ธปท.เผยแพร่บทความผ่าน “พระสยาม” ตั้งคำถาม “จะเกิดอะไรบ้าง ถ้าแบงก์ชาติขึ้น-ลงดอกเบี้ย”

โดยระบุว่า …เมื่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศขึ้น คง หรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย บางคนอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงแล้ว กลไกการทำงานของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะส่งผลต่อเงินเฟ้อและระบบเศรษฐกิจผ่านพฤติกรรมของเราและธุรกิจนั่นเอง 

ดังนั้น มาทำความเข้าใจกันแบบง่าย ๆ ว่าดอกเบี้ยนโยบายเข้าไปมีบทบาทอย่างไรกับระบบเศรษฐกิจ และทำไมธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกจึงใช้สิ่งนี้เป็นเครื่องมือหลักในการทำนโยบายการเงิน 
 
ทำอย่างไรเมื่อเงินเฟ้อไม่ตรงเป้า
หนึ่งในพันธกิจหลักของแบงก์ชาติในการดำเนินนโยบายการเงิน คือการรักษาระดับเงินเฟ้อให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมสอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจแต่ละประเทศ หรือเรียกว่าอยู่ใน “กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ”

ถ้าเงินเฟ้อสูงหรือต่ำเกินไปจนไม่อยู่ในกรอบ ธนาคารกลางก็จะใช้เครื่องมือทางการเงินมากระตุ้นหรือชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และไม่ให้ประชาชนต้องเดือดร้อนจากราคาสินค้าและบริการที่เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป หนึ่งในเครื่องมือที่ว่านี้ก็คือ “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” นั่นเอง
ขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ ชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ

เมื่อแบงก์ชาติประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สถาบันการเงินต่าง ๆ จะทยอยปรับขึ้น
(1) ดอกเบี้ยเงินฝาก และ (2) ดอกเบี้ยเงินกู้ ให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ดี การปรับดอกเบี้ยของสถาบันการเงินอาจไม่เท่ากันกับการปรับดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากสถาบันการเงินต้องพิจารณาต้นทุนอื่น ๆ และการแข่งขันกับสถาบันการเงินคู่แข่งด้วย

เป็นธรรมดาที่เมื่อผลตอบแทนสูงขึ้น บางคนก็เลือกที่จะเก็บออมมากขึ้น จึงนำเงินมาฝากสถาบันการเงินมากขึ้นทำให้เหลือเงินที่จะไปจับจ่ายซื้อของหรือลงทุนน้อยลง คนที่มีแผนกำลังจะกู้เงินก็อาจชะลอออกไปก่อน ขณะที่คนเป็นหนี้ก็อาจมีภาระเพิ่มขึ้นและเมื่อใช้หนี้แล้วจะเหลือกำลังซื้อน้อยกว่าที่เคย

ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจอาจต้องคิดดี ๆ อีกครั้งก่อนลงทุนเพิ่มหรือขยายกิจการ เพราะการขึ้นดอกเบี้ยทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น จึงอาจชะลอหรือปรับลดการลงทุนลง ด้านการผลิตก็จะปรับลดลงด้วยเพราะคาดว่ากำลังซื้อของคนจะลดลง

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นทำให้อุปสงค์ภาพรวมของทั้งระบบลดลง จึงช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและความร้อนแรงของเศรษฐกิจลงได้

ลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจซบเซา บางครั้งเงินเฟ้ออาจอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ แบงก์ชาติประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และจะส่งผ่านไปสู่สถาบันการเงินต่าง ๆ ให้ทยอยปรับลด (1) ดอกเบี้ยเงินฝาก และ (2) ดอกเบี้ยเงินกู้ ให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เช่นเดียวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

เมื่อดอกเบี้ยเงินฝากลดลง ผลตอบแทนก็ลดลง ผู้ฝากเงินจะเริ่มถอนเงินออกไปหาผลกำไรที่สูงกว่า และบ่อยครั้งที่ตัดสินใจนำเงินออกไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อแสวงหาผลกำไรที่สูงขึ้น บางคนเลือกนำเงินออกไปใช้จ่าย เมื่อกำลังซื้อมากขึ้น ก็ทำให้มีเงินไหลเวียนในระบบเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเหมาะสมสำหรับภาคธุรกิจที่มีแผนจะลงทุนหรือขยายกิจการ เพราะการลดดอกเบี้ยทำให้ต้นทุนการกู้ยืมต่ำลง จึงควรใช้โอกาสนี้ทำตามแผน ด้านการผลิตก็จะปรับเพิ่มขึ้นด้วยเพราะคาดว่ากำลังซื้อของคนจะเพิ่มขึ้น

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นทำให้อุปสงค์ภาพรวมของทั้งระบบเพิ่มขึ้น จึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็อาจจะสูงขึ้นด้วยเช่นกัน 

https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1109429
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่