หมออ๋อง ได้สร้างมาตรฐานใหม่ แห่งการไปดูงาน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ชี้แจงให้ประชาชนทราบ

‘หมออ๋อง’ แจงทุกประเด็นดูงานสิงคโปร์ ยืนยันใช้งบอย่างประหยัด-ตามระเบียบ

เลือกคณะเดินทางตามความเชี่ยวชาญ คำนึงถึงเป้าหมายการดูงาน พร้อมแสดงใบเสร็จค่าใช้จ่ายจริง ส่งรายงานถึงกระทรวง-พรรคการเมือง-ภาคประชาชน เชื่อแนวทางโปร่งใส-ตรวจสอบได้ เปลี่ยนมาตรฐานการดูงานของประเทศ



.
วันที่ 20 กันยายน 2566 ที่รัฐสภา ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 แถลงข่าวกรณีการเดินทางไปดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 21-24 กันยายนว่า

การดูงานครั้งนี้เป็นหนึ่งในแผนงานที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ของคณะกรรมการขับเคลื่อนรัฐสภาโปร่งใสและสมรรถนะสูง ซึ่งตั้งขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ประกอบ

ด้วย 4 อนุกรรมการ ได้แก่ (1) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนรัฐสภาเพื่อประชาชน (2) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฐานข้อมูลรัฐสภาเพื่อประชาชน (3) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสื่อสารเชิงกลยุทธ์เพื่อประชาชน และ (4) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน
.
เมื่อกรรมการชุดใหญ่และอนุกรรมการประชุมร่วมกัน เราเริ่มเจอโจทย์ที่ต้องการเห็นภาคปฏิบัติและรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถพัฒนาสภาให้เป็นสากลได้ ซึ่งจากการพิจารณา 

พบว่าการดูงานในประเทศที่ไกลเกินไป ไม่ว่าจะเป็นทวีปยุโรปหรือทวีปอเมริกา ไม่มีความจำเป็น เราควรเริ่มต้นศึกษาจากประเทศที่เป็นพันธมิตรในระดับอาเซียนและประเทศที่มี Best Practices หรือมีการพัฒนาที่ดีที่สุดในด้านที่เราต้องการ สุดท้ายจึงเป็นประเทศสิงคโปร์ 
.
[ ใช้งบประมาณอย่างประหยัด เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง ]
.
สำหรับงบประมาณที่ตั้งไว้ เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการคลังในค่าใช้จ่ายของการเดินทางของรองประธานสภาคนที่ 1 หลายคนกังวลว่าสูงเกินไปหรือไม่ 

ข้อเท็จจริงคือเป็นการตั้งงบตอนที่เรายังไม่ได้จองจริง ยังไม่ได้หาโรงแรมหรือตั๋วเครื่องบินจริง และยังไม่สามารถลงรายละเอียดของการเดินทางได้ 

ดังนั้น เจ้าหน้าที่ทำโครงการจึงตั้งโครงการและงบประมาณตามสิทธิที่อยู่ในระเบียบทุกประการไว้ก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายจริงทั้งหมดจะเปิดเผยแบบละเอียดได้เลย หลังเดินทางกลับมา
.
สำหรับค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้น บางส่วนสามารถเปิดเผยได้วันนี้ 

คือตั๋วเครื่องบินที่ตั้งไว้ตามสิทธิ์คือ 52,000 บาท เราจองจริงได้ 28,000 บาท ส่วนที่เหลือส่งกลับคืนคลังทั้งหมด ส่วนโรงแรมตามสิทธิ์เบิกได้ 12,500 บาท จองจริงประมาณ 9,000 บาท 

