JJNY : ยกโมเดลฝรั่งเศสสรรที่มา‘ศาลรธน.’│ส.ว.เทวฤทธิ์มองอนาคตศาลรธน.│เปิดชื่อจังหวัดฝนตกหนัก│ทองคําโลกดิ่งหนัก ทองไทยร่วง

นักวิชาการ ยกโมเดลฝรั่งเศส สรรที่มา ‘ศาลรธน.’ สอดคล้องปชช. ชี้ช่องคืนสมดุลระบบรัฐสภา
https://www.matichon.co.th/politics/news_4920223

นักวิชาการ ยกโมเดลฝรั่งเศส สรรที่มา ‘ศาลรธน.’ สอดคล้องปชช. ชี้ช่องคืนสมดุลระบบรัฐสภา
 
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดเวทีเสวนา “อนาคตศาลรัฐธรรมนูญ: แก้ปัญหาหรือตัวปัญหา” โดยมี นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย หรือ บัส สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.), นายณัชปกร นามเมือง จากเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) และ นายศุภณัฐ บุญสด นักวิชาการ สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น
โดยเนื้อหาตั้งคําถามต่อบทบาทของ ศาลรัฐธรรมนูญไทยในปัจจุบัน ว่าส่งผลต่อระบอบประชาธิปไตยไทยอย่างไร ตลอดจนข้อเสนอเฉพาะหน้าในการแก้ปัญหาศาลรัฐธรรมนูญ
 
ในตอนหนึ่ง นายศุภณัฐ นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า อัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศนั้น แตกต่างออกไป จะนำแนวคิดสากลทั้งหมดมาปรับใช้ไม่ได้ ซึ่งถ้าเราเอาอุดมการณ์การเมืองไปจับ จะพบว่า อัตลักษณ์รัฐธรรมนูญ แบ่งออกเป็น 1.อัตลักษณ์ที่สอดคล้องกับหลักเสรีประชาธิปไตย และ 2.ไม่สอดคล้องกับหลักเสรีประชาธิปไตย
 
วนกลับมาที่ไทย ลองคิดดูว่า ความขัดแย้งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา เรื่องหลักๆ ขัดแย้งระหว่างการมุ่งไปหาคุณค่าสากล นิติรัฐ นิติธรรม กับคุณค่าก่อน 2475 (อภิวัฒน์สยาม) คำถามคือ พอสองสิ่งนี้ขัดแย้งกันในการเมืองระบบ จุดชี้ขาดว่าฝั่งไหนจะชนะ คือศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญทำอะไร พูดง่ายๆ อะไรคือลักษณะเฉพาะของรัฐธรรมนูญประเทศไทย อัตลักษณ์อะไร นิยามผ่านคำวินิจฉัยที่ปรากฏในคดีการเมือง ซึ่งในทางกฎหมาย แบ่งโครงสร้างเป็น 3 ส่วน คือ 1.การไล่เรียงข้อเท็จจริงในคดี ว่าแต่ละฝ่ายสู้กันอย่างไร มีข้อวินิจฉัยอะไรบ้าง 2.ให้เหตุผลในทางกฎหมาย
3.การอธิบายเชิงพรรณนานอกประเด็นแห่งคดี ซึ่งส่วนนี้จะเผยให้เห็นอัตลักษณ์ของการเมืองไทยไว้ชัด
 
จาก 20 ปีที่ผ่านมา เราเห็นคดียุบพรรค คุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เผยให้เห็นอุดมการณ์ที่มองว่า อะไรคือระบบกฎหมายไทยมีที่ลักษณะเฉพาะ เป็นอัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับหลักเสรีประชาธิปไตย โดยล้วนแต่อ้างอิงถึงหลักพุทธศาสนา การให้ความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพ นิติรัฐ ประชาธิปไตย ที่สำคัญน้อยกว่าคุณค่าเหล่านี้ สำคัญรองลงมา เป็นตัวแสดงสำคัญที่ฉายให้เห็นว่าอะไรคืออัตลักษณ์ของการเมืองไทย ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสากล” นายศุภณัฐกล่าว
 
นายศุภณัฐ ยังจากนั้นกล่าวถึง ‘เอกสิทธิ์และความคุ้มกัน’ ซึ่งเป็นที่หลบภัยในทางกฎหมายให้กับสมาชิกรัฐสภา ในกรณีที่ปฏิบัติหน้าที่เต็มที่แล้ว จะไม่โดนดำเนินการทางกฎหมาย แบ่งเป็น เอกสิทธิ์ในแง่บุคคล คือ สมาชิก ส.ส., ส.ส. และในแง่ องค์กร (พรรค)
 
