ฟันธง กนง. 18 ธ.ค.คงดอกเบี้ย KKP ประเมินปีหน้าลด 3 ครั้ง

จับสัญญาณดอกเบี้ย นักเศรษฐศาสตร์ประสานเสียงประชุมเฟด-กนง.รอบ18 ธ.ค.นี้ สหรัฐลด-ไทยคงดอกเบี้ย “กรุงไทย” ชี้ปัจจัยภาวะการเงินตึงตัว กดดัน กนง.ตัดสินใจหั่นดอกเบี้ย เชื่อเฟดลดดอกเบี้ยไม่กระทบฟันด์โฟลว์-ตลาดการเงิน พิพัฒน์-KKP ประเมินปีหน้า กนง.ลด 3 ครั้ง “ทีทีบี” ชี้ กนง.คงไว้ก่อน รอดูทิศทาง เน้นใช้เครื่องมือผสม-แก้หนี้ตรงจุดแทน CIMBT มองปีหน้าดอกเบี้ยไทยลงสู่ระดับ 1.50%

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงวันที่ 17-18 ธันวาคม 2567 มองว่า เฟดน่าจะอยู่ในโหมดปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อ เพราะจะเห็นว่า นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดส่งสัญญาณว่า แม้ว่าจะปรับเปลี่ยนประธานาธิบดี แต่นโยบายการเงินยังดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไป
โดยมองว่าหากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมครั้งนี้ จะไม่ได้มีผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) หรือตลาดการเงินมากนัก เพราะตลาดได้รับรู้มาก่อนหน้าแล้ว และเป็นการลดตามคาดการณ์ที่ 0.25% จึงไม่ได้มีผลเหนือความคาดหมาย แต่สิ่งที่นักวิเคราะห์มองไม่เหมือนกัน คือ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ภายหลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาเป็นประธานาธิบดี เฟดจะลดดอกเบี้ยน้อยลง

กนง.รอบนี้ “คงดอกเบี้ย”
ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ มองว่าจากปัจจัยรอบด้าน ทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีแรงส่งจากภาคส่งออกที่ขยายตัว การลงทุนภาครัฐที่ยังเติบโตได้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเข้ามาในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไม่ได้อ่อนแรง จึงมองว่าในรอบนี้ กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ กนง.จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ย จะเป็นเรื่องของภาวะการเงินตึงตัว หากสถานการณ์ไม่คลี่คลายก็มีปัจจัยปรับลดได้

“สถานการณ์ดอกเบี้ยไทยค่อนข้างก้ำกึ่ง แต่ด้วยปัจจัยรอบด้านมองว่า กนง.น่าจะคงดอกเบี้ยมากกว่า เพราะหากดูปัจจัยการเติบโตเศรษฐกิจไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้น่าจะออกมาค่อนข้างดี และมองไปข้างหน้าในไตรมาส 1 และ 2 ปีหน้า การเติบโตน่าจะยังใช้ได้ เป็นเหตุผลที่ กนง.น่าจะรอดูเหตุการณ์ต่อไปได้ แต่หากภาวะการเงินตึงตัวไม่ดีขึ้น หรือตึงตัวมากกว่าเดิมก็เป็นเหตุผลที่จะลดดอกเบี้ยลงได้”

เฟดระวัง-เงินเฟ้อผงกหัว
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่ารอบนี้เชื่อว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยอีกแน่นอน โดยน่าจะลด 0.25% และลดอีก 2 ครั้งในปีหน้า แล้วก็จะหยุดลดดอกเบี้ย เพราะเริ่มมองกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้แย่อย่างที่คาด จากที่ก่อนหน้านี้มองว่าถ้าลดดอกเบี้ยช้า เดี๋ยวเศรษฐกิจชะลอ ขณะที่เมื่อเลือกตั้งสหรัฐได้นายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามา คนก็เริ่มกังวลว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นหรือไม่ ดังนั้น เฟดก็อาจจะต้องระมัดระวังมากขึ้น

