JJNY : 5in1 'วิโรจน์'สงสัยเด้งอธิบดี DSI│‘พริษฐ์’ห่วงไทยรั้งท้าย│‘กัณวีร์’ชี้ปรับปรุงกม.│จับตากนง.│ผู้นำฮามาสพบตัวประกัน

'วิโรจน์' ตั้งข้อสงสัย เด้งอธิบดี DSI ปมแตะนายทุนสอบหมูเถื่อนหรือไม่?
https://ch3plus.com/news/social/ruangden/376492
 
 
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นกรณี ครม.ย้ายอธิบดีดีเอสไอ ว่า รัฐบาล ต้องมีคำตอบว่าสั่งย้ายอธิบดีดีเอสไอด้วยเหตุผลอะไร และที่น่ากังวล คือมีคำสั่งย้ายออก แต่ไม่มีคำสั่งย้ายเข้า นั่นคือ วันนี้ไม่มีอธิบดีดีเอสไอ มีแต่รักษาการอธิบดีเท่านั้น คำถามคือ การไม่มีอธิบดีจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนคดีที่สำคัญ เช่น คดีหมูเถื่อน อย่างไร

นายวิโรจน์ กล่าวถึงเรื่องการดำเนินคดีหมูเถื่อนในช่วงที่ผ่านมาว่า ประชาชนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่ามีไอ้โม่งอยู่เบื้องหลังกี่ราย ซึ่งน่าจะเป็นไอ้โม่งที่ไม่ธรรมดา แต่เป็นที่มีพละกำลัง มีอิทธิพลทางการเมืองด้วยหรือไม่

ล่าสุด โยงใยไปที่บริษัทค้าส่งรายหนึ่ง ที่ดีเอสไอเข้าตรวจสอบเมื่อวาน ซึ่งต้องมีการสืบสวนสอบสวนว่า บริษัทค้าส่งนั้นรู้เห็นเป็นใจกับการค้าหมูเถื่อนหรือไม่ เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วย หรือเป็นเพียงผู้เสียหาย

จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่า การดำเนินคดีนี้จะเร่งให้ดำเนินการอย่างรวดเร็วได้อย่างไร ในเมื่อตอนนี้ หัว คือ อธิบดีดีเอสไอหายไปแล้ว

ซึ่งคุณวิโรจน์ ยอมรับว่า มีความเคลือบแคลงสงสัยในการแต่งตั้งโยกย้ายอธิบดีดีเอสไอใน 2 ประเด็น คือ การดำเนินที่ผ่านมา ทำไมคดีล่าช้า มีใบสั่งอะไรหรือไม่ มีการเมืองเข้ามาแทรกแซงหรือไม่ และอธิบดีกลายเป็นคนรับเคราะห์หรือไม่

และ 2 คือ เมื่อวานเพิ่งมีการบุกค้นบริษัทค้าส่ง ไปพัวพันกับนายทุนขนาดใหญ่ และวันนี้อธิบดีถูกเด้ง จึงทำให้มีคำถามว่าดีเอสไอไปแตะไอ้โม่งที่ไม่ควรแตะหรือไม่ ถ้ารัฐบาลไม่ตอบให้ชัดเจน จะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี



‘พริษฐ์’ ห่วงภาษาอังกฤษไทยรั้งท้าย ชู 5 นโยบาย เพิ่มคุณภาพ-แก้เหลื่อมล้ำ
https://www.matichon.co.th/politics/news_4305267

‘พริษฐ์’ ชู 5 นโยบาย แนะรัฐบาล-ก.ศึกษาธิการ ยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนภาษาอังกฤษทั่วประเทศ หลังดัชนีความสามารถภาษาอังกฤษคนไทยรั้งท้ายอาเซียน อยู่อันดับ 101 จาก 113 ประเทศ
 
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษ  (EF English Proficiency Index) ประจำปี 2023 ซึ่งประเทศไทยมีดัชนีต่ำสุดในบรรดา 8 ประเทศกลุ่มอาเซียนที่มีการวัดผล โดยอยู่ที่ 101 จาก 113 ประเทศ ด้วยคะแนน 416 ลดลงจากอันดับ 97 จาก 111 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022

