การกินเจ ตามคำสอนขององค์พระมหาโพธิสัตต์เจ้า(พระแม่กวนอิม)


ศีลเจพรต เป็น “ศีลแห่งความเมตตา” ของ พระมหาโพธิสัตว์  หรือมีพระนามที่รู้จักกันทั่วไปว่า “พระแม่กวนอิม”  ที่มีพระเมตตาต่อสัตว์โลกทั้งหลาย โดยพระองค์ได้ทรงพิจารณาถึงความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับเหล่า สรรพสัตว์ อ่อนแอ หรือมีปัญญาด้อยกว่า มนุษย์ ผู้เป็นสัตว์อันประเสริฐด้วยประการทั้งปวง พระองค์จึงได้ทรงบัญญัติศีลเจพรตขึ้นเพื่อให้มีการละจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน โดยประทานข้อบัญญัตินี้ให้กับผู้ที่มีจิตศรัทธา เพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดผลของความเมตตาต่อตนเอง และต่อผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของธรรมชาตินับตั้งแต่ได้มีข้อบัญญัติของศีลเจพรตอุบัติขึ้นในโลก การสืบทอดศีลเจพรตก็ได้มีการปฏิบัติที่คลาดเคลื่อน ผิดไปจากข้อบัญญัติเดิมเช่นเดียวกัน หนังสือเล่มนี้จึงได้นำเอา ข้อบัญญัติที่ถูกต้อง มาเผยแพร่ เพื่อเป็นการชี้แนะและเป็นข้อพิจารณาเปรียบเทียบกับการปฏิบัติ ที่มีแพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ที่มีจิตศรัทธา และผู้ที่สนใจ ได้มีโอกาสศึกษาเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องและเกิดผลได้อย่างสมบรูณ์
            ปัจจัยที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ การปฏิบัติตนตามแนวของพระมหาโพธิสัตว์นี้ จะมีคุณประโยชน์ในด้านการเสริมสร้างสติปัญญาให้เกิดผลเพิ่มพูนขึ้นต่อผู้ที่ปฏิบัติตามหลักพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกรณีที่มีการรักษาศีลเจพรตหรือการปฏิบัติทำสมาธิตามหลักของพระมหาโพธิสัตว์เป็นส่วนประกอบอีกทางหนึ่งด้วย
คณะผู้จัดทำจึงได้มีการรวบรวมข้อบัญญัติของศีลเจพรตขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายดังนี้คือ.-
๑)    เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องของ การไม่เบียดเบียน
๒)  เพื่อทำความเข้าใจใน หลักการปฏิบัติของศีลเจพรตที่แท้จริง
๓)   เพื่อทำความเข้าใจใน การปฏิบัติด้านสมาธิจิต ตามแนวของพระมหาโพธิสัตว์
๔)   เพื่อให้เข้าใจถึง การพักกรรม ตามหลักของมหายาน และสามารถ    นำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้อย่างจริงจัง
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่มีความศรัทธาในพระมหาโพธิสัตว์และผู้ที่มีความสนใจในศีลเจพรตได้ศึกษาข้อเท็จจริง และพิจารณาปฏิบัติตามข้อบัญญัติศีลเจพรต คือละจากการเบียดเบียนเพื่อการเสริมสร้างเมตตาธรรม และให้บังเกิดผลในด้านสันติสุขต่อจิตวิญญาณของตนเองและผู้อื่น ตลอดจนเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายสืบต่อไป เพื่อการอยู่ร่วมกันในโลกนี้โดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันตามแนวทางของพระมหาโพธิสัตว์ ผู้มีพระเมตตาอันสูงส่งด้วยการอธิษฐานจิตอยู่คู่โลกเพื่อช่วยเหลือค้ำจุนสัตว์โลกทั้งปวง

