การปฏิบัติเพื่อทรงอารมณ์พระโสดาบันและพระสกิทาคามี

บทความนี้เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนาของพ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร) หรือหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ซึ่งได้เมตตาให้แนวทางแก่ศิษยานุศิษย์ในการปฏิบัติตนเพื่อทรงอารมณ์พระโสดาบัน รวมถึงปกิณกธรรมจากครูบาอาจารย์รูปอื่นซึ่งเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ซึ่งท่านได้ให้แนวทางไว้โดยเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับคำสอนของหลวงพ่อ หลวงพ่อมักกล่าวอยู่เสมอว่าอย่าคิดว่าตนเองเป็นพระอริยเจ้า เพราะการคิดเช่นนั้นถือเป็นการกระทำตนให้ตั้งอยู่ในความประมาท ละเลยต่อการปฏิบัติพระกรรมฐานและการสร้างความดี หากกิเลสซึ่งตนเองคิดว่าละได้แล้วนั้นกลับเข้ามาปรากฏขึ้นในใจของผู้ปฏิบัติจะทำให้ยุ่งไปกันใหญ่ แม้หลวงพ่อเองก็ไม่เคยกล่าวว่าท่านเป็นพระอริยบุคคลชั้นใด ท่านกล่าวแต่เพียงว่าท่านทรงอารมณ์ให้เข้าถึงความเป็นพระอริยบุคคลในขั้นนั้น ๆ เท่านั้น เนื่องจากบุคคลซึ่งสามารถรับรองผู้หนึ่งผู้ใดว่ามีคุณธรรมในขั้นใดนั้นเห็นจะมีเพียงพระบรมศาสดา การเป็นพระอริยบุคคลนั้นไม่มีประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรรับรอง คงมีแต่เพียงความสุขสงบที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของผู้ปฏิบัติซึ่งเป็นการรู้เฉพาะตน พระอริยเจ้าทั้งหลายไม่โอ้อวดตนว่าท่านเป็นอะไรเพราะท่านต้องพิจารณาก่อนการพูดทุกครั้งว่าผู้ฟังจะคิดไปในทางอกุศลหรือไม่ หรือท่านอาจมีความจำเป็นบางประการที่ต้องประกาศตนเพื่อปกป้องพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ปฏิบัติอย่าได้สงสัยในผลของการปฏิบัติว่าจะมีผลเป็นประการใด เพราะการลงมือทำเท่านั้นที่จะนำพาให้เราพ้นทุกข์ จากนี้จะเป็นการกล่าวโดยสรุปถึงแนวทางการทรงอารมณ์ในแต่ละขั้นจนกระทั่งถึงความเป็นโสดาปัตติผล เพื่อให้พระโยคาวจรทั้งหลายได้นำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อบังเกิดประโยชน์ต่อตนเอง คือ การก้าวเข้าสู่กระแสพระนิพพานเพื่อถึงที่สุดแห่งทุกข์ต่อไป 
          การเริ่มต้นปฏิบัติพระกรรมฐานนี้ขอให้ตั้งต้นด้วยการสมาทานพระกรรมฐานและทำสติให้ตั้งมั่นในกรรมฐานกองใดกองหนึ่งใน 40 กอง ที่ตนเองชอบหรือถนัด แต่หากเป็นผู้เริ่มปฏิบัติหรือแม้กระทั่งผู้ได้สมาธิในระดับสูงก็ตาม ไม่ปรากฏว่ามีท่านผู้ใดละเลยอานาปานุสสติกรรมฐาน การทำกรรมฐานกองนี้ คือ การกำหนดลมหายใจเข้า-ออก พร้อมคำบริกรรม เช่น หายใจเข้า ให้ว่า “พุท” หายใจออกให้ว่า “โธ” หรืออาจกำหนดคำบริกรรมอื่นก็ได้ตามแต่ความถนัดหรือที่ตนเองได้เคยฝึกมา การเริ่มต้นฝึกในระยะแรกนี้ต้องใช้กำลังใจพอสมควรเพราะมักจะมีนิวรณ์ 5 ประการ มาขวางกั้นมิให้จิตเกิดความสงบ ได้แก่ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา พระอริยบุคคลชั้นต้นเพียงสามารถระงับนิวรณ์ได้บางขณะหรือทำให้เบาบางลงเท่านั้น