นายพริษฐ์กล่าวว่า แม้ปัญหาเรื่องทักษะภาษาอังกฤษ อาจมีหลายปัจจัยนอกเหนือจากระบบการศึกษา แต่คิดว่าปัญหานี้สะท้อนถึง 2 ปัญหาของระบบการศึกษาไทยในภาพรวม คือคุณภาพระบบการศึกษาและความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ในแง่คุณภาพระบบการศึกษา นักเรียนไทยไม่ได้มีจำนวนชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนที่น้อยกว่าประเทศอื่นๆ แต่หลักสูตรและวิธีการสอนปัจจุบัน ไม่สามารถแปรชั่วโมงเรียนเหล่านั้นหรือความขยันของนักเรียนออกมาเป็นทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพได้ดีเท่าที่ควร ขณะที่ในแง่ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา เด็กไทยปัจจุบันยังไม่ได้มีโอกาสเข้าถึงการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพอย่างทัดเทียมกัน โอกาสในการเรียนต่อต่างประเทศ เรียนในโรงเรียนนานาชาติ หรือเรียนในโรงเรียนที่จัดหลักสูตรภาษาอังกฤษ (English Programme หรือ EP) ยังคงเป็นโอกาสที่เด็กบางกลุ่มเท่านั้นที่เข้าถึง
 
นายพริษฐ์กล่าวว่า หากพูดถึงการปฏิรูประบบการศึกษา มีนโยบายอย่างน้อย 5 ด้านที่รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ สามารถดำเนินการได้ เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของนักเรียนและเยาวชนทั่วประเทศ ดังนี้
 
1. ออกแบบหลักสูตร การสอน การประเมินวิชาภาษาอังกฤษใหม่ เช่น ปรับหลักสูตรวิชาภาษาอังกฤษ ให้เน้นด้านทักษะการสื่อสารหรือการ “ใช้” ภาษาเป็นหลัก มากกว่าเน้นแค่เพียงหลักภาษาและไวยากรณ์ ทำให้ห้องเรียนภาษาอังกฤษเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ที่ช่วยให้ผู้เรียนกล้าลองผิดลองถูกในการใช้ภาษา และเรียนรู้จากข้อผิดพลาด เพิ่มสัดส่วนวิชาและกิจกรรมในโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ ดำเนินการพร้อมกับการออกแบบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่แค่ด้านภาษาอังกฤษ ที่เน้นการพัฒนาทักษะและสมรรถนะ มากกว่าเพียงการอัดฉีดเนื้อหา
 
2. ยกระดับการอบรมทักษะภาษาอังกฤษของครูไทย เช่น เพิ่มความเข้มข้นในการอบรมครูไทยด้านภาษาอังกฤษทั้งในระดับสถาบันผลิตครู (pre-service training) และการพัฒนาทักษะในงาน (in-service training) เน้นการกระจายงบอบรมครูที่ปัจจุบันกระจุกอยู่กับส่วนกลางทั้งหมด ไปเป็นการให้งบตรงไปที่โรงเรียนและครูแต่ละคนในการซื้อคอร์สพัฒนาทักษะที่ตอบโจทย์ด้านที่ตนเองต้องการพัฒนา

 3. ทำ MOU กับประเทศหรือเมืองอื่นๆ เพื่อให้มีโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างครูสอนภาษาอังกฤษในต่างประเทศและครูไทยที่สอนภาษาอังกฤษ เช่น เพิ่มสภาพแวดล้อมที่นักเรียนไทยได้ฝึกสื่อสารภาษาอังกฤษกับครูต่างชาติที่มาสอนในประเทศไทย ยกระดับทักษะครูไทยที่จะมีประสบการณ์ไปสอนในโรงเรียนที่ต่างประเทศ

4. ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษนอกห้องเรียน เช่น พิจารณาจัดสรร “คูปองเปิดโลกเรียนรู้” สำหรับเด็กและเยาวชนในการเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งอาจรวมถึงคอร์สหรือกิจกรรมที่มีการใช้ภาษาอังกฤษ จัดทำแพลตฟอร์มเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่รวบรวมคอร์สพัฒนาทักษะ เช่น คอร์สภาษาอังกฤษ จากผู้ผลิตเนื้อหาในภาคเอกชนและภาควิชาการ โดยเปิดให้ประชาชนทุกคนเรียนได้ฟรีไม่จำกัด เพิ่มจุดที่ประชาชนได้สัมผัสกับภาษาอังฤษในชีวิตประจำวัน เช่น การเพิ่มบทบรรยายภาษาอังกฤษใต้ภาพ (subtitles) สำหรับข่าวสาร ละคร รายการในโทรทัศน์
 
