JJNY : ป้ายจีนโผล่ระยองอีก│"สว.อังคณา"ชี้ไม่มีควรมียุบพรรค│เอลนีโญพ่นพิษ จีดีพีเกษตรหดตัว│ออสเตรเลียยกระดับภัยก่อการร้าย

ป้ายจีนโผล่ระยองอีก อ้าง HR อันดับ 1 ของปท. ดูแลแรงงานต่างด้าว 4 ประเทศ
https://www.matichon.co.th/region/news_4718345

ป้ายจีนโผล่ระยองอีก อ้างกลุ่มทรัพยากรบุคคล(HR) อันดับ 1 ของปท. ดูแลแรงงานต่างด้าว 4 ประเทศ
 
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีชาวบ้านขับรถผ่านถนนสาย 13 หมู่ 2 ต.มะขามคู่ อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง พบป้ายภาษาจีน รวม 2 ป้าย พร้อมข้อความภาษาไทยระบุว่า “บริการด้าน HR ดูแลพนักงานมากกว่า 2,000 คน ประสบการณ์มากกว่า 10 ปี” ติดตั้งอยู่ริมถนนมาประมาณ 1 สัปดาห์
 
จากการสอบถามนายขวัญเมือง เย็นบุญธรรม รักษาการปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)พนานิคม อ.นิคมพัฒนา กล่าวว่า ป้ายภาษาจีนดังกล่าวติดตั้งริมถนนสาย 13 หมู่ 2 ต.มะขามคู่ คนละฝั่งถนน เยื้องนิคมอุตสาหกรรม WHA ระยอง 36 เนื้อที่ประมาณ 1,400 ไร่ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของอบต.พนานิคม ในนิคมอุตสาหกรรมฯ เป็นที่ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ BYD สัญชาติจีน ประมาณ 700 ไร่ เริ่มการผลิตปีนี้มีอัตราแรงงาน 10,000 คน สร้างคอนโดในโรงงานจำนวน 5 อาคาร ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จไปแล้ว 1 อาคารกำลังก่อสร้างอาคารที่ 2 สำหรับที่พักของพนักงาน
 
 ป้ายจีน : บริการ HR ค้นหาและรับสมัครพนักงาน ดูแลพนักงานมากกว่า 2,000 คน ประสบการณ์มากกว่า 10 ปี
 ป้ายจีน : แนะนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานในประเทศ หมายเลขใบอนุญาต นวอ 0005 กลุ่มทรัพยากรบุคคล อันดับ 1 ของประเทศ แนะนำบริการแรงงานต่างด้าว ถึง 4 ประเทศ (เมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม)
 
สำหรับป้ายจีนดังกล่าว อ้างว่าเป็นกลุ่มทรัพยากรบุคคล(HR) อันดับ 1 ของประเทศที่ดูแลแรงงานต่างด้าว 4 ประเทศ คือ เมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม และขณะนี้อยู่ระหว่างรับพนักงาน HR
 
อนึ่ง เมื่อวานเพิ่งปรากฏป้ายจีนพร้อมรูปโรงงาน บริเวณริมถนน ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง โดยนายกอบต.หนองบัว ยืนยันว่าไม่มีการขออนุญาตก่อสร้างโรงงาน จะให้ผอ.กองช่างลงพื้นที่ไปตรวจสอบ ถ้าพบทำผิดกฎหมาย จะแจ้งความดำเนินคดี อย่างไรก็ตามต่อมาเมื่อไปสำรวจอีกครั้งพบว่ามีการรื้อถอนป้ายดังกล่าวออกแล้ว



"สว.อังคณา" ชี้ระบอบประชาธิปไตย ไม่มีควรมียุบพรรค
https://www.innnews.co.th/news/politics/news_756431/

“สว.อังคณา” ชี้ระบอบประชาธิปไตย ไม่มีควรมียุบพรรค เป็นปัญหาใหญ่ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
 
นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงการวินิจฉัยยุบหรือไม่ยุบพรรคก้าวไกลที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินในวันที่ 7 สิงหาคมว่า ส่วนตัวมองว่า ในระบอบประชาธิปไตยการยุบพรรคการเมืองนั้น ไม่ควรเกิดขึ้น และครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเหตุการณ์กรณียุบพรรคการเมือง
 
