เปิดแนวคิดนโยบายการเงินแบงก์ชาติ ย้ำดอกเบี้ย 2.5% ยังเหมาะสม



ธปท.เปิดแนวคิดการดำเนินนโยบายการเงิน ตอกย้ำการตัดสินใจดอกเบี้ยนโยบายดูหลายปัจจัย “เศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ-เสถียรภาพระบบการเงิน” ชี้ ดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 2.5% ยังเหมาะสมในบริบทเศรษฐกิจการเงินปัจจุบัน ลั่น หากภาพแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินเปลี่ยนไปจากที่เคยมองไว้ พร้อมปรับดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมกับบริบท

วันที่ 16 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเวทีพูดคุยถึงแนวการดำเนินนโยบายการเงิน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 ภายใต้ “ธปท.เปิดแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ” โดยระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจดอกเบี้ยนโยบายโดยดูหลายปัจจัย ทั้งภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน (ไม่ได้ดูข้อมูลเพียงจุดใดจุดหนึ่งหรือแค่ระยะสั้น แต่ดูแนวโน้มของข้อมูล) และเน้นมองภาพแนวโน้มระยะปานกลาง (medium-term outlook) เป็นหลัก ที่สำคัญ ยังพร้อมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การตัดสินนโยบายได้คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ อย่างรอบด้าน

โดยระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมต่อเศรษฐกิจ ต้องไม่สูงเกินไปจนกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจ และไม่ต่ำเกินไปจนสร้างความเปราะบางในระบบการเงิน โดยดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 2.5% ยังเหมาะสมในบริบทเศรษฐกิจการเงินปัจจุบัน

ทั้งนี้ เศรษฐกิจฟื้นตัวมาระดับหนึ่งแล้วในหลายมิติ โดยเฉพาะการบริโภค จำนวนผู้มีงานทำ รายได้ลูกจ้างนอกภาคเกษตร แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง โดยการส่งออกและการผลิตยังฟื้นตัวต่ำกว่าคาด ส่วนหนึ่งเพราะปัญหาเชิงโครงสร้างมีผลเร็วและแรงกว่าที่เคยมองไว้เดิม มองไปข้างหน้า การขยายตัวของเศรษฐกิจยังมีแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศ แต่เผชิญความท้าทายจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่รุนแรงขึ้น เช่น ความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกไทยที่ลดลง และนโยบายของจีนที่เน้นพึ่งพาการผลิตในประเทศมากขึ้น ดังนั้น อุปสงค์ในต่างประเทศที่ฟื้นตัวอาจไม่ได้ส่งผลดีต่อภาคส่งออกไทยมากดังเช่นในอดีต
ล่าสุด เงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบไม่ได้สะท้อนการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ แต่เกิดจากปัจจัยชั่วคราวด้านอุปทาน (มาตรการลดราคาพลังงานและผลของฐานสูงในปีก่อน) โดยในระยะสั้น คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบต่อใน Q1 ปี 67 จากการต่ออายุมาตรการลดราคาพลังงานของภาครัฐ สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะยังเป็นบวก เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลาง-ยาวยังยึดเหนี่ยวในกรอบเป้าหมายที่ 1-3%
เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมยังดี แต่ต้องติดตามปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การปรับเปลี่ยนระดับดอกเบี้ยนโยบายจึงต้องชั่งน้ำหนัก เพราะการลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ อาจไปสร้างแรงจูงใจให้ก่อหนี้เพิ่ม ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนภาวะการเงินตึงตัวขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้ตึงตัวจนเกินไป สินเชื่อรวมหดตัว หลัก ๆ มาจากการทยอยชำระคืนหนี้ของธุรกิจจากมาตรการในช่วงโควิด (โดยเฉพาะ SMEs ที่ชำระคืน soft loan) แต่เม็ดเงินสินเชื่อปล่อยใหม่ยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิด ส่วนการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ภาคเอกชนยังทำได้ตามปกติ แม้ต้นทุนจะปรับเพิ่มขึ้นบ้าง
ในระยะต่อไป หากภาพแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินเปลี่ยนไปจากที่เคยมองไว้ กนง. พร้อมปรับดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมกับบริบท (flexible) อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง อาจไม่สามารถใช้นโยบายการเงินได้โดยตรง แต่ต้องอาศัยนโยบายอื่น ๆ เช่น การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ แนวนโยบายด้านอุปทาน เป็นหลัก

การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาอาจมีผลกระทบต่อลูกหนี้ที่รายได้อาจยังฟื้นไม่เต็มที่ ธปท. จึงมีมาตรการดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง เช่น ดูแลการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) สำหรับรายย่อย (MRR) ไม่ให้ปรับเร็วและแรงเกินไป ต่ออายุมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว

ล่าสุด ธปท. ออกเกณฑ์ Responsible Lending บังคับให้แบงก์ต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ทั้งก่อนและหลังเป็น NPL อย่างน้อย 1 ครั้ง (มีผล 1 ม.ค. 67) และช่วยลูกหนี้ที่มีหนี้เรื้อรังให้ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงไม่เกิน 15% ต่อปี (มีผล 1 เม.ย. 67) ธปท.ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแล ธพ. ทั้งด้านเสถียรภาพ การให้บริการอย่างเป็นธรรมต่อลูกค้า รวมถึงการส่งเสริมการแข่งขันในระบบ ธพ. ให้ดีขึ้นและเท่าเทียมขึ้น

เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของบริการทางการเงินให้ตอบโจทย์ประชาชนมากขึ้นในระยะยาว ธปท. ดูแลให้ ธพ. เข้มแข็งมั่นคง มีเสถียรภาพ เพื่อทำหน้าที่จัดสรรเงินทุนในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นกลไกสำคัญในการช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่อง หากแบงก์ล้มหรือมีปัญหาทางการเงินรุนแรง จะมีผลกระทบต่อผู้ฝากเงินและระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง (ตัวอย่างวิกฤตแบงก์ SVB ในสหรัฐฯ ในปี 2566)
ด้านการบริหารต้นทุน-กำไรของ ธพ. ขึ้นกับ business model ของ ธพ. แต่ละแห่ง ส่วนการกำหนดดอกเบี้ยของ ธพ. เป็นไปตามกลไกตลาดและโครงสร้างเงินฝาก/สินเชื่อของแบงก์ โดย ธปท. กำกับดูแล การดำเนินงานของ ธพ. ในมิติการคุ้มครองผู้บริโภค ผ่านการกำกับดูแลให้ ธพ. คิดค่าธรรมเนียม/ดอกเบี้ยให้เหมาะสมและเป็นธรรมมากขึ้น เช่น ไม่คิดดอกเบี้ยทบต้นของสินเชื่อรายย่อยทั้งหมด ห้ามเรียกเก็บค่าปรับชำระหนี้ก่อนครบกำหนด (prepayment fee) สำหรับสินเชื่อรายย่อยทุกประเภท (ยกเว้นสินเชื่อบ้าน)
ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ได้ตรวจสอบเรื่องนี้เข้มข้นขึ้น และเอาผิดกับแบงก์ที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเกินจริง โดยให้จ่ายชำระคืนลูกหนี้แล้ว ในระยะยาว ธปท. ยังมีแนวนโยบายส่งเสริมการแข่งขันอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม โดยเปิดให้มี Virtual Bank เพื่อเพิ่มผู้เล่นใหม่และสนับสนุนให้แบงก์นำเทคโนโลยีมาพัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้เพิ่มเติม ทบทวนกฎกติกาในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานสำคัญให้ทั้ง ธพ. และ non-bank เข้าถึงได้บนมาตรฐานเดียวกัน
รวมถึงสร้างกลไก open data for consumer empowerment ให้ประชาชนหรือ SMEs ใช้สิทธิส่งข้อมูลของตนเองที่มีอยู่กับผู้ให้บริการต่าง ๆ (เช่น ข้อมูลบัญชีเงินฝาก ประวัติการชำระค่าน้ำ-ค่าไฟ ประวัติการใช้จ่าย) ผ่านช่องทางดิจิทัลได้สะดวก ปลอดภัย เพื่อประกอบการขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงเงินทุน ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะกับความเสี่ยงของผู้กู้

ที่มาของข่าวhttps://www.prachachat.net/finance/news-1480343#google_vignette
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่