5. รณรงค์ให้สังคมไม่มีค่านิยมที่ให้ความสำคัญมากเกินไปกับเรื่องสำเนียง (accent) จนทำให้เด็กหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ไม่กล้าสื่อสารภาษาอังกฤษ เช่น สร้างความเข้าใจว่าการออกเสียง (pronunciation) ให้ชัดถ้อยชัดคำเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการให้คู่สนทนาเข้าใจสิ่งที่เรากำลังสื่อสาร แต่สำเนียง ไม่ควรถูกมองว่าเป็นสาระสำคัญ เนื่องจาก “สำเนียงที่ถูกต้อง” แม้ในเชิงทฤษฎี ก็อาจไม่มีอยู่จริง ในเมื่อภาษาอังกฤษได้กลายเป็นภาษาที่ถูกใช้กันโดยคนในหลายประเทศทั่วโลกด้วยสำเนียงที่หลากหลาย หรือแม้แต่คนในประเทศสหราชอาณาจักรเอง ที่ถูกมองว่าเป็นต้นตำรับภาษาอังกฤษ ก็ยังมีหลายสำเนียงที่แตกต่างออกไปในแต่ละภูมิภาค
 


‘กัณวีร์’ชี้ เพื่อรองรับสถานการณ์สงครามทั่วโลก รัฐไทย จำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยผู้ลี้ภัย
https://www.matichon.co.th/politics/news_4305309

‘กัณวีร์’ ร่วมแสดงจุดยืนในวันแห่งความเป็นปึกแผ่นสากลกับชาวปาเลสไตน์ ระบุ รัฐไทย จำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยผู้ลี้ภัย ที่ต้องไม่ใช่การซุกปัญหาไว้ใต้พรม เพื่อรองรับสถานการณ์สงครามทั่วโลก
 
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เปิดเผยถึงการร่วมเวที “Stand for Palestine, Stand with the Humanity”  เนื่องในวันแห่งความเป็นปึกแผ่นสากลกับชาวปาเลสไตน์ (The Commemoration of the UN International Day Of Solidarity with the Palestinian People) ซึ่งตรงกับวันที่ 29 พฤศจิกายนของทุกปี
  
โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย พระมหานภันต์ สนุติภทุโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดสระเกศฯ, ผศ.ดร.อาทิตย์ ทองอินทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงศึกษาและการศึกษาการก่อการร้าย, น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters ดำเนินรายการโดย อ.ไฟโรส อยู่เป็นสุข กรรมการ PSC Thailand
  
นายกัณวีร์ได้ร่วมแสดงจุดยืนบนหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมในวันแห่งความเป็นปึกแผ่นสากลกับชาวปาเลสไตน์ โดยขอบคุณ PSC Thailand  และสถาบันพระปกเกล้าที่จัดงานเสวนาพูดคุยแง่มุมและบริบทต่อสถานการณ์ในพื้นที่ปาเลสไตน์ ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะ “สิทธิในการมีชีวิต” ของคน จึงต้องยุติความกระหายต่ออำนาจและผลประโยชน์ที่นำมาซึ่งสงครามและผลกระทบต่อผู้บริสุทธิ์แห่งมนุษยชาติ
 
ผมยังยืนยันการสร้างสันติภาพแบบยั่งยืนโดยเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางในการกำหนดทิศทางการสร้างสันติภาพในโลกนี้ผ่านกระบวนการและหลักการมนุษยธรรม เมื่อประชาชนได้เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจแล้ว กระบวนการสร้างสันติภาพในโลกใบนี้จะเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องครับ
 
นายกัณวีร์กล่าวว่า เมื่อได้เรียนรู้เหตุผลเชิงประวัติศาสตร์ การเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งแง่มุมวิชาการ ศาสนา และสื่อมวลชน ต่อสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงสาเหตุแห่งสงครามในบริบทโลกที่เริ่มต้นจากผลประโยชน์และการมีอำนาจที่เป็นมูลเหตุจูงใจให้ก่อสงคราม และสุดท้ายผู้ได้รับผลกระทบสูงสุดคือประชาชนผู้บริสุทธิ์ผู้ไม่สามารถตัดสินใจใดๆ ในการก่อสงครามใดๆ เลย
 
