สุนทรภู่ไม่ได้แต่งนิราศพระบาท

กระทู้สนทนา
สุนทรภู่ไม่ได้แต่งนิราศพระบาท 

ตอนที่ ๑ 
คลองขวาง และ  ผนังในกุฎีทั้งสี่ด้าน 
เข้าใจกันว่านิราศพระบาทเป็นผลงานที่สองของสุนทรภู่ เขียนในเดือนสาม ปีเถาะ ๒๓๕๐
ทว่า ข้อมูลภายในนิราศไม่รับรองความคิดนี้ 

กวีระบุว่าตอนย่ำรุ่ง ออกจากท่าน้ำแห่งหนึ่ง แล้วมาถึง
๏ ถึงคลองขวางบางจากยิ่งตรมจิต ใครช่างคิดชื่อบางไว้กางกั้น.....
ปัญหาคือ "คลองขวางบางจาก" อยู่ที่ใด คณะนักเรียนจากไผทอุดมศึกษา (Digital Library for SchoolNet, nectec : 2456) 
วางตำแหน่งคลองขวางไว้ที่ คลองทวีวัฒนา
ข้อเสนอนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะคลองนี้เริ่มขุดเมื่อ พศ. ๒๔๒๑ เว้นแต่จะเชื่อว่า นิราศนี้แต่งในรัชกาลที่ห้า

ในท้องที่ธนบุรี มีชื่อบางจากและคลองขวางอยู่ติดกันในเขตภาษีเจริญ กำหนดจากคลองขุดเส้นหนึ่งเป็นหลัก
ตือคลองราชมนตรี ตามชื่อผู้ขุด พระยาราชมนตรี ภู่ ต้นตระกูลภมรมนตรีในรัชกาลที่สาม
เป็นคลองขวางเส้นแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ เชื่อมระหว่างคลองบางเชือกหนังตอนเหนือ กับคลองมหาชัยทางใต้
กวีสามารถใช่โครงข่ายลำคลองทะลุออกสามเสนโดยไม่ต้องใช้แม่น้ำเจ้าพระยาให้เหนื่อยแรงจากน้ำเชี่ยว

ในเมื่อกวีใช้ตลองที่ขุดในรัชกาลที่สาม นิราศพระบาทจึงไม่อาจแต่งในรัชกาลที่หนึ่งได้

หลักฐานบอกอายุยังพบในคำกลอนพรรณนาการตกแต่งพระพุทธบาท
ผนังในกุฎีทั้งสี่ด้าน โอฬาร์ฬารทองทาฝาผนัง
จำเพาะมีสี่ด้านทวารบัง ที่พื้นนั่งดาดด้วยแผ่นเงินงาม

ผนังทาทองและพื้นปูแผ่นเงินนี้ เป็นการตกแต่งหลังการบูรณะในรัชกาลที่สาม
เพราะสัปปุรุษจุดเทียนแล้วไม่ดูแล ลุกลามไหม้พระมณฑปน้อยครอบรอยพระพุทธบาทเสียหายหมด
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์จดไว้ว่า เมื่อจะบูรณะครั้งนี้ ผนังด้านในเดิมเขียนลวดลายไว้ด้วยชาด 
แปลว่าผนังครั้งรัชกาลที่หนึ่งเป็นสีแดง เพิ่งมาปิดทองในรัชกาลที่สาม และเพิ่มการตีแผ่นเงินปูพื้นเข้าไปอีกด้วย

ปีเถาะเคราะห์ร้ายในนิราศ จึงไม้ใช่พ.ศ. ๒๓๕๐ ในรัชกาลที่หนึ่ง
แต่เป็นปี ๒๓๗๔ หรือ ๒๓๘๖ ในรัชกาลที่สาม สองปีนี้เท่านั้น

ตอนที่ ๒
เณรน้อย และ พระจอมนรินทร์ 
"เจ้าเณรน้อยเสด็จมาดูน่ารัก พระกลดหักทองขวางกางถวาย
พี่เหลียวพบหลบตกลงเจียนตาย กรตะกายกลิ้งก้อนศิลาตาม"

ข้อความนี้มีประเด็นสำคัญ ๒ ประการคือ สามเณรนี้ยังเป็นเด็กน้อย และสูงศักดิ์ระดับทูลกระหม่อมขึ้นไป
ถ้าเชื่อว่า นิราศแต่งในปี ๒๓๕๐ ปีนั้นสามเณรพระองค์เจ้าวาสุกรีก็พระชนม์ ๑๗ เป็นหนุ่มแล้ว
ไม่สมคำว่า "เณรน้อยน่ารัก" และศักดิ์ไม่สูงพอใช้พระกลดหักทองขวาง
ถ้าเป็นปี ๒๓๗๔ เณรน้อยจะตรงกับเจ้าฟ้ากลาง ประสูติจากพระพุทธเลิศหล้าฯ กับ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี
มีฐานันดรสูงพอจะรับพระกลดหักทองขวาง และในปี ๒๓๗๔ นั้น พระชนม์ ๑๒ พอดี (ประสูติ ๒๓๖๒) 

ส่วนเจ้านายที่กวีตามเสด็จมานั้นทรงผนวชอยู่ นิราศกล่าวถึงด้วยราชาศัพท์ชั้นสูงสุด เช่น
"รองมุลิกาเป็นข้าบาท" "พงศ์นารายณ์นรินทร์วงศ์ที่ทรงญาณ" "พระหน่อสุริยวงศ์ทรงสิกขา"
มืเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศที่สงวนไว้แด่เจ้านายสูงสุด เช่น กองคเชนทร์ ช้าง ๒๐ เชือก 
มีกองหมอ(ควาญผู้ชำนาญ) มีช้างดั้ง ช้างทรง มีสี่เวร (มหาดเล็ก เวรศักดิ์ เวรสิทธิ์ เวรฤทธิ์ เวรเดช) 
มีล้อมวง มีนางชาวใน

เจ้านายในราชวงศ์จักรีที่ทรงผนวชนั้นมีมากมาย แต่ที่เหมาะสมจะรับคำว่า "พงศ์นารายณ์นรินทร์วงศ์ที่ทรงญาณ"
เห็นจะมีได้เพียงพระองค์เดียว คือพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏ

เหตุการณ์ตามนิราศเรื่องนี้ ยังปรากฏอยู่ในเขียนวัดสมน เพชรบุรี (ผนังตรงข้ามพระประธาน) ทำให้ทราบชัดว่า 
เป็นขบวนเสด็จของพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏ มีสามเณรเจ้าฟ้ากลางและพระราชมารดาตามเสด็จ
กระบวนของเจ้าฟ้าชั้นทูนกระหม่อมมากถีงสามพระองค์เช่นนี้ ย่อมยิ่งใหญ่ดังบรรยายในคำประพันธ์ ฉนี้แล

ส่วนสุนทรภู่ในปีเถาะ ๒๓๗๔ นั้น บวชอยู่และกำลังพาลูกๆ ออกหัวเมืองหาทรัพย์ ดังเล่าใว้ในรำพันพิลาป
จึงไม่ใช่ผู้แต่งนิราศเรื่องนี้อย่างแน่นอน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่