แต่ยังละให้ขาดจากสันดานไม่ได้ พระอนาคามีสามารถละนิวรณ์ 2 ข้อแรกได้ แต่นิวรณ์ 3 ข้อหลังจะสามารถละได้ต่อเมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์เท่านั้น นอกจากนี้อาจมีอาการต่าง ๆ ปรากฏขณะทำสมาธิ เช่น อาการน้ำลายไหล ง่วงนอน แน่นบริเวณโพรงจมูก วิงเวียนศีรษะ หรือการกระทบอารมณ์จากสิ่งรอบตัว สิ่งเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติล้มเลิกในการที่จะสร้างความดี ดังนั้นผู้ปฏิบัติจึงต้องพยายามฝืนความเป็นไปต่าง ๆ ของร่างกายให้ได้ เช่น อาการง่วงนอนอย่างมากในขณะปฏิบัติพระกรรมฐานวันแรกก็จะมีอาการลดลงในวันต่อไป อย่างไรก็ตาม อาการที่เราเองคิดว่าแก้ได้แล้วในบางครั้งอาจจะกลับเป็นขึ้นมาใหม่ได้ แสดงว่าเรายังชนะสิ่งนั้นไม่ได้โดยเด็ดขาดจำเป็นที่จะต้องแก้ไขต่อไป หากจิตมีอาการฟุ้งซ่านมากอาจเริ่นต้นด้วยการพิจารณาอวัยวะน้อยใหญ่ภายในร่างกายเสียก่อน หรือการสูดหายใจเข้า-ออกลึก ๆ 2 – 3 ครั้ง เพื่อเป็นการไล่ลมหยาบก็จะช่วยได้ 
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจำเป็นที่ผู้ปฏิบัติจะต้องมีกำลังสมาธิที่ตั้งมั่นเสียก่อน ไม่ว่าจะปฏิบัติไปเพื่อการเป็นพระอรหันต์ประเภทใดล้วนต้องอาศัยสมาธิทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าใช้กำลังสมาธิไม่เท่ากัน ผู้ปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานในทางสุกขวิปัสสโกซึ่งเป็นขั้นที่ใช้กำลังสมาธิต่ำที่สุดนี้ ต้องเป็นผู้เข้าถึงปฐมฌานเสียก่อนจึงจะเริ่มพิจารณาตามอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานเพื่อถอดถอนกิเลส กำลังสมาธิของจิตจะพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับขั้น เมื่อเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าชั้นสูงตั้งแต่พระอนาคามีขึ้นไปจิตจะดำเนินไปได้ถึงฌาน 4 โดยผู้ปฏิบัติเองอาจจะไม่ได้สังเกตว่าจิตของตนมีการพัฒนาผ่านฌานขั้นต่าง ๆ ไปแล้ว อาการของปฐมฌานสามารถสังเกตได้จากการที่จิตทรงอยู่ในอารมณ์ 5 ประการ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา การเดินในสายสุกขวิปัสสโกนี้ผู้ปฏิบัติต้องใช้กำลังความคิดอย่างมากเพื่อพิจารณาถอดถอนกิเลส กล่าวคือ จิตสงบนิ่ง รู้ลมหายใจเข้า-ออก รู้ลมหยาบ-ละเอียด ไม่มีความคิดฟุ้งซ่าน ก็สามารถทำการพิจารณาร่างกายและสิ่งต่าง ๆ ในโลกได้เพื่อให้เห็นความสกปรก ความไม่สวยงาม ความเป็นพระไตรลักษณ์ จนจิตเกิดนิพพิทา คือ ความเบื่อหน่ายในกองทุกข์และการเวียนว่ายตายเกิด จิตจึงจะคลายออกจากความยึดมั่นถือมั่น และก้าวเข้าสู่ความเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขั้น 