เราต้องยอมรับว่าในประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ แต่เรามองเรื่องนี้แบบซุกปัญหาไว้ใต้พรม เราเลี่ยงจะไม่พูดถึง ทั้งๆ ที่รัฐก็นำเงินภาษีของประชาชนคนไทยไปดูแลผู้หนีภัยการสู้รบ แต่ด้วยการไม่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ทำให้เกิดความคิดแบ่งแยกพวกเขาพวกเรา เป็นมุมมองที่อยู่กับคนไทยมานานหลายทศวรรษ ในปัจจุบันเรามองผู้ลี้ภัยเป็นภัยความมั่นคง หากเรายังไม่เปลี่ยนแปลงความคิดนี้ ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่ออกมาอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกจะถูกมองเป็นภาระ และละเลยการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
 
นายกัณวีร์ยืนยันว่า ในฐานะเป็น ส.ส. และทำงานด้านมนุษยธรรม เชื่ออย่างยิ่งว่า ไม่มีใครอยากตกเป็นผู้ลี้ภัย ไม่มีใครอยากอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย เพราะฉะนั้นฝ่ายนิติบัญญัติต้องนำปัญหาใต้พรมมาอยู่บนพรม มองพวกเขาในฐานะมนุษย์ ดึงศักยภาพของมนุษย์คนนั้นมาช่วยพัฒนาชาติไทยให้ได้ นำพวกเขามาอยู่บนพรม ชวนพวกเขามาร่วมพัฒนาชาติไทย หากทำแบบนั้นได้เม็ดเงินภาษีของคนไทยจะไม่ตกไปเป็นภาระต่อไป
 
ในการขับเคลื่อนของฝ่ายนิติบัญญัติ ผมเป็นประธานอนุกรรมการแก้ปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐาน สภาผู้แทนราษฎรจึงกำลังผลักดันกฎหมายรองรับการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยของไทย ตอนนี้มีเวลาเหลือ 67 วันที่จะร่างกฎหมายนี้ให้เกิดขึ้นได้” นายกัณวีร์กล่าว
 
นายกัณวีร์​กล่าวถึงการผลักดันกฎหมายผู้ลี้ภัย ซึ่งสถานการณ์สงคราม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก รัฐไทยก็ต้องเตรียมการเรื่องเหล่านี้อย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของเรา มีผู้ลี้ภัยในชายแดนไทยเกือบ 1 แสนคนที่อยู่มาเกือบ 40 ปี และยังมีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศอีกหลายแสนคน รวมถึงผู้ลี้ภัยในเมืองที่มาจากประเทศต่างๆ รวมถึงชาวปาเลสไตน์ที่มีอยู่เดิมแล้ว เราจึงต้องเตรียมการรับมือเรื่องเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว
 

 
ค่าเงินบาทปิด 34.96 แข็งค่าเกาะกลุ่มภูมิภาค จับตา กนง.ประเมินทิศทางเศรษฐกิจ
https://siamrath.co.th/n/496323

ค่าเงินบาทปิด 34.96 แข็งค่าเกาะกลุ่มภูมิภาค จับตา กนง.ประเมินทิศทางเศรษฐกิจ
 
นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ 34.96 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าต่อเนื่องจากเปิดตลาดเมื่อเช้าอยู่ที่ระดับ 34.98 บาท/ดอลลาร์ หลังดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าตามบอนด์ยีลด์ที่ลดลง ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 34.87 - 35.00 บาท/ดอลลาร์ บาทขยับแข็งค่าเกาะกลุ่มไปกับค่าเงินภูมิภาค หลังดอลลาร์อ่อนค่าตามบอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวลดลง ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 34.80 - 35.05 บาท/ดอลลาร์ โดยคืนนี้ตลาดรอดูตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจองสหรัฐฯ ส่วนพรุ่งนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งตลาดคาดว่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ย แต่จะมีการประเมินภาวะเศรษฐกิจอย่างไร ส่วนการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้นตลาดมองว่าเกิดขึ้นได้ยาก
 
#ค่าเงินบาท #ด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่