             ในปีหนึ่งๆ ที่ผ่านไปนั้นเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายต้องตกเป็นอาหารของมนุษย์เราอย่างนับไม่ถ้วน  นั่นคือ  การเบียดเบียนเข่นฆ่าผู้ที่อ่อนแอกว่า โดยถือคตินิยมว่าเนื้อสัตว์เป็นอาหารที่มีรสชาดอันโอชะของปวงมนุษย์ ดังนั้นจึงเปรียบเสมือนกับว่า มนุษย์เราทุกๆ ผู้เป็นผู้ที่มีป่าช้าอยู่ในตัวเองทุกผู้ เพราะมีซากสัตว์ตกลงสู่กระเพาะของเราอย่างมากมาย ซึ่งนับว่าเป็นป่าช้าที่กว้างใหญ่ไพศาล ยิ่งกว่ามหาสมุทรที่ถมเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักเต็มและไม่มีขอบเขตจำกัด    ทั้งๆ ที่การเบียดเบียนสัตว์นี้เป็นเรื่องของการก่อหนี้กรรม ทั้งสิ้น เพราะหากยิ่งกินเนื้อสัตว์มากเท่าใดก็ยิ่งเพิ่มการประกอบกรรมมากขึ้น และจะเป็นเหตุให้เหล่าดวงวิญญาณของสรรพสัตว์ทั้งหลายมีความอาฆาตแค้นสะสมมากขึ้นเท่านั้น
มนุษย์เราทุกคนจึงควรที่จะทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ถึงเรื่องการเบียดเบียนและเรื่องจิตวิญญาณ  เพราะ มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายต่างก็มีจิตวิญญาณ  เช่นเดียวกัน ต่างกันแต่ว่ามนุษย์นั้นแสดงออกให้เห็นถึงความโลภ โกรธ หลง อย่างเด่นชัด และเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกยกย่องจากเหล่ามนุษย์ด้วยกันเองว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ กล่าวคือ มีสติปัญญา มีความรู้และความเฉลียวฉลาดที่จะสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการกระทำของแต่ละผู้ได้ ส่วนสัตว์ทั้งหลายนั้นถูกเรียกว่าสัตว์เดรัจฉาน เพราะ ขาดสติปัญญาในการพิจารณา ซึ่งเป็นข้อแตกต่างสำคัญที่ไม่เหมือนมนุษย์นั่นเอง
มนุษย์มีสมองในการที่จะพิจารณาเลือกการกระทำของตนเองได้ ซึ่งจิตวิญญาณของเหล่าสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายก็มีความต้องการเลือกการกระทำเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีโอกาสที่จะทำได้ และต้องปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมที่ได้กระทำไว้ตามกรรมของตน ในขณะที่มนุษย์เราทั้งหลายมีโอกาสจะประกอบกรรมดีหรือกรรมชั่วที่สามารถทำให้จิตวิญญาณได้ขึ้นสวรรค์ ลงนรก หรือหลุดพ้นจากวัฏสงสารได้  ซึ่งเท่ากับว่า มนุษย์เป็นผู้มีโอกาสเลือกการกระทำของตน
            ฉะนั้น มนุษย์จึงควรที่จะรักษาความประเสริฐและรักษาโอกาสของตนไว้โดยการ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท  และไม่เบียดเบียนสัตว์ เพราะการเบียดเบียนสัตว์นั้นเป็นการสร้างความอาฆาตพยาบาท ซึ่งมีผลผูกพันไปถึงครอบครัวและลูกหลานของเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายอีกส่วนหนึ่งด้วย เพราะมนุษย์เราไปพรากเขาจากครอบครัวที่มีสื่อสัมพันธ์ในด้านความรักและการสืบสายเลือดเช่นเดียวกับมนุษย์
 มนุษย์เราบางผู้อาจจะคิดว่าในเมื่อเรามิได้เป็นผู้ลงมือกระทำการเบียดเบียนชีวิตด้วยตัวเราเอง เราเพียงแต่เป็นผู้ไปซื้อเนื้อสัตว์มาประกอบเป็นอาหารเท่านั้นเราจะมีบาปด้วยหรือ ถ้าเป็นกรณีเช่นนี้ก็จงใช้สติปัญญาพิจารณาอย่างเป็นธรรมดูเถิดว่า การที่ผู้อื่นประกอบกรรมในการฆ่าสัตว์นั้น เขาก็ย่อมหวังที่จะทำการค้าโดยหวังผลกำไรจากการที่เราไปซื้อเนื้อสัตว์นั้นๆ      เพราะฉะนั้น  การที่เราไป  ซื้อเนื้อสัตว์ก็เท่ากับเราเป็นผู้ส่งเสริมให้มีการฆ่าสัตว์นั่นเอง  