เราพยายามประหยัดให้มากที่สุด แต่ขณะเดียวกันตอนนี้ตนกำลังดำเนินหน้าที่ในฐานะทูตของสภาผู้แทนราษฎร การเยี่ยมคารวะ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเลี้ยงรับรองบุคคลต่างๆ ที่มาพบเจอกัน ต้องเป็นส่วนที่รับรองให้สมเกียรติของประเทศไทยด้วย
.
ส่วนงบรับรอง ที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่ามากเกินไปหรือไม่ เนื่องจากตอนที่เราตั้งงบ ยังไม่ทราบโปรแกรมโดยละเอียด จึงจะมีการหักทอนต่างๆ เช่น เบี้ยเลี้ยงของคณะเดินทางสำหรับอาหารมื้อเที่ยง

 เมื่อต่อมาสถานทูตเลี้ยงรับรอง เราก็จะหักออกจากเบี้ยเลี้ยง จ่ายเบี้ยเลี้ยงไม่เต็ม หรือเมื่อไปเจอคนงานไทยและนักศึกษาไทย 

ตนก็ใช้งบรับรองนี้ในการดูแลของว่างหรือรับประทานอาหารง่ายๆ ร่วมกัน หักลบกลบหนี้อย่างไร ส่งกลับคืนคลังทั้งหมด และยินดีแสดงใบเสร็จว่าใช้ไปเท่าไรอย่างไร 
.
[ คณะเดินทาง เลือกอย่างเหมาะสมตามความรู้ความสามารถ]
.
คณะเดินทาง ประกอบด้วย 3 ส่วน 

ส่วนแรกคือกรรมการขับเคลื่อนรัฐสภาฯ ซึ่งมีตน ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ วรภพ วิริยะโรจน์ ซึ่งตนตั้งใจให้ไปดูระบบสารสนเทศ ระบบฐานข้อมูลโปร่งใส เพราะเราจะมีโอกาสไปเยี่ยม GovTech ของสิงคโปร์ 

งานด้านเทคนิคแบบนี้จำเป็นต้องได้คนที่เหมาะสมกับงานเท่านั้น  ส่วนที่สองและสาม ตอนที่เราตั้งคณะทำงานนี้ขึ้นมา ยังไม่มีฝ่ายค้านและรัฐบาล ยังไม่มีกรรมาธิการกิจการสภา 

ความตั้งใจแรกของตนคือถ้ากำหนดทริปดูงานได้แล้ว จะเชิญประธาน กมธ.กิจการสภา และให้ประธานได้เลือกสรรคนใน กมธ. ไปด้วยกัน
.
แต่เนื่องจากจนถึงวันนี้ ยังไม่มี กมธ.กิจการสภา จึงใช้วิธีแบ่งคร่าวๆ เป็นฝ่ายค้านและรัฐบาล สรุปเป็นพรรคก้าวไกล 3 คน ที่มีความจำนงลงชื่อว่าต้องการทำงานใน กมธ.กิจการสภา และได้เชิญอีก 2 พรรคการเมืองใหญ่คือพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย ให้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน
.
แต่สถานการณ์การเมืองตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา มีความแปรปรวน สมาชิกที่ไม่มีความพร้อมจึงไม่ได้ส่งชื่อ มีเพียงพรรคเพื่อไทย 2 คนที่เดินทางไปด้วยกันคือ ศรัณย์ ทิมสุวรรณ ที่เราเห็นบทบาทชัดเจนว่าเป็นคนขับเคลื่อนสภาในพรรคเพื่อไทย และ พชร จันทรรวงทอง ที่เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นวิศวกรที่มีความเข้าใจเทคโนโลยีเป็นอย่างดี 
.
จึงคิดว่าการเลือกสรรบุคลากรไปในครั้งนี้ จะสามารถนำองค์ความรู้และภาคปฏิบัตินำกลับพัฒนาสภาได้ ส่วนอีก 2 คนที่ตนทาบทามคือพรรคภูมิใจไทย ไม่สามารถส่งรายชื่อมาในเวลาที่กำหนด