สำหรับผู้ที่ประสงค์จะปฏิบัติเพื่อความเป็นเตวิชโช ฉฬภิญโญ และปฏิสัมภิทัปปัตโต จะต้องเป็นผู้ที่เคยทรงอารมณ์ถึงฌาน 4 มาก่อน ต้องเคยปรากฏอาการจิตสงบรวมเป็นหนึ่ง ร่างกายตัวตนหายไปหมดเหลือแต่จิตดวงเดียว เคล็ดลับในการทรงฌาน คือ การมีพรหมวิหาร 4 ประจำอยู่ในหัวใจ เมื่อเรามีพรหมวิหาร 4 เป็นปกติแล้วก็จะปราศจากการคิดร้ายต่อบุคคลอื่น จิตจะทรงอยู่ในสมาธิเป็นปกติ หากจิตก้าวพ้นเข้าไปในเขตของโสดาปัตติผลแล้วโดยยังไม่ได้ฌาน 4 ก็เป็นอันว่าไม่ต้องปรารถนาในเรื่องการมีอิทธิฤทธิ์ เนื่องจากจิตใจจะน้อมไปในทางการใช้ปัญญาพิจารณาเพื่อถอดถอนกิเลส แม้พระอรหันต์ในสายสุกขวิปัสสโกซึ่งสามารถฝึกกระทำฤทธิ์ได้โดยไม่ถือเป็นของยาก แต่ท่านเหล่านั้นก็มิได้ใส่ใจในการฝึกตนให้มีอภินิหารเหนือมนุษย์ธรรมดาทั่วไป เนื่องจากการเป็นพระอริยเจ้านั้นมีความประเสริฐกว่าความสามารถในการแสดงอภินิหารโดยมิสามารถเทียบกันได้ อุปมาเหมือนบุคคลได้กระทำฐานะของตนให้เป็นมหาเศรษฐีได้แล้ว คงจะไม่มีใครคิดกลับมารับจ้างขุดดินแบกหามเพื่อให้ตนสามารถสร้างฐานะขึ้นมาเป็นเศรษฐีอีกครั้ง สำหรับผู้ปฏิบัติที่ปรารถนาในด้านคุณสมบัติพิเศษเมื่อปฏิบัติสมถกรรมฐานจนจิตรวมเป็นสมาธิได้แล้ว ครูบาอาจารย์บางท่านกล่าวว่าอารมณ์พิจารณาในทางวิปัสสนากรรมฐานจะเกิดมีขึ้นโดยไม่ต้องบังคับ ในบางครั้งจิตจะจับเอาร่างกายขึ้นมาพิจารณาซ้ำ ๆ หรือการพิจารณาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย อาจเกิดขณะหลับตาตรือลืมตาก็ได้ หรือมองเห็นบุคคลและสัตว์เป็นซากศพและโครงกระดูก หากปรากฏอาการเช่นนี้ผู้ปฏิบัติไม่ต้องหวาดกลัว แต่ให้น้อมพิจารณาจนเห็นความไม่เที่ยงของสังขารร่างกายจนเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด หวาดกลัวต่อภัย คือ ภพ ชาติ และการเวียนว่ายตายเกิด การปฏิบัติไม่ควรเร่งทำความเพียรเป็นพัก ๆ แต่ให้ทำสม่ำเสมอจนเป็นนิสัยหรือเป็นกิจวัตรประจำวันจึงจะบังเกิดผล สำหรับผู้ที่ได้ทิพยจักขุญาณหรือญาณอื่น ๆ ในวิชชาสาม จะมีความได้เปรียบกว่าบุคคลที่ปฏิบัติในทางสุกขวิปัสสโก เนื่องจากท่านเหล่านี้สามารถเห็นนรก สวรรค์ พรหมโลก รู้การเกิดการตายของสัตว์ได้ชัดเจน ทำให้การทรงอารมณ์นิพพิทาสามารถทำได้อย่างแจ่มแจ้ง เกิดความสลดสังเวชในแต่ละชาติ เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องตายวนเวียนอยู่อย่างนี้ทุกภพทุกชาติหากไม่คิดหาทางออกจากกองทุกข์
          เมื่อจิตสามารถทรงฌานได้แล้วต่อไปจะเป็นการปฏิบัติเพื่อทรงอารมณ์พระโสดาบัน เครื่องหมายของการทรงอารมณ์พระโสดาบัน คือ การละสังโยชน์ 3 ประการได้โดยเด็ดขาด สังโยชน์ 3 ประการนี้มีขั้นในการละเป็นลำดับ คือ สักกายทิฏฐิ – พระโสดาบันเพียงมีความเห็นว่าขันธ์ 5 คือ ร่างกายไม่ใช่ของเรา สักวันหนึ่งเราต้องตาย ความตายอาจมาถึงเราในวันนี้ เวลานี้ ชั่วโมงนี้ หรือวินาทีนี้ก็ได้ ความรู้สึกอย่างนี้จะมีอยู่เป็นปกติในทุกวัน พระโสดาบันจึงเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต แต่ยังไม่สามารถละความยึดถือในร่างกายได้โดยเด็ดขาด ยังมีความปรารถนาในเพศตรงข้าม มีความเห็นว่าร่างกายนี้สวยงามอยู่ แต่ข้อสำคัญ คือ ไม่ลืมความตาย
