JJNY : เกษตรเลี้ยงหมูใต้อ่วม│ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพ.ย. 67 หดตัว│ฟินแลนด์ลุยสอบเรือรัสเซีย│นายกฯ ญี่ปุ่นจะเยือนมาเล-อินโด

เกษตรเลี้ยงหมูใต้อ่วม น้ำท่วม ราคาตก กำลังซื้อหด เลิกเลี้ยงแล้ว 50% วอนรบ.กระตุ้นศก.พยุงปากท้องชาวบ้าน https://www.matichon.co.th/region/news_4974205
 
เกษตรเลี้ยงหมูใต้อ่วม น้ำท่วม ราคาตก กำลังซื้อหด เลิกเลี้ยงแล้ว 50% วอนรบ.กระตุ้นศก.พยุงปากท้องชาวบ้าน
 
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าการเลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์การเลี้ยงสุกรของกลุ่มเกษตรกรรายย่อยทั่วภาคใต้ ไม่สามารถออกสู่ตลาดได้ รวมทั้งไม่สามารถจำหน่ายไปยังจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อจำหน่ายกับชาวประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนไทย มาเลเซีย เพราะทั้งภาคใต้ และรัฐทางภาคเหนือถูกภาวะน้ำท่วมหนักเช่นกัน ขณะที่เกษตรกรที่มีอาชีพหลักทำการเกษตรคือปลูกยางก็ไม่สามารถกรีดยางได้ เพราะเป็นช่วงหน้าฝน ทำให้ไม่มีกำลังซื้อ จึงส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงสุกร ผู้ค้าสุกร ทำให้ยอดขายหดตัวไป
 
นายชธิต ภักดีบุรี เลขาธิการสมาคมการค้าเลี้ยงสุกรภาคใต้ กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนตลาดสุกรจะหดตัวไปประมาณ 50% ถือว่าหนักกว่าปี 66 ปัจจัยสำคัญทั้งฤดูฝน เกิดภาวะอุทกภัยส่งผลต่อการขนส่ง ส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปซื้อเนื้อหมูยังห้างโมเดิร์นเทรด และฤดูฝนกำลังซื้อผู้บริโภคไม่ดี เพราะไม่สามารถกรีดยางได้ ทั้งๆยางเป็นเศรษฐกิจหลักภาคใต้ ซึ่งได้กระทบโดยตรงกับผู้เลี้ยงสุกร ตลาดสุกร ตลอดจนผู้จำหน่ายอาอหาร ยา  สุกร
 
ส่งผลให้ราคาสุกรตกต่ำอีกด้วยจากราคาต้นทุนการผลิตอยูที่ 72-75 บาท / กก. และสุกรในการเลี้ยงหน้าฝนต้นทุนการผลิตก็จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20% จากที่จะต้องใช้ยารักษาอาการป่วยสุกร และในขณะเดียวกันยังมีสุกรที่หนาแน่นในบางพื้นที่ของภาคใต้จึงต้องระบายออกไปยังภาคกลางในราคาที่ต่ำและขาดทุน
 
นายชลิต กล่าวว่า โดยปัจจุบันราคาขายสุกรในภาคใต้อยู่ที่ กก.ละ 65-67 บาท ขณะที่ราคาประกาศของสมาคมการค้าเลี้ยงสุกรภาคใต้ กก.ละ 74 บาท บาท .ขาดทุน กก.ละ7- 8 บาท ขาดทุนภาพรวมเกือบประมาณตัวละ1,000 บาท
 
นายชธิตเปิดเผยว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและสมาคม จึงยังมีความหวังว่าหลังจากประสบกับอุทกภัยในปี 2567 ผ่านพ้นไปโดยในปี 2568 จะกระเตื้องขึ้น เช่น 1.ระยะสั้น รัฐบาลที่มีนโยบายอัดฉีดเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ 2. ระยะกลาง สมาคมจะทำการสำรวจประชากรสุกร และผู้เลี้ยงว่ามีปริมาณเท่าใด ระดับใดจึงเหมาะสม และ 3 ระยะยาว เรื่องของการตลาดเรื่องของการเลี้ยงสุกร
 
นายชธิต กล่าวว่า ทางออกของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยเพื่อความอยู่รอด คือการประกอบการผสมผสานระหว่างการเลี้ยงสุกรคือจะต้องมีงานอื่น ๆ เข้ามาร่วมด้วย เช่นหากเป็นชาวสวนยางจะต้องกรีดยางตอนเช้า ส่วนตอนเย็นเลี้ยงสุกร ทำสวนปาล์มน้ำมัน เมื่อตัดปาล์มแล้วก็จะหันมาเลี้ยงสุกร หรืองานอื่น ๆ แล้วใช้เงินจากการทำสวนยาง สวนปาล์มน้ำมัน และงานอื่น ๆ มาเป็นต้นทุนในการเลี้ยงสุกร และหากเมื่อพืชการเกษตรดี เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ก็จะเป็นการส่งเสริมการตลาดสุกรให้ไปได้ดี
 
