัดส่วนแล้วผมเจอเพียงไม่กี่เล่มเท่านั้น เล่มที่ลงให้ดูนี้เป็นเหล็กเนื้อเดี่ยว เผาไฟหรือให้ความร้อนเฉพาะแนวคม ที่เราเรียกกันว่าคมชุบ แล้วก็จุ่มสารละลายลดอุณหภูมิใบมีดก็จะเห็นแนวชุบเหมือนกรรไกรเล่มนี้

ใบมีดประเภทนี้ยังทำได้อีกหลายวิธี เช่นเผาให้ร้อนทั้งใบแต่จุ่มหรือลดอุณหภูมิบางส่วน มันก็เกิดแนวชุบแข็งได้เหมือนกัน หรือเผาด้วยวิธีขดลวดไฟฟ้าหรืออินดักชั่นมันก็จะให้แนวคมแบบนี้เหมือนกัน อีกวิธีก็คือการพอกใบมีดส่วนหลังด้วยโคลนกันความร้อน เผาให้ร้อนแล้วชุบแข็ง ใบมีดหรือใบกรรไกรก็จะมีลายฮามอนสวยงาม แบบที่เราเรียกกันว่าใบมีดฮอนยากินั่นแหละ และตามขนบของญี่ปุ่นแล้ว ฮามอนบนใบมีดหรือดาบจะต้องได้มาด้วยกระบวนการแบบดั้งเดิมคือพอกด้วยโคลนเท่านั้น ใบมีดที่ทำด้วยวิธีอื่นจะไม่เรียกแนวชุบแข็งแบบนั้นว่าฮามอนเลย และในฝ่ายอนุรักษ์นิยมจริงๆจะเรียกฮามอนเฉพาะใบมีดที่จุ่มลดอุณหภูมิในน้ำเท่านั้น ใบมีดที่ทำจากเหล็กน้ำมันหรือออยล์ฮาร์ดเดนนิ่งไม่สามารถได้รับการยอมรับตามขนบของช่างตีดาบแบบดั้งเดิม

ใบกรรไกรทั้งสามแบบนี้ผมให้ความเห็นส่วนตัวว่าผมชอบใบแบบลามิเนทที่สุด ด้วยเหตุผลจากการดัดแปลงหรือเรียกคืนสภาพของเก่าผ่านการใช้งาน คือกรรไกรเก่าที่ผ่านการลับมามากแนวคมจะหายไป โดยเฉพาะเล่มที่สนิมกินท้องใบหรือใบกรรไกรด้านใน ถ้าเรายิ่งลับส่วนนี้มากขึ้นเท่าไหร่ กรรไกรก็จะยิ่งเสื่อมสภาพมากขึ้นเท่านั้น โดยทางปฏิบัติแล้วเราจะลับกรรไกรเพียงด้านองศาด้านเดียว ถ้าลับมากขึ้นช่องว่างตรงกลางของกรรไกรมีมากเราต้องดัดแปลงหรือปรับด้วยการดัดโค้ง คือดัดปลายกรรไกรให้โค้งเข้าหากัน ซึ่งดัดได้เฉพาะใบกรรไกรแบบลามิเนท แบบที่ชุบแข็งทั้งใบดัดไม่ได้หรือดัดได้ยากมากๆครับ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่