“ผมว่าดอกเบี้ยเฟดอาจจะลงไปต่ำสุดแถว ๆ 4% แล้วก็จะ Wait & See ก่อน ซึ่งถ้าดูเงินเฟ้อสหรัฐช่วงหลังจะเริ่มหยุดลงแล้ว เริ่มนิ่ง จากก่อนหน้านี้ที่ลงมาตลอด โดยรอบนี้ดอกเบี้ยคงลง แต่หลังจากนี้ก็คงรอดู แล้วค่อย ๆ ปรับไปเรื่อย ๆ”

กนง.ลดดอกเบี้ย 3 ครั้งปีหน้า
ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ดร.พิพัฒน์คาดว่า รอบนี้ กนง.น่าจะยังไม่ปรับลง แต่ระยะต่อไป แนวโน้มมีโอกาสมากขึ้นที่จะปรับลดดอกเบี้ยอีก โดยคาดว่าปีหน้า กนง.จะลดดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณที่อาจจะต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น โดยสัญญาณที่สำคัญคือ การเติบโตของสินเชื่อที่ติดลบ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ค่อนข้างน่าห่วง เพราะกำลังบอกว่าแบงก์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ โดยอาจจะทำให้สภาพคล่องในระบบตึงมากขึ้น

“ตัวเลขไตรมาส 3 ที่สินเชื่อทั้งระบบออกมาติดลบ ครั้งแรกในรอบ 15 ปี คือก่อนหน้านี้ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ชะลอตัวอย่างไร สินเชื่อแบงก์ไม่เคยติดลบ แต่ตอนนี้ติดลบแล้ว ซึ่งถ้าไปดูเซ็กเมนต์ที่ติดลบเยอะ ๆ ก็จะมีรถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ ก็สะท้อนถึงความระมัดระวังของแบงก์ ว่าปล่อยไปแล้วกลัวไม่ได้เงินคืน หรือเป็นหนี้เสีย หลักประกันไม่คุ้ม เพราะราคารถยนต์ก็ตก ก็จะเป็น Negative Feedback Loop คือพอแบงก์ไม่ปล่อย ยอดขายรถก็กระทบ ราคาบ้านก็กระทบ เศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบอีก”

นโยบายการเงินตึงเกินไป
ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า หากดูสถานการณ์ปัจจุบันที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.25% เงินเฟ้ออยู่ระดับ 0.7% ซึ่งหากย้อนกลับไปช่วงปี 2558-2561 ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.5% ส่วนเงินเฟ้อเท่า ๆ กับปัจจุบัน ขณะที่จีดีพีตอนนั้นโต 3.5% แต่วันนี้เงินเฟ้อก็เท่า ๆ กับตอนนั้น แต่จีดีพีเหลือ 2.5% ส่วนดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.25%

“ดังนั้น ผมคิดว่านโยบายการเงิน วันนี้ตึงกว่าวันนั้นแน่นอน ซึ่งดูจากเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ไม่ได้ดีเหมือนตอนนั้น ทำให้นโยบายการเงินมีช่องที่จะผ่อนคลายได้มากขึ้น โดยเฉพาะถ้าดีมานด์ในประเทศอ่อนแอ เงินเฟ้อยังอยู่ระดับต่ำ สินเชื่อแบงก์ติดลบ เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น ค่าเงินบาทแข็ง ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เงื่อนไขการลดดอกเบี้ยมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเงื่อนไขที่แบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ย คือกลัวคนกู้เพิ่ม แต่ตอนนี้เราเห็นสินเชื่อหดตัวแล้ว ดังนั้น หากนโยบายการเงินตึงเกินไป ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจโตช้า แม้ว่าหนี้ไม่เพิ่ม แต่รายได้คนลด”