 และหากแม้นเป็นกรณีที่ผู้อ่านบางท่านอาจอ้างว่าการซื้อเนื้อมาบริโภคโดยที่มิได้ลักขโมยมานั้นจะเป็นบาปด้วยหรือ ก็ขอให้เราได้พิจารณาต่อไปด้วยใจเป็นธรรมและมีความเป็นกลางอย่างแท้จริง โดยตรองให้ลึกซึ้งเถิดว่าเรานั้นเป็นผู้ที่ส่งเสริมการกระทำบาปให้เกิดขึ้นโดยทางอ้อมหรือไม่  หรือเรา เปรียบเสมือนเป็นผู้สั่งฆ่าหรือไม่    เพราะผู้ที่กระทำการฆ่าก็เปรียบเสมือนกับเพชฌฆาตที่เป็นลูกจ้างของผู้สั่งฆ่านั่นเอง ฉะนั้นผู้ที่เป็นเพชฌฆาตย่อมจะมีความผิดที่ต้องได้รับโทษอย่างมหันต์ และผู้ที่สั่งฆ่าก็ย่อมจะต้องมีความผิดด้วยเช่นเดียวกัน 
จงตรองดูเถิดว่าจิตวิญญาณของสัตว์ทั้งหลายก็มีความอาฆาตแค้น มีความผูกพันอยู่กับครอบครัวหรือสิ่งที่ตนรักและหวงแหน ก็ย่อมที่จะต้อง ตามล้างตามผลาญเพื่อชดใช้หนี้กรรมสืบต่อกันไป     ดังนั้นถึงแม้ว่ามนุษย์เราจะหลงติดอยู่ในรสชาดของเนื้อสัตว์ว่าเป็นอาหารอันโอชะและสามารถบำรุงร่างกายของมนุษย์ให้มีความเจริญเติบโตเพื่อให้เกิดมีพลังในการประกอบสัมมาอาชีพก็ตาม แต่มนุษย์เราพิจารณากันบ้างหรือไม่ว่า พืชผักที่มีอยู่มากมายเหลือคณานับอันเป็นสิ่งที่ไม่มีจิตวิญญาณ และไม่มีจิตอาฆาตแค้น ก็เป็นอาหารที่มีคุณค่าอย่างมหาศาลในการบำรุงร่างกายให้เจริญเติบโตได้เช่นเดียวกัน
ฉะนั้น มนุษย์เราจะนำพืชผักเหล่านี้มาเป็นอาหารเพื่อจะเป็นการทดแทนอาหารที่ทำขึ้นจากเนื้อสัตว์ไม่ได้เชียวหรือ  เพราะ การละจากการบริโภคเนื้อสัตว์ก็เป็นการหยุดก่อหนี้กรรม   และ หยุดการสะสมนำซากสัตว์เข้าสู่ป่าช้าในร่างกายของเรา   หากมนุษย์เราสามารถละจากการบริโภคเนื้อสัตว์ได้มากเท่าใดก็ยิ่งเป็นกุศลต่อตัวเราเองที่ไม่เบียดเบียนสัตว์มากเท่านั้น

หลักของการไม่เบียดเบียน
 ศีลของพระมหาโพธิสัตว์จะเป็นสิริมงคลต่อทุกๆ ผู้ที่ได้ละจากการเบียดเบียนเนื้อสัตว์เพื่อการถวายเป็นพุทธบูชา   เพราะการเบียดเบียนสัตว์นั้นเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจของจิต  ตามหลักศีลเจพรตของพระมหาโพธิสัตว์นั้น  
·       คำว่า “เจ” หมายถึง การไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน  
·       คำว่า “เบียดเบียน” คือ การกระทำต่อผู้อื่นในด้านจิตวิญญาณ   หรือเป็นการเข่นฆ่าเพื่อนำร่างกายมาเป็นอาหารหรือวัตถุประสงค์อื่นๆ และก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อสัตว์ทั้งหลายซึ่งหมายถึงผู้ที่มีจิตวิญญาณ มีความผูกพัน และมีความรักตัวกลัวตายเช่นกัน
·       การเบียดเบียน  ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีการ ตั้งใจ หรือ ไม่ตั้งใจ  คือ
-      ตั้งใจ  หมายถึง การกระทำด้วยความเต็มใจ  หรือสั่งให้ทำด้วย จิตที่มุ่งมั่น  ในการสั่งให้ทำ
-      ไม่ตั้งใจ  หมายถึง การกระทำที่ขาดเจตนาในการทำ หรือหากแม้นทำลงไปแล้วเกิดความเดือดร้อน  แต่ผลทั้งหลายก็ยังเบาบางอยู่บ้าง เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ตั้งใจ