ส.ส.เวลาเอ่ยถ้อยคำอะไรในสภา ให้จำไว้ว่า จะไม่สามารถถูกดำเนินคดีได้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ 1.ถ้อยคำกล่าวในที่ประชุม อภิปราย ไม่ไว้วางใจ กระทู้ ถูกเนินคดีไม่ได้ 2.ถ้อยคำเชิงลายลักษณ์อักษร แต่ในต่างประเทศขยายไปถึงร่างกฎหมายที่นำเสนอต่อสมาชิกรัฐสภา ด้วย
ถ้า ส.ส.ต้องการทำงานแต่ไม่สามารถเสนอถ้อยคำ ที่นำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายได้ คำถามคือ รัฐสภาจะปฏิบัติหน้าที่อย่างไร ? ถ้าเสนอกฎหมาย แล้วจะถูกดำเนินคดีทางวินัย หรือพรรคถูกยุบ” นายศุภณัฐกล่าว
 
นายศุภณัฐกล่าวต่อไปว่า ในมุมส่วนตัวคิดว่า คำวินิจฉัยเหล่านี้ ต้องถูกลบล้างออกไปจากกฎหมาย เพื่อให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันนั้น กลับมาทำงานได้อีกครั้ง ให้ระบบรัฐสภาไทยสมดุล กลับมาทำหน้าที่ตามปกติได้อีกครั้ง
 
เพราะเมื่อเราเลือกตั้ง ได้ ส.ส. เข้าไป ก็จะผลักดันอาเจนด้าของเรา ได้อย่างปลอดโปร่งโล่งสบาย ทำหน้าที่ได้อย่างเจตนารมณ์ และเจตจำนงของผู้ที่เลือกตั้ง
 
นายศุภณัฐระบุว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญยังอยู่ได้ แม้จะมีการรัฐประหาร ก็นับว่าเป็นอะไรที่น่าประหลาดใจมาก แต่อีกมุมหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญ ยังมีความจำเป็นในระบบกฎหมาย เราจะมีหลักเกณฑ์หนึ่งที่ช่วยออกแบบโครงสร้างทางการเมืองได้
 
สมมติว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจรัฐจริงๆ แล้วสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นมา อะไรจะยืนยันความชอบธรรมได้ ทั้งความชอบธรรมในแง่รัฐธรรมนูญ ความชอบธรรมในแง่บุคคล และความชอบธรรมในแง่เนื้อหา ที่ต้องสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ประชาชนเห็นชอบ ซึ่งถ้าหากบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในร่องในรอย จะมีบทบาทอย่างมากที่ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ละเมิดกฎหมายสูงสุดที่ประชาชนตราขึ้น ซี่งคือ รัฐธรรมนูญ
 
ขอบเขตอำนาจในปัจจุบันที่ทำให้เราเดินหน้าไม่ได้ เช่น การวินิจฉัยยุบพรรค การใช้เสรีภาพของประชาชน คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ควรไปอยู่ในส่วน ความรับผิดทางการเมือง ให้รัฐสภา อภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่าเลือกรัฐมนตรีไม่เหมาะสม ให้ประชาชนเห็นเพื่อตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งถัดไป” นายศุภณัฐกล่าว
 
นายศุภณัฐกล่าวด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรมีการจัดสรรที่มาให้สอดคล้องกับประชาชน ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยกับแบบฝรั่งเศส เสนอชื่อมาได้ทั้ง 3 ส่วน เชื่อว่าสุดท้ายจะหาตรงกลางได้
 
ส่วนอำนาจหน้าที่ อาจนำโมเดลของเยอรมัน ที่ให้อำนาจหลายส่วนมาก ซึ่งในการชี้เป็นชี้ตายผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สุดท้าย เราเห็นแล้วว่าไม่เวิร์ก เพียงพอแล้วสำหรับหน้าที่ตรวจสอบด้านกฎหมาย นอกจากนี้ ควรมีการสร้างความรับผิดชอบทางการเมือง ให้ประชาชนมีส่วนถอดถอน วิพากษ์การใช้อำนาจได้หากฝ่าฝืนมติของประชาชน ระบบตรวจสอบมีประสิทธิภาพกว่านี้ ประมวลจริยธรรมของนักการเมือง มีระบบร้องเรียนชัดเจนมากขึ้น”  นายศุภณัฐกล่าว
 