ทั้งนี้ ทุกฝ่ายต้องยอมรับ และเข้าใจว่า พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งและมีคะแนนมาเป็นอันดับ 1 มีประชาชนร่วมบริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนมีความคาดหวังสูงกับพรรคการเมืองที่มาเป็นอันดับ 1 ซึ่งการยุบพรรคครั้งนี้ที่ทำได้ง่ายดาย เรียกได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และทั่วโลกต่างจับตา เพราะการยุบพรรคถือเป็นเรื่องใหญ่
 
สำหรับในส่วนของ สว. ก็มีการพูดคุยกันกันบ้างว่า กรณีการวินิจฉัยในวันที่ 7 สิงหาคม นี้จะมีท่าทีออกมาอย่างไร พร้อมมองว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันถือเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องมีการแก้ไขหากมีการเสนอต่อสภา เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่า สว.พร้อมที่จะสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
 
นางอังคณา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการประชุมวันนี้ จะมีการเสนอญัตติ เพื่อแก้ไขข้อบังคับการประชุม รวมถึงการตั้งกรรมาธิการให้มีความหลากหลาย และเชื่อว่าการประชุมวันนี้จะเป็นไปอย่างราบรื่น



เอลนีโญพ่นพิษ จีดีพีเกษตรหดตัว1.5%
https://www.thairath.co.th/news/local/2805461

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ปี 2567 (เม.ย.-มิ.ย.2567) หดตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566“สาขาพืชหดตัวร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 จากผลกระทบของเอลนีโญที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากปี 2566 มาจนถึง เม.ย.2567 ทำให้มีปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญและแหล่งน้ำตามธรรมชาติลดลง บางพื้นที่ประสบปัญหาสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้พืชเจริญเติบโตช้า ให้ผลผลิตน้อยและไม่สมบูรณ์” นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
 
สำหรับสินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรดปัตตาเวีย ยางพารา ลำไย และทุเรียน
สินค้าพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน มังคุด และเงาะ
 
สาขาปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 0.6 เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าปศุสัตว์ที่มีอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร ผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากฟาร์มสุกรมีมาตรฐานการผลิตที่มีความปลอดภัยมากขึ้น สามารถควบคุมการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ได้ แต่ราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงไม่จูงใจให้เกษตรกรรายย่อยขยายการผลิตมากนัก ไก่เนื้อ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อรองรับความ ต้องการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามภาค การท่องเที่ยวที่ขยายตัว
สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ไข่ไก่ มีการปรับสมดุลผลผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ โดยปรับลดจำนวนแม่ไก่ยืนกรง และ น้ำนมดิบ ผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรบางรายเลิกกิจการหรือมีการปรับลดจำนวนโคที่เลี้ยง รวมถึงการเปลี่ยนไปเลี้ยงโคเนื้อแทน
 
สาขาประมงหดตัวร้อยละ 4.6 กุ้งขาวแวนนาไม ผลผลิตลดลง เนื่องจากราคากุ้งตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้เกษตรกรลดพื้นที่การเพาะเลี้ยงและชะลอการปล่อยลูกกุ้ง สัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือ ผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายลดรอบการออกเรือจับสัตว์น้ำ ปลานิลและปลาดุก ผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนค่าอาหารปลาที่อยู่ในระดับสูง เกษตรกรชะลอการเลี้ยง
 
สาขาบริการทางการเกษตรหดตัวร้อยละ 1.0 เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้ง แล้ง หลายพื้นที่มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืช ประกอบ กับภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนาปรัง เกษตรกรบางส่วนจึงปล่อยพื้นที่เพาะปลูกให้ว่าง ส่งผลให้กิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่สำคัญลดลง
 
สาขาป่าไม้ขยายตัวร้อยละ 2.7 ไม้ยางพารา เพิ่มขึ้นตามพื้นที่การตัดโค่นสวนยางพาราเก่า ตลาดจีนมีความต้องการเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ ไม้ยูคาลิปตัส เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อส่งออกไปญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ถ่านไม้ เพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารตามการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รังนก เพิ่มขึ้นเนื่องจากรังนกของไทยมีคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมแปรรูปรังนกทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ครั่ง ลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงที่ผ่านมาไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของครั่ง รวมถึงมีการส่งออกไปยังประเทศอินเดียลดลง
 
ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.2-1.2 เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือภาวะเอลนีโญที่สิ้นสุดลง ทำให้มีปริมาณฝนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่