JJNY : ‘อุดรโพล’เผยตัวแทนพรรคส้มนำ│สั่งเสริมกำลังดูแลความปลอดภัย│“ศิริกัญญา”มองปธ.บอร์ด ธปท.│หมดยุคเทศกาล‘11.11’ ศก.แย่

‘อุดรโพล’ม.ราชภัฏอุดรธานีเผย ‘คณิศร’ตัวแทนพรรคส้มคะแนนนำ ‘ศราวุธ’ เพื่อไทย
https://www.dailynews.co.th/news/4072640/
 
 
‘อุดรโพล’ ม.ราชภัฏอุดรธานี เผย ‘คณิศร’ ตัวแทนพรรคส้ม คะแนนนำ ‘ศราวุธ’ เพื่อไทย ศึกเลือกนายก อบจ.อุดรฯ 24 พ.ย. นี้ แต่ยังไม่ตัดสินใจเลือกใครสูงลิ่วกว่าร้อยละ 47 ชี้ประชาชนจะตัดสินใจเลือกจากนโยบาย หวังนายกคนใหม่หนุนการศึกษา-พัฒนาเด็กเล็ก.

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. นายเสกสรร สายสีสด หัวหน้าหลักสูตรนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เปิดเผยว่า สาขาวิชานิเทศศาสตร์ ได้จัดทำอุดรโพล สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ความคิดเห็นของชาวอุดรธานีที่มีต่อการเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี วันที่ 24 พ.ย. 2567” จากการเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนในทุกอำเภอของ จ.อุดรธานี จำนวน 1,121 คน  ระหว่างวันที่ 8-11 พ.ย. ที่ผ่านมา

ผลการสำรวจพบว่า ชาวอุดรธานีจะไปเลือกตั้งนายก อบจ. คิดเป็นร้อยละ 68.3 ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 26.9 ไม่ไปเลือกตั้ง ร้อยละ 4.8 สนใจเลือกเบอร์ 1 นายคณิศร ขุริรัง คิดเป็นร้อยละ 32.6 รองลงมาคือเบอร์ 2 นายศราวุธ เพชรพนมพร ร้อยละ 15.2 เบอร์ 3 นายดนุช ตันเทอดทิตย์ ร้อยละ 4.3 ในขณะยังไม่ตัดสินใจสูงถึงร้อยละ 47.9
 
สาเหตุที่เลือกนายก อบจ.อุดรธานี พบว่า ชาวอุดรธานีเลือก เพราะนโยบายผู้สมัครมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 55.7 รองลงมาคือ เชื่อมั่นว่าผู้ที่เลือกจะทำหน้าที่ได้ดี ร้อยละ 36.6 เลือกที่ผลงานที่ผ่านมาของผู้สมัคร ร้อยละ 27.9 ขณะที่เลือกเพราะพรรคการเมืองที่สนับสนุน ร้อยละ 26.6 ผู้สมัครเข้าถึงประชาชนได้ทั่วถึง ร้อยละ 25.2 เลือกเพราะการปราศรัยหาเสียง ร้อยละ 22.0 ป้ายหาเสียงมีความน่าสนใจ ร้อยละ 20.5 เลือกจากครอบครัวหรือเพื่อนแนะนำ ร้อยละ 17.0

ชาวอุดรธานีต้องการให้นายก อบจ.คนใหม่ ทำหน้าที่ ดังนี้ คือจัดการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาสนับสนุนการดูแลและพัฒนาเด็กเล็กใน จ.อุดรธานี มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 44.0 รองลงมาคือ ตราข้อบัญญัติที่เป็นประโยชน์ต่อชาวอุดรธานี ร้อยละ 43.5 ส่งเสริมสนับสนุนในการดูแลการจราจรใน จ.อุดรธานี และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นการการบริหารงาน อบจ. คิดเป็นร้อยละ 40.3 บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมของชาวอุดรธานี ร้อยละ 40.0 เปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย คิดเป็นร้อยละ 37.3 ปรับปรุงถนนของ อบจ. ให้มีสภาพเรียบร้อยเหมาะกับการใช้งาน ร้อยละ 36.2 จัดทำแผนพัฒนา อบจ. ให้สอดคล้องกับแผนจังหวัด ร้อยละ 35.8 และควรพัฒนาเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ของ อบจ. ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง ร้อยละ 30.7.