เลี้ยงสุกรเกิน 20 ตัว เป็นรูปแบบเลี้ยงภายในครัวเรือน และการดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงจะไปได้ดี และจะมีศักยภาพที่จะแข่งขันกันทางด้านการตลาดได้ดีด้วย

นายชธิต กล่าวว่า สมาคมจะทำการสำรวจประชากรสุกร เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ได้ประสบปัญหาการขาดทุนมีหนี้สะสม ตั้งแต่เรื่องโรคอหิวาต์สุกรระบาด ASF ประสบกับอุทกภัย ฯลฯ ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย จึงได้ยุติไปแล้วจำนวนมาก โดยข้อมูลพื้นฐานที่เลี้ยงทางภาคใต้ประมาณ 10,000 ราย โดยขณะนี้ได้ยุติไปแล้ว โดยเฉพาะ จ.พัทลุง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่เลี้ยงรายใหญ่ ประมาณ 50% ยังคงเหลือที่เลี้ยงอยู่ประมาณ 5,000 ราย

กลุ่มที่ได้ยุติไปแล้วรอโอกาสให้ราคากระเตื้องขึ้นแล้วจะกลับมาลงทุนเลี้ยงใหม่อีก ขณะนี้อยู่ระหว่างการดูท่าที่ เมื่อราคาดีจะกลับมา แต่เมื่อราคาดร็อปก็ยุติไปก่อน ซึ่งเป็นกลยุทธ์เพื่ออยู่ให้ได้” นายชธิต กล่าว




ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม พ.ย. 67 หดตัว 3.58% ลุ้น MPI พุ่งจากมาตรการรัฐ
https://www.prachachat.net/economy/news-1724748
 
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) พ.ย. 2567 อยู่ที่ระดับ 93.41 หดตัวถึง 3.58% คาดปี 2568 การผลิตภาคอุตสาหกรรมจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ ส่งออก ท่องเที่ยว ระบบเตือนเศรษฐกิจ “ส่งสัญญาณปกติเบื้องต้น”
 
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) พฤศจิกายน 2567 อยู่ที่ระดับ 93.41 หดตัว 3.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 57.6% ส่งผลให้ภาพรวม 11 เดือนแรกปี 2567 อยู่ที่ระดับ 96.25 หดตัวเฉลี่ย 1.78% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 58.64%
 
โดยปัจจัยที่ส่งผลลบต่อภาคการผลิต ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่หดตัวต่อเนื่อง ตลาดภายในประเทศชะลอตัว กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และผลกระทบจากการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาที่มีนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน อาจทำให้สินค้าเข้ามาสู่ไทยและอาเซียนมากขึ้น
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยบวก จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐ เช่น โครงการเงิน 10,000 บาท โครงการแจกเงินผู้สูงอายุ โครงการช่วยเหลือเกษตรกร ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัว 7.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขยายตัวเพิ่มขึ้น
 
ด้านระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนธันวาคม 2567 “ส่งสัญญาณปกติเบื้องต้น” โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณปกติเบื้องต้น เนื่องจากปริมาณสินค้านำเข้าขยายตัว ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการส่งเสริมการท่องเที่ยว
 
ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังลดลง จากภาคการผลิตในสหภาพยุโรปที่ขยายตัว เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเติบโตได้ แต่ยังมีความกังวลต่อนโยบายทางการค้าในอนาคต รวมถึงภาคการผลิตของประเทศญี่ปุ่นยังซบเซา
 
สำหรับปี 2568 อุตสาหกรรมดาวเด่นมีแนวโน้มเติบโตจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.การท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง 2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น ภาครัฐให้เงินอุดหนุนค่าครองชีพ Easy E-Receipt 2.0 และ 3.การขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทย สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี
 
ซึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์ ประกอบด้วย อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม บรรจุภัณฑ์ ทั้งพลาสติก กระดาษ และโลหะ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ และ Hard Disk Drive ที่ผู้บริโภคมีความต้องการกลับมาอีกครั้ง
 
ซึ่งเป็นไปตามโครงสร้างวัฏจักรของสินค้าที่เริ่มหมดอายุรับประกัน อีกทั้ง มีความต้องการเพิ่มขึ้นในกลุ่ม Data Centers ทำให้คำสั่งซื้อปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลักอย่างสหรัฐ ส่งผลให้ภาพรวมช่วง 11 เดือนแรกที่ผ่านมาในปี 2567 ขยายตัวมากกว่า 50%
 
