JJNY : หาเสียงเมืองจันท์ “วิโรจน์”แฉมีคนล็อบบี้│10 วัน เสียชีวิตรวม 436│เงินเฟ้อ 67 สูงขึ้น 0.40%│ทีมจับกุมเตรียมยื่นศาล

แกนนำ ปชน. หาเสียงเมืองจันท์ “วิโรจน์” แฉ มีคนล็อบบี้ บอกแถวนี้มีเจ้าของ
https://ch3plus.com/news/political/morning/430110
 
 
แกนนำพรรคประชาชน เดินสายหาเสียงเมืองจันทบุรี “ศิริกัญญา” ควง “วิโรจน์-เจี๊ยบ” ลุยเอง ปล่อยขบวนเป็นคาราวาน ด้าน “วิโรจน์” โพสต์แฉแต่เช้า มีคนล็อบบี้ บอกแถวนี้มีเจ้าของ ไม่ต้องหาเสียง
 
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคประชาชน ว่า ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาพรรคประชาชนลงพื้นที่หาเสียง อบจ.กันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออก อย่าง จ.จันทบุรี ที่นำโดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค , นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร รองหัวหน้าพรรค และนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคประชาชน ขะมักเขม้นลงพื้นที่ช่วยนายมานะ ชนะสิทธิ์ ผู้สมัครนายก อบจ.จันทบุรี โดยแบ่งเป็น 3 สาย
 
สายที่ 1 น.ส.ศิริกัญญา ลงพื้นที่ อ.สอยดาว , สายที่ 2 นางอมรัตน์ ไปตลาดพลอย อ.เมือง และสายที่ 3 นายวิโรจน์ นำขบวนคาราวานไป อ.ท่าใหม่
สำหรับนโยบายที่นายมานะ พร้อมเร่งทำทันที คือการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกรจันทบุรี นโยบายนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำดิบสำหรับสวนผลไม้ น้ำประปาที่มีคุณภาพ รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวโฮมสเตย์ ส่วน นโยบาย อื่นๆ อาทิ การจัดหาโดรนและติดตั้งกล้อง AI สำหรับเฝ้าระวังช้างป่า การสนับสนุนงบประมาณฟื้นฟูอาชีพประมง รองรับ พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ การพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และการใช้ระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล เป็นต้น
 
โดยภาคตะวันออก ถือเป็นพื้นที่หัวใจสำคัญของพรรคประชาชน จึงเปิดศักราชใหม่ 2568 ด้วยการจัดคาราวานใหญ่ 3 สาย ”มานะ...มาแน่“ ระดมทีมงานและผู้นำพรรคลงพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัด
 
ด้าน นายวิโรจน์ ล่าสุดเช้านี้ (6 ม.ค.68) โพสต์เดือดถึงการลงพื้นที่ว่า 
 
“มีคนบอกว่า ตรงนี้ไม่ต้องมาหาเสียง เพราะคนแถวนี้มีเจ้าของแล้ว ผมยิ่งต้องมา เพราะเชื่อว่า ไม่มีคนจันท์คนไหน จะยอมให้ใครเป็นเจ้าของ”
 
https://www.facebook.com/wirojlak/posts/pfbid0MsD9WwhiWNFnpYpUCDquZonDr19jCmK7N34Tqh9CbtKqc8RwjGc123Zuor6iwaThl
 


10 วันปีใหม่ เสียชีวิตรวม 436 บาดเจ็บ 2,376 ราย
https://www.innnews.co.th/news/politics/news_824954/

10วันปีใหม่ เสียชีวิตรวม 436 บาดเจ็บ 2,376ราย กทม.แชมป์ 26 ศพ สาเหตุหลักขับรถเร็ว เกินกว่ากฎหมายกำหนด
 
นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 6 ม.ค. 2568 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายช่วง 10 วันอันตรายต่อเนื่องเป็นวันที่ 9
 
โดยสถิติสะสม รวม 10 วัน ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 2567 – 5 ม.ค. 2568 เกิดอุบัติเหตุ 2,467 ครั้ง บาดเจ็บ 2,376 ราย เสียชีวิตสะสม 436 ราย จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือกรุงเทพมหานคร จำนวน 26 ราย
 
ซึ่งข้อมูลอุบัติเหตุในวันที่ 5 ม.ค. 2568 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั้งหมด 139 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 128 คน เสียชีวิต 29 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 8 ครั้ง รองลงมา ได้แก่ ฉะเชิงเทรา นครศรีธรรมราช พัทลุง ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี 2 ราย
สำหรับจังหวัดที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บสูงสุด คือ ปัตตานี พังงา และพัทลุง 6 คน รองลงมาได้แก่น่าน ปราจีนบุรี สุพรรณบุรี และแพร่ 5 คน และชุมพร นครศรีธรรมราช ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต ยะลา ราชบุรี ลำปาง สุโขทัย และแม่ฮ่องสอน 4 คน
 