รักษาการผู้ว่าฯอุดร สั่งเสริมกำลังดูแลความปลอดภัย อำนวยความสะดวกจราจรช่วง ‘ทักษิณ-พิธา’ ลงพื้นที่ 
https://www.matichon.co.th/region/news_4895555
 
รักษาการผู้ว่าฯอุดร สั่งเสริมกำลังดูแลความปลอดภัย อำนวยความสะดวกจราจรช่วง ‘ทักษิณ-พิธา’ ลงพื้นที่
 
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปกครอง อส.เสริมกำลังไปช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในด้านการจราจรร่วมกับเจ้าหน้าที่ ตร.ในพื้นที่ อ.กุมภวาปี อ.บ้านดุง และ อ.เมือง กรณีนายทักษิณ ชินวัตร จะเดินทางมาช่วยผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี
 
ทั้งนี้ทางจังหวัดฯได้กำชับไปยังนายอำเภอแต่ละแห่งที่นายทักษิณ ชินวัตร และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เตรียมลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครหาเสียง ตลอดในช่วงวันที่ 13-16 พ.ย.67 ดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านจราจร ขณะเดียวกันได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ฯออกหาข่าวป้องกันเหตุอาจจะมีกลุ่มคนก่อความวุ่นวาย ตอนนี้ยังไม่มีรายงานแต่อย่างใด
 

 
“ศิริกัญญา” มองอดีตคนการเมืองนั่ง ปธ.บอร์ด ธปท. ไม่ใช่ปัญหา อยู่ที่จุดยืนการทำงาน
https://www.thairath.co.th/news/politic/2825220

“ศิริกัญญา” มองอดีตคนการเมืองนั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไม่ใช่ปัญหา ขึ้นอยู่กับจุดยืนการทำงาน ตั้งข้อสังเกตอาจรอให้หมดระยะเวลา 1 ปีหรือไม่ แนะรอดูตั้ง คกก.สรรหาผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่
 
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์หลังมีกระแสข่าวว่า คณะกรรมการสรรหามีมติให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ) โดยระบุว่าส่วนตัวไม่ได้มีปัญหาว่าใครจะเป็นคนของพรรคการเมือง ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะการเมืองไม่ใช่เรื่องสกปรก แต่อยู่ที่ว่าคนที่เข้ามามีเจตจำนงที่จะทำอะไร หากย้อนอดีตไป นอกจาก ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ที่เคยใกล้เคียงการเมืองก็ยังมีนายวีรพงษ์ รามางกูร ที่มีความสนิทกับพรรคเพื่อไทย จนมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาก่อนหน้านี้ ซึ่งจะปฏิเสธไม่ได้ว่าบุคคลเหล่านี้จะต้องมีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองทางใดทางหนึ่ง แต่ตัวนายกิตติรัตน์ อาจจะเคยมีประวัติที่เคยพูดในสมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่าอยากจะปลดนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
 
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อไปว่า ตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายอะไรมากนัก จะมีเพียงแค่การเสนอชื่อ เสนอปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติ การเสนอชื่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน หรือคณะกรรมการนโยบายชำระเงิน เป็นต้น ตอนนี้จึงยังไม่เห็นปัญหาอะไรจนกว่าจะมีการเสนอชื่อผู้ว่าการแบงก์ชาติคนใหม่
 
ทั้งนี้ อยากตั้งข้อสังเกตถึงคณะกรรมการสรรหาทั้ง 7 คน ว่าไม่มีตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมด้วย แต่เป็นข้าราชการประจำหมดเลย จึงมีแนวทางที่กำหนดไว้ ไม่แปลกใจที่นายกิตติรัตน์ จะเข้าวินในตำแหน่งนี้ ขณะเดียวกัน ยังมีข้อสังเกตที่ประธานบอร์ดคนเก่าหมดวาระไปตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 แต่ทำไมยังไม่มีการสรรหา ตนมองว่าอาจจะเป็นการรอให้หมดระยะเวลา 1 ปี หรือระยะตามเวลาที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากนายกิตติรัตน์ เคยดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ ย่อมมีการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ว่าเป็นข้าราชการการเมืองอีกหรือไม่ เพื่อที่จะเคลียร์ทุกเปราะทุกประเด็นที่จะทำให้นายกิตติรัตน์ มีคุณสมบัติไม่ผ่าน แต่หากมองตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ยังคงขัดอยู่
 
ส่วนการทำงานในกรรมการชุดนี้จะเป็นอย่างไรนั้น น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่า ขึ้นอยู่กับนายกิตติรัตน์ ว่าจะกำกับดูแลแบงก์ชาติไปในทิศทางไหน ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยก็มีแนวนโยบายที่จะใช้เงินสำรองระหว่างประเทศ เพื่อตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่งของชาติ ก็ต้องดูว่าในฐานะประธานบอร์ดแบงก์ชาติ จะเข้าไปมีบทบาทในการออกหลักเกณฑ์อย่างไร หากมีการดำเนินนโยบายดังกล่าว นอกจากนี้ จะมีการเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือไม่ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลก็มีความเชื่อในความอิสระของธนาคารกลาง การเข้ามาครั้งนี้ นายกิตติรัตน์ จะมีท่าทีในการแก้ไขอย่างไร จะทำให้รัฐบาลสามารถเข้ามาแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติได้เลยหรือไม่.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่