ทำให้สุดท้ายรายชื่อของคณะเดินทางปรากฏตามที่เป็นข่าว รวม 12 คน เป็นเจ้าหน้าที่สภา 4 คน
.
[ เหตุผลที่ต้องเดินทางคาบเกี่ยวช่วงเสาร์อาทิตย์ ]
.
ปดิพัทธ์กล่าวต่อว่า ด้วยภารกิจของตน จำเป็นต้องอยู่ในสภาเต็มเวลา คือวันจันทร์ถึงวันศุกร์ การจัดทริปแบบนี้จะปลอดภัยที่สุดตอนที่เรายังไม่รู้วาระการประชุม 

ถ้าประธานรัฐสภามอบหมายให้ต้องดำเนินการประชุมในวันพุธหรือพฤหัสบดี ตนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จึงเริ่มเดินทางในเย็นวันพฤหัสบดีและพร้อมดูงานในวันศุกร์ 
.
ดังนั้น การดูงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐสภาสิงคโปร์ การเยี่ยมคารวะ การติดต่อราชการ จะเกิดขึ้นในวันศุกร์และวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันทำการของสิงคโปร์

ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ เราติดต่อขอความช่วยเหลือในการประสานงานไปที่สถานทูตไทยในสิงคโปร์ สถานทูตจะเป็นคนจัดการให้เราไปดูงานในที่ต่างๆ 

ทั้งเรื่องการทำพิพิธภัณฑ์ เพราะสภากำลังจะมีพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเราต้องการให้เป็น interactive ส่งเสริมประชาธิปไตย และบอกเล่าเรื่องราวของประเทศได้เป็นอย่างดี 
.
รวมถึงการดูงานการจัดการฝุ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายในประเทศ มาตรการต่างๆ ที่ใช้บังคับ 

ซึ่งเราพบว่ากฎหมายต่างๆ ที่พรรคการเมืองเสนอเข้ามาในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 นั้น จะส่งเสริมเฉพาะ พ.ร.บ.อากาศสะอาด แต่ความจริงยังมีกฎหมายระหว่างประเทศอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ โรงงาน สิทธิของประชาชน 
.
[ พร้อมส่งรายงานดูงาน ถึงมือรัฐบาล พรรคการเมือง ภาคประชาชน ]
.
เราจะศึกษาให้รอบด้านและทำให้ผลการศึกษาส่งไปยัง 3 ส่วน คือ (1) รัฐบาลในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง (2) พรรคการเมืองต่างๆ ให้พิจารณาร่างกฎหมายแบบนี้ และ (3) ภาคประชาสังคม 

ซึ่งเราตั้งใจจะมีสภาสัญจรไปพบประชาชนที่สภาลมหายใจจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงเดือนตุลาคม จะเห็นได้ว่าทุกอย่างถูกกำหนดไว้ด้วยจุดประสงค์ รายละเอียด และผลลัพธ์ของการดูงาน สามารถชี้แจงต่อสาธารณะได้ 
.
“แน่นอนสิ่งที่เราเปิดเผยแบบนี้ ทำให้เกิดทั้งคำถามและการเปรียบเทียบไปสู่หน่วยงานอื่น ซึ่งผมคิดว่าแต่ละหน่วยงานมีภารกิจแตกต่างกัน 

จึงต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกหน่วยงาน แต่สิ่งที่เป็นธรรมกับประชาชน คือทุกหน่วยงานสามารถตรวจสอบได้ 

นี่เป็นความตั้งใจของเราในการทำ Open Parliament ดังนั้น เมื่อเดินทางกลับ ขอเวลาทำรายงาน และรายงานทั้งหมดจะเผยแพร่ต่อสาธารณะ รวมถึงค่าใช้จ่ายจริงที่ใช้ในการทำงาน” ปดิพัทธ์กล่าว
.
[ ไม่ใช่การใช้งบเคลียร์ท่อ ]
.
จากนั้นสื่อมวลชนสอบถามเพิ่มเติม ว่าเป็นการใช้งบประมาณแบบล้างท่อหรือไม่ ปดิพัทธ์กล่าวว่า งบประมาณที่ใช้ในการเดินทางครั้งนี้ ประมาณ 1 ล้านบาทเศษ 