ส.ว.เทวฤทธิ์ มองอนาคตศาลรธน. แนะแก้ด่วน อำนาจสั่งยุบพรรค ถ้าอยากมี ‘ควรเป็นกระบวนการสุดท้าย’ https://www.matichon.co.th/politics/news_4920137

ส.ว.เทวฤทธิ์ มองอนาคตศาลรธน. แนะแก้ด่วน อำนาจสั่งยุบพรรค ถ้าอยากมี ‘ควรเป็นกระบวนการสุดท้าย’
 
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม  จัดเวทีเสวนา “อนาชคตศาลรัฐธรรมนูญ: แก้ปัญหาหรือตัวปัญหา” โดยมี นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย หรือ บัส สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.), นายณัชปกร นามเมือง จากเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) และ นายศุภณัฐ บุญสด นักวิชาการ สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น
 
โดยเนื้อหาตั้งคําถามต่อบทบาทของ ศาลรัฐธรรมนูญไทยในปัจจุบัน ว่าส่งผลต่อระบอบประชาธิปไตยไทยอย่างไร  ตลอดจนข้อเสนอเฉพาะหน้าในการแก้ปัญหาศาลรัฐธรรมนูญ
 
ในตอนหนึ่ง  นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย หรือ บัส สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.), กล่าวว่าในทางรัฐศาสตร์ แม้แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมเอง ก็ย่อมต้องการทำให้ระบอบการเมืองลงหลักปักฐาน มีความเป็น ‘สถาบันทางการเมือง’ ซึ่งปัจจัยสำคัญคือ ‘ความยืดหยุ่นในการปรับตัว’ แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ชอบสิ่งนี้ เพราะเป็นช่องทางประนีประนอม เช่น กรณีการเสนอกฎหมาย ม.112 โดยในเชิงกลไกแล้ว การผ่าน ‘รัฐสภา’ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะท้ายที่สุดแล้ว รัฐสภาเป็นกลไกดูดซับ อาจจะมี ส.ส.150 คนโหวตให้ แต่ส่วนใหญ่ไม่โหวตให้อยู่แล้ว ถ้าพูดกันในสภาฯ ก็จบไป
 
นายเทวฤทธิ์กล่าวด้วยว่า  ศาลรัฐธรรมนูญเองก็มีวิสัยทัศน์ด้วยเช่นกัน ตนเปิดรายงานของศาลรัฐธรรมนูญที่ส่งมา พบว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีพันธกิจ เป้าประสงค์ และวิสัยทัศน์ ที่ชัดเจน
 
ศาลรัฐธรรมนูญวางกรอบวิสัยทัศน์ 5 ปี ท่านทราบหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญ เรียกว่ากล้าหาญมากที่บอกว่า จะเป็นสถาบันชั้นนำที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ในระดับสากล แปลว่าสามารถเป็นที่เชิดหน้าชูตา พิทักษ์รัฐธรรมนูญโดยยึดหลักสากล ที่ไม่ได้สะท้อนคุณค่าแบบไทยๆ ซึ่งเป็นโจทย์ที่เราน่าตั้งคำถาม แล้วท่านรู้หรือไม่ว่า สถาบันทางการเมืองเดียวที่รอดจาก คณะรัฐประหารปี 2557 ที่ฉีกรัฐธรรมนูญ ก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ในขณะที่รัฐสภา รัฐบาลไปหมด” นายเทวฤทธิ์กล่าว
 
นายเทวฤทธิ์กล่าวว่า ในช่วงรัฐประหาร ก็มีอีกส่วนที่น่าสนใจ คือการที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบคำวินิจฉัยของคณะรัฐประหาร ที่ 2/2562 ที่ระบุว่า  ผู้ต้องหาในคดีอาญาต้องพิมพ์ลายนิ้วมือหรือลายนิ้วเท้า โดยชี้ว่า คำสั่งดังกล่าวมีสถานะเป็นกฎหมาย แต่ก็จำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างไม่สมเหตุสมผลและไม่ได้สัดส่วน ไม่สมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะเมื่อเทียบกับสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนได้เสียไป จึงขัดต่อหลักนิติธรรม เป็นอันบังคับใช้ไม่ได้ นี่คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
 
อีกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 30/2563 เรื่องการที่บุคคลไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ส่งเรื่องให้วินิจฉัยว่า ประกาศ คสช.ที่ 29 และ 41 ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.นั้นที่มีโทษสูงนั้น ไม่เหมาะสมตามหลักได้สัดส่วน คำสั่ง คสช.ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ อีกทั้งคำสั่ง คสช.ที่เป็นปัญหา คือ ‘การบังคับใช้ย้อนหลัง’ ซึ่งเป็นโทษต่อบุคคล นับว่าเป็นป็นคำสั่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นการที่ศาลรัฐธรรมนูญไปตรวจสอบการใช้อำนาจออกคำสั่งของคณะรัฐประหาร
 
ในช่วงท้าย นายเทวฤทธิ์กล่าวว่า ประชาธิปไตย ต้องยึดหลักเสียงข้างมากเป็นสำคัญ ซึ่งเสียงข้างมากนั้นจำเป็น แต่ไม่เพียงพอ สิ่งที่จะการันตีได้คือ ‘บทสนทนา ระหว่าง 3 ฝ่าย’ ได้แก่ฝ่ายตุลาการ นิติบัญญัติ บริหาร
 
เราศึกษาศาลรัฐธรรมนูญผ่าน ‘คำวินิจฉัย’ แต่สิ่งที่เราละเลยไปคือ พบว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีหลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหลักสูตรสะท้อนบางอย่างอย่างมาก จากวิจัยที่มีนักวิชาการศึกษา พบว่า จำนวนของคนที่มาอบรม ประกอบด้วย ข้าราชการ พลเรือน บอร์ด องค์กรอิสระ ฝ่ายตุลาการ ผู้บริหารโรงพยาบาล และอื่นๆ  โดยน่าสนใจคือ ‘กลุ่มทุน’
 
นายเทวฤทธิ์กล่าวด้วยว่า อำนาจหน้าที่ที่จะต้องแก้ไข คือ อำนาจในการยุบพรรค ซึ่งสามารถแก้ไขในส่วน พ.ร.ป.พรรคการเมืองได้ทันที
 
ไม่ควรยุบพรรค ถ้ายังอยากจะมี ก็ควรใช้เป็นกระบวนการสุดท้ายจริงๆ ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมในการไต่สวนด้วย และลงโทษความผิดรายบุคคล ไม่ใช่ทั้งพรรค ไม่ควรมองพรรคการเมืองเป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง กลับกัน ควรส่งเสริมการเกิดขึ้นของพรรคการด้วยซ้ำ กรณีที่คุณเศรษฐา ทวีสิน โดนนั้น สำหรับผม เกินไปมาก” นายเทวฤทธิ์กล่าว
 
นอกจากนี้ ยังตอบคำถามที่มีผู้แสดงความคิดเห็นในคอมเมนต์ว่า แล้วอย่างนี้จะไปร้องนักการเมืองที่ไหน ?
โดย นายเทวฤทธิ์ระบุว่า สามารถไปร้อง ป.ป.ช.ได้  ซึ่ง ป.ป.ช.เองก็จะส่งเรื่องไปที่ศาลฎีกา ดังนั้น กลไกของสภาฯ ต้องแอกทีฟ ไม่ใช่ให้ลางานยาว โดยที่คดีของตัวเองกำลังจะหมดอายุความ (กรณีตากใบ)
 
โดยในเบื้องต้น ตนมองว่า องค์กรใดถ้าหากยึดโยงกับประชาชนน้อย ก็ย่อมต้องมีอำนาจน้อยตามไปด้วย ปัจจัยที่จะการันตีได้อย่างน้อยคือ ‘มีเสียงฝ่ายค้าน ให้การรับรองเกินกึ่งหนึ่ง’ เพื่อสร้างบทสนทนาระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาล

ซึ่งในส่วนที่ทำได้เลยคือกฎหมายลูก แก้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่สามารถแก้ได้โดยอาศัยแค่ 150 เสียงของทั้ง 2 สภาฯ
เมื่อมีผู้ฟังสอบถามว่า รัฐธรรมนูญจะแก้ได้เมื่อไหร่ ?
 
นายเทวฤทธิ์ ประเมินว่าจะเริ่มต้นทำประชามติ ครั้งที่ 1 ได้ประมาณปลายปี 2568


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่