ปีหน้าดอกเบี้ยไทยลงสู่ 1.5%
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมเฟด นักลงทุนประมาณ 90% มองว่าจะปรับลดดอกเบี้ยลง แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือตลาดมองการส่งสัญญาณนโยบายการเงินในปี 2568 ว่ารายงานการประชุม Dot Plot จะเป็นอย่างไร จากเดิมมองปีหน้าเฟดจะลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 2-3 ครั้ง ส่วนหนึ่งมาจากอัตราเงินเฟ้อขยับเพิ่มขึ้น และลดลงช้า ซึ่งจะต้องดูว่าในปี 2568 จะเป็นอย่างไร ทำให้ตลาดลุ้นการประชุมในเดือนมกราคม 2568 หลังมีประธานาธิบดีทรัมป์ จะออกมาในทิศทางใด

สำหรับการประชุม กนง.ของไทย คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยที่เป็นแรงกดดัน โดยเศรษฐกิจยังมีแรงสนับสนุน สะท้อนจากตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 3/67 ที่ขยายตัว และมาตรการภาครัฐที่ทยอยออกมาหลังจากนี้ ประกอบกับ กนง.อาจรอดูผลการปรับลดดอกเบี้ยในรอบการประชุมเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินอีกครั้ง

“รอบการประชุม 18 ธ.ค.นี้ เฟดลดดอกเบี้ย ไทยคงดอกเบี้ย แต่ในปี’68 กนง.น่าจะลดดอกเบี้ยต่อเนื่องสู่ระดับ 1.50% ต่อปี เพราะเงินเฟ้อไม่เข้ากรอบเป้าหมาย 1-3% และความเสี่ยงเศรษฐกิจมีค่อนข้างมากขึ้น ทำให้นโยบายการเงินจะปรับให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโตช้าลง”

แก้หนี้ลดแรงกดดันดอกเบี้ย
ด้านนายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีทีบี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงอยู่ในธีมดอกเบี้ยขาลง โดยมองว่ากรณีพื้นฐานเฟดน่าจะปรับลดดอกเบี้ย แต่เสียงอาจจะแตก เนื่องจากมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่ตัวเลขผงกหัวขึ้นจากระดับ 2.60% เป็น 2.75% ดังนั้น นโยบายการเงินคงไม่ได้ปรับลดลงเร็ว หรือแตะเบรกเร็ว เป็นช่วงรอดูสถานการณ์ (Wait & See) และตลาดปรับคาดการณ์จากเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ย 0.50% เหลือ 0.25%

ขณะที่นโยบายการเงินของไทยนั้น มองว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.25% ต่อปี เพื่อรอดูท่าที ส่วนหนึ่งมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มเห็นทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และเชื่อว่ายังมีเวลาในการประเมินสถานการณ์ ประกอบกับ ธปท.มีนโยบายการเงินอื่น ๆ เข้ามาช่วย เช่น มาตรการแก้หนี้ครัวเรือน “คุณสู้ เราช่วย” ที่เป็นมาตรการตรงจุดในการลดภาระหนี้ของลูกหนี้ และแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ยั่งยืน โดยไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่เป็นวงกว้าง

“หากย้อนหลังดูวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของไทย 4-5 รอบในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าเมื่อ กนง.ลดดอกเบี้ย จะไม่ปรับลดลงต่อเนื่อง ดังนั้น เราคงไม่เห็น กนง.ลดลงเร็วไปจนถึง 1.75% ซึ่งเป็นขอบล่าง โดยมองว่า กนง.ยังลดได้อีก 1 ครั้ง ลงมาอยู่ 2.00% ต่อปี และยังมีเวลาเหลืออีกในการประเมินสถานการณ์ โดยอาจจะเน้นใช้นโยบายการเงินและเครื่องมือแบบผสมผสานมากขึ้น ตามที่ผู้ว่าการ ธปท.พูดมาต่อเนื่อง”... 

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/finance/news-1715351


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่