ส่วนสาเหตุของอุบัติเหตุ ที่เกิดขึ้นมากที่สุดมีมูลเหตุสันนิษฐานจากการขับรถเร็ว เกินกว่ากฎหมายกำหนด ร้อยละ 34.53 ตัดหน้ากระชั้นชิด 24.46 ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ รถ จักรยานยนต์ ร้อยละ 82.67


 
เงินเฟ้อไทย ปี 2567 สูงขึ้น 0.40% ราคาน้ำมัน-อาหารกระทบ
https://www.prachachat.net/economy/news-1728582

สนค. เผยเงินเฟ้อไทย เดือนธันวาคม 2567 สูงขึ้น 1.23% ปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร ขณะที่เฉลี่ยทั้งปี 0.40% ส่วนปี 2568 คาดการณ์อยู่ที่ 0.3-1.3% ค่ากลาง 0.8%
 
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) ของไทยเดือนธันวาคม 2567 เท่ากับ 108.28 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 1.23% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นผลจากฐานราคาต่ำในปีก่อน รวมถึงราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
 
แต่ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้น 0.95% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 19 จาก 129 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ได้แก่ บูรไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว
สำหรับการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ พบว่าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.28% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญกลุ่มผลไม้สด (เงาะ มะม่วง กล้วยน้ำว้า ทุเรียน แตงโม สับปะรด กล้วยหอม) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม กาแฟ (ร้อน/เย็น)) กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ซอสหอยนางรม น้ำพริกแกง)
 
กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ขนมอบ) กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า) และกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ (ปลานิล กุ้งขาว ปลาทูนึ่ง ปลาทับทิม) อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ผักสด (พริกสด มะเขือเทศ มะนาว ผักคะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักชี) ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่ย่าง นมเปรี้ยว น้ำมันพืช และอาหารโทร.สั่ง (Delivery) เป็นต้น
 
หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 1.21% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน นอกจากนี้ ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ค่าโดยสารเครื่องบิน ค่ารถรับส่งนักเรียน และค่าบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมบุรุษและสตรี) ปรับสูงขึ้นเช่นกัน
 
ขณะที่ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู สบู่ถูตัว) สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาซักแห้ง น้ำยาล้างห้องน้ำ) และเสื้อผ้า (เสื้อยืดบุรุษและสตรี เสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี กางเกงขายาวบุรุษและสตรี) เป็นต้น
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้น 0.79% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่สูงขึ้น 0.80% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
 
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนธันวาคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2567 ลดลงร้อยละ 0.18 (MOM) ตามการลดลงของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.51 (MOM) ปรับลดลงตามราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มผักสด (ต้นหอม พริกสด ผักกาดขาว ผักชี กะหล่ำปลี ผักคะน้า มะเขือเทศ) เนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย รวมทั้งผลไม้สด (ส้มเขียวหวาน แตงโม องุ่น กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม) และไข่ไก่
 
อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาปรับสูงขึ้น อาทิ ข้าวสารเจ้า น้ำมันพืช ปลาทู ปลานิล และซอสหอยนางรม ขณะที่หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.07 (MOM) ตามการสูงขึ้นของราคาแก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน ค่าเช่าบ้าน และของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู แป้งผัดหน้า ครีมนวดผม) สำหรับสินค้าที่ราคาปรับลดลง อาทิ น้ำมันดีเซล ค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (น้ำยาซักแห้ง น้ำยาล้างจาน) เสื้อเชิ้ตและเสื้อยืดบุรุษ เป็นต้น
 
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ยทั้งปี 2567 เทียบกับปี 2566 สูงขึ้น 0.40% (AOA) โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ผลไม้สด และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม มีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลงจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันดีเซล สำหรับไตรมาสที่ 4 ปี 2567 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 1.00 (YOY) ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 0.26 (QOQ)
 
แนวโน้มเงินเฟ้อ
 
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2568 กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์ว่าจะอยู่ระหว่างร้อยละ 0.3-1.3 (ค่ากลางร้อยละ 0.8) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยมีปัจจัยที่สนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้น
 
ประกอบด้วย (1) เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567 ทั้งการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น และ (2) ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2567
 
ขณะที่ปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ประกอบด้วย (1) ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้าและการตรึงราคาก๊าซ LPG (2) ฐานราคาผักและผลไม้สด ปี 2567 อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์เอลนีโญและลานีญา ขณะที่ในปี 2568 คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าว จะไม่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อราคาไม่มากนัก

และ (3) การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ จะส่งผลให้ค่าเช่าบ้านและราคารถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด
ทั้งนี้ หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ กระทรวงพาณิชย์จะมีการทบทวนตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอีกครั้ง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่