สังโยชน์ข้อต่อมา คือ วิจิกิจฉา – พระโสดาบันละความลังเลสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ได้โดยเด็ดขาด พระโสดาบันไม่มีความสงสัยในเรื่องการมีอยู่ของนรก สวรรค์ พรหมโลก หรือนิพพาน ไม่สงสัยในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีความเชื่ออย่างเต็มหัวใจว่าธรรมะของพระพุทธองค์เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ไม่เชื่อหรือกราบไหว้ลัทธิหรือเทพเจ้าอื่นนอกจากพระพุทธศาสนา เมื่อสามารถละสังโยชน์ 2 ประการนี้ได้โดยเด็ดขาดแล้ว จึงได้ชื่อว่าเป็นพระโสดาปัตติมรรค คือ เข้าสู่เส้นทางของการเป็นพระโสดาบัน 
สังโยชน์เบื้องต่ำข้อสุดท้าย คือ สีลัพพตปรามาส – พระโสดาบันงดเว้นการลูบคลำศีล คือ มีศีล 5 บริสุทธิ์เป็นปรกติ คำว่าศีล 5 ในที่นี้รวมถึงกุลศลกรรมบท 10 ด้วย ซึ่งผู้ปฏิบัติต้องสำรวจตนเองว่ามีความบริสุทธิ์หรือบกพร่องในข้อใด แล้วจึงทำการแก้ไขข้อบกพร่องนั้น ๆ การจะมีศีลบริสุทธิ์ได้ผู้ปฏิบัติต้องทรงอารมณ์ให้เข้าถึงปฐมฌานเสียก่อน เนื่องจากผู้ปฏิบัติได้ถึงในขั้นนี้จะมีสติระลึกรู้และสำรวมในการกระทำของตนเองว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นเป็นการละเมิดศีลหรือไม่ เช่น ขณะที่เรากำลังพูดคุยอยู่กับบุคคลอื่น หากมีการกล่าวถึงบุคคลที่สามในลักษณะนินทาเสียดสีหรือให้ร้ายต่อกัน เช่นนี้สติจะเข้าไปจับอย่างรวดเร็วพร้อมกับพิจารณาว่าสิ่งที่เราจะพูดคุยกับเขาเหล่านั้นมีลักษณะเป็นโทษกับบุคคลอื่นหรือไม่ หากการกล่าวออกไปจะเป็นผลร้ายก็พึงงดเว้นเสีย พระโสดาบันเป็นผู้มีสังคหวัตถุ 4 ประจำในหัวใจ คือ 1) ทาน - การให้ การช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งเราสามารถช่วยได้และเขาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากเรา, 2) ปิยวาจา - การพูดจาไพเราะ ไม่พูดคำหยาบที่หักหาญน้ำใจคน, 3) อัตถจริยา - การรู้จักเกื้อกูลกัน ทำตนให้เป็นประโยชน์กับสังคม และ 4) สมานัตตตา – ความเสมอต้นเสมอปลาย รู้จักการวางตัวต่อบุคคลอื่น ไม่เย่อหยิ่งหรือทำตนเหมือนวัวลืมตีน เช่นนี้จึงเป็นผู้ที่สามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นได้อย่างปรกติสุข หากกระทำครบทั้งหมดแล้วจิตยังไม่ก้าวเข้าสู่ความเป็นโสดาปัตติผล ให้ทำการสำรวจบารมี 10 ทัศ ว่ามีความบกพร่องในประการใดหรือไม่ แล้วจึงแก้ไขให้เกิดความบริบูรณ์ขึ้นในจิตในใจของตน ในขั้นนี้ผู้ปฏิบัติจะเริ่มรู้ชัดได้ด้วยตนเองว่ามีความบกพร่องประการใดบ้าง เช่น ก่อนหน้านี้ผู้ปฏิบัติอาจคิดว่าตนเองเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ แต่เมื่อกระทำสังโยชน์ 2 ข้อต้นให้บริบูรณ์แล้วจึงพบว่าตนเองแม้ไม่ได้พูดโกหก แต่เป็นคนชอบพูดส่อเสียดให้คนอื่นเจ็บช้ำน้ำใจ หรือชอบพูดเพ้อเจ้อไร้สาระไม่สำรวมระวังในวจีกรรม ความบกพร่องเหล่านี้จะค่อย ๆ ผุดขึ้นมาในใจของผู้ปฏิบัติให้ต้องดำเนินการแก้ไข เหมือนกับการแก้โจทย์ปัญหาในชั้นเรียน หากสามารถทำบททดสอบข้อนี้ได้ก็จะมีข้อใหม่มาให้ทดสอบเรื่อย ๆ หรืออาจเป็นโจทย์ข้อเดิมซึ่งกลับมาทดสอบกำลังใจของผู้ปฏิบัติว่าจะสามารถผ่านไปได้จริงแท้หรือไม่  (ต่อ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่