ถ้าจะล้างท่อกันจริงๆ ตนน่าจะต้องไปประเทศที่ใช้จ่ายมากกว่านี้ ด้วยคณะที่ใหญ่กว่านี้ แต่การใช้งบประมาณเท่านี้ ไม่สามารถเรียกว่าเป็นการเคลียร์ท่อ เราวางแผนเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นเทอมการทำงาน ดูปัญหาภายในให้เรียบร้อย แล้วหาประเทศดูงาน จึงมาพอดีกันในเดือนนี้ 
.
เราไม่ได้คิดวันนี้แล้วจะไปพรุ่งนี้ การเตรียมงานเรื่องนี้ ตนสอบถามฝ่ายต่างประเทศว่าใช้เวลาสั้นที่สุดเท่าไร เจ้าหน้าที่บอกว่าประมาณ 1 เดือน ซึ่งย้อนไปถึงตอนนั้น

เราก็นึกว่าตอนนี้จะได้ กมธ. แล้ว แต่เมื่อเรื่องนี้ล่าช้า การทำงานของตนที่ตั้งไว้ก็เดินหน้าต่อ ทำให้ไม่สามารถทำตามแผนที่ตั้งใจไว้ 
.
ทั้งนี้ คณะทำงานนี้ก็ไม่ได้กำหนดสัดส่วนไว้ แต่ตนคิดว่าถ้ามีองค์ประกอบครบ 3 ส่วนในสัดส่วนที่เหมาะสม คือ ทีมรองประธานสภา ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ก็สามารถดำเนินการได้ ตอนนี้ทางสิงคโปร์เตรียมการไว้หมดแล้ว หากเลื่อนออกไปตอนนี้ ทุกคนก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่งคลังเอง 
.
“เรามั่นใจมากว่า เมื่อเปิดเผยแบบนี้การวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น แต่ผมทำทุกอย่างตามระเบียบทุกประการ จึงไม่กระทบต่อการเดินทางแน่นอน” ปดิพัทธ์กล่าว
.
[ ยืนยันนโยบายก้าวไกล ดูงานเท่าที่จำเป็น ]
.
เมื่อถูกถามถึงนโยบายของพรรคก้าวไกล ที่เสนอให้ลดงบประจำที่ไม่ใช่เงินเดือนของข้าราชการ เช่น การไปดูงานเมืองนอก โครงการอบรมสัมมนา โครงการที่ซ้ำซ้อน 

ปดิพัทธ์กล่าวว่า ยืนยันตามนโยบายเดิม การดูงานของประเทศไทยที่ผ่านมา ทั้งของหน่วยงานราชการ กรรมาธิการ หรือองค์กรอิสระ จะเห็นว่างบประมาณที่ใช้ในการอบรมสัมมนานั้นมหาศาล แต่ไม่สามารถตอบกลับมาเป็นผลสัมฤทธิ์ได้ บางหน่วยงานตอบไม่ได้เลยว่าดูงานในประเทศต่างๆ ดูทำไม ดูแล้วได้อะไร
.
“เราต้องตั้งคำถามถึงผลสัมฤทธิ์และนโยบายการไปดูงานของแต่ละหน่วยงาน ให้ประหยัด คุ้มค่า ไม่ใช่เป็นวัฒนธรรมการดูงาน แต่เป็นเป้าประสงค์การดูงาน

และคิดว่าเรื่องนี้ ผมเห็นตรงกันกับพรรคก้าวไกล คือดูงานเท่าที่จำเป็น สามารถตอบสังคมได้ และมี accountability 

ถ้าสิ่งที่ผมทำได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบแล้วสามารถพิสูจน์ได้ถึงผลลัพธ์ของการดูงาน ก็สามารถเปลี่ยนแปลงมาตรฐานของการดูงานของประเทศไทยได้” ปดิพัทธ์กล่าว
.
#หมออ๋อง

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่