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนพฤศจิกายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 24.56% จากผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ เป็นหลัก ตามอุณหภูมิเฉลี่ยโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงผู้ผลิตบางรายสามารถส่งออกสินค้าที่ผ่านมาตรฐานการรับรองได้หลังติดปัญหาในปีก่อน ประกอบกับทำการพัฒนาสินค้าเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น
สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 31.43% จากผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า ระป๋อง เป็นหลัก ตามความต้องการของคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลียที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงการขยายตัวของตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา และละตินอเมริกา เป็นต้น
เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (ยกเว้นร้านตัดเย็บเสื้อผ้า) ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.58% จากผลิตภัณฑ์ เครื่องแต่งกายชั้นนอกและเครื่องแต่งกายชั้นในสตรีและเด็กหญิงทำจากผ้าทอ เป็นหลัก ตามการขยายตัวของตลาดส่งออก หลังมีคำสั่งซื้อจากอเมริกาและยุโรปเพิ่มขึ้นจากมาตรการปกป้องตลาดภายในประเทศของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนตัว
 
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนพฤศจิกายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 27.21% จากรถบรรทุกปิกอัพ และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งไฮบริด เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของตลาดในประเทศ จากสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ตลาดส่งออกชะลอตัวตามความต้องการที่ลดลงของประเทศคู่ค้า
 
น้ำมันปาล์ม หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 34.54% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์และน้ำมันปาล์มดิบ เนื่องจากปริมาณผลปาล์มที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง การจำหน่ายหดตัวทั้งในประเทศและการส่งออกหลังภาครัฐขอความร่วมมือลดปริมาณการส่งออกและปรับสัดส่วนผสมน้ำมันจาก B7 เป็น B5 ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.63% จาก Integrated circuits (IC) และ PCBA เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว



ฟินแลนด์ลุยสอบเรือจากรัสเซีย ต้องสงสัยก่อวินาศกรรมสายเคเบิลใต้ทะเล
https://www.dailynews.co.th/news/4232262/

ทางการฟินแลนด์ดำเนินการสอบสวนเรือบรรทุกน้ำมันที่แล่นออกจากท่าเรือรัสเซีย เนื่องจากสงสัยว่า เรือลำดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับ “การก่อวินาศกรรม” ต่อสายเคเบิลใต้ทะเลที่เชื่อมต่อระหว่างฟินแลนด์ กับเอสโตเนีย

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ว่า สายเคเบิล “เอสต์ลิงก์ 2” ที่ส่งไฟฟ้าจากฟินแลนด์ ไปยังเอสโตเนีย ขาดการเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้า เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น หลังสายเคเบิลโทรคมนาคม 2 เส้นในน่านน้ำอาณาเขตของสวีเดน ในทะเลบอลติก ถูกตัดขาดเมื่อเดือนที่แล้ว
 
เจ้าหน้าที่โรบิน ลาร์ดอต จากสำนักงานสอบสวนแห่งชาติของฟินแลนด์ กล่าวว่า ทางการเปิดการสืบสวนกรณี “การก่อวินาศกรรมร้ายแรง” กับเรือบรรทุกน้ำมัน “อีเกิล เอส” ซึ่งเดินทางภายใต้ธงของหมู่เกาะคุก ในภูมิภาคแปซิฟิกใต้
 
ขณะนี้เราสันนิษฐานว่า เรือลำดังกล่าวอยู่ในกองเรือเงา และสินค้าบนเรือคือ น้ำมันไร้สารตะกั่ว (ยูแอลพี) ที่ถูกขนถ่ายในท่าเรือรัสเซีย” นายซามี รัคชิต อธิบดีกรมศุลกากรฟินแลนด์ กล่าวเพิ่มเติม
 
ทั้งนี้ เรืออีเกิล เอส กำลังมุ่งหน้าไปยังท่าเรือซาอิด ในอียิปต์ และยังคงอยู่ในอ่าวฟินแลนด์ ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ติดตามเรือ “มารีน ทราฟฟิก” ซึ่งเรือบรรทุกน้ำมันลำดังกล่าว ถูกพาไปยังชายฝั่งใกล้กับเมืองพอร์กกาลา โดยมีเรือตรวจการณ์คอยคุ้มกัน
 
หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ของฟินแลนด์ก็ขึ้นไปบนเรืออีเกิล เอส เพื่อพูดคุยกับลูกเรือ และรวบรวมหลักฐาน เนื่องจากทางตำรวจสงสัยว่า สมอของเรือลำนี้ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สายเคเบิลใต้ทะเลได้รับความเสียหาย
 
ขณะที่นายกรัฐมนตรีเพตเตรี ออร์โป ผู้นำฟินแลนด์ กล่าวว่า การดำเนินการที่เด็ดขาดและแน่วแน่ของทางการ ส่งข้อความที่ชัดเจนไปยังเรือลำอื่น ๆ ว่า ฟินแลนด์จะเข้าแทรกแซง ซึ่งเขาไม่ได้กล่าวโทษรัสเซียเป็นพิเศษ พร้อมกับเสริมว่า ทั้งสองประเทศยังไม่มีการติดต่อกัน เพื่อพูดคุยถึงเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่