              ในกรณีที่มีการทำบุญทำกุศลในการจัดทำอาหารเพื่อการถวายภัตตาหาร  โดยที่มีการกระทำที่ดีที่สุดที่เรียกว่าไม่มีการเบียดเบียน  แต่เกิดการเบียดเบียนชีวิตสัตว์เล็กๆ โดยที่มีความตั้งใจจะฆ่า หรือไม่เจตนาที่จะฆ่านั้น    พระมหาโพธิสัตต์ได้มีการกำหนดจิตอธิษฐานในข้ออภัยทานที่ถูกต้องไว้แล้ว
             ฉะนั้น สัตว์เล็กสัตว์น้อย เช่นมด หรือแมลงทั้งหลายที่เราไม่ได้มีเจตนาทำร้ายให้ตาย  แต่เป็นการกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือกระทำด้วยความปราณีตแล้ว  จงอย่าได้นำจิตไปผูกพันกับสิ่งที่เกิดขึ้น  และให้ถือเสียว่าเป็นวาระที่สัตว์เหล่านั้นหมดอายุขัย  จิตเราก็จะเกิดความสบายใจได้   และหากตั้งใจกระทำด้วยความปราณีตสืบต่อไป  เหตุทั้งหลายก็จะเกิดน้อยที่สุด
จุดเริ่มต้นของพระมหาโพธิสัตว์ที่อธิษฐานจิตอยู่คู่โลก คือ การสอนให้มนุษย์ไม่เบียดเบียนผู้ที่อ่อนแอกว่าโดยการไม่บริโภคเนื้อสัตว์เป็นอาหาร    และให้รู้ถึงบาป บุญ คุณ โทษ ที่เอาเนื้อเขามากินเพื่อบำรุงบำเรอความสุขของตน โดยที่มนุษย์ทั้งหลายตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาเองว่าหากมนุษย์เราขาดเนื้อสัตว์แล้วร่างกายจะเจริญเติบโตไปไม่ได้  แต่ครั้งดึกดำบรรพ์มานั้นมนุษย์เราทุกผู้ทุกนามก็อยู่กันมาแบบสัตว์ด้วยกันทุกผู้จนเกิดการพัฒนามาถึงขั้นที่เรียกตัวเองว่า สัตว์ประเสริฐ และเรียกสรรพสัตว์ทั้งหลายว่า สัตว์เดรัจฉาน
            ในความจริงแล้วเราก็เป็น สัตว์โลก ด้วยกันทั้งสิ้น แต่มนุษย์เรามีการพัฒนาตัวเองให้สูงขึ้นกว่าสัตว์ทั้งหลาย  คือมีมันสมองเพื่อนำมาใช้ในทางที่ถูกที่ควรก็ดี  เพื่อการยังชีพอยู่ก็ดี หรือแม้แต่เพื่อการข่มเหงรังแกผู้อื่น และเป็นปัญหาต่างๆ ขึ้นมา  จนกลายเป็นที่ยอมรับกันอย่างผิดๆ ว่าสัตว์ประเสริฐสามารถรังแกสัตว์เดรัจฉานที่มีสติปัญญาด้อยกว่า หรือมีกำลังน้อยกว่า  หรือในบางโอกาสสัตว์เดรัจฉานอาจจะมีกำลังมากกว่าแต่ก็ย่อมแพ้ภัยต่อผู้มีปัญญาเหนือกว่าฉันใดฉันนั้น
 พระมหาโพธิสัตว์ได้บัญญัติว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ที่มีความอ่อนแอด้วยสติปัญญาก็ดี หรือด้วยกำลังก็ดี  มนุษย์เราจึงควรจะ มีเมตตาจิต ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเนื้อสัตว์มาบริโภคเป็นอาหาร  เพราะเนื้อสัตว์แต่ละชิ้นก็เปรียบเสมือนเนื้อมนุษย์แต่ละชิ้น เช่นเดียวกัน  จงลองพิจารณาดูว่าหากเราเสียขาไปข้างหนึ่งเราจะมีความเสียดายอาลัยอาวรณ์หรือไม่  เพราะขาข้างนั้นก็มีเนื้อของเราติดอยู่ เช่นกัน
            หากมนุษย์เราเข้าใจถึงการเปรียบเทียบนี้เราก็จะสามารถมองเห็นทุกข์ของตัวเองว่า  การเบียดเบียนผู้อื่นผู้นั้นย่อมมีทุกข์  เราเบียดเบียนเขาจิตของเราก็ย่อมมีทุกข์   แต่หากเรา  ละจากการเบียดเบียนได้ จิตของเราก็จะผ่องใส ไม่มัวหมอง ไม่ติดอยู่ในกิเลสของการเข่นฆ่าเบียดเบียนซึ่งกันและกัน อันจะเป็นอานิสงส์บารมีเกิดขึ้นที่จิต เพราะหากจิตของเราสะอาดคือไม่เบียดเบียนผู้อื่น หรือไม่เบียดเบียนตนเอง จิตของเราก็มิต้องไปกังวลถึงบาป บุณ คุณ โทษ   ก็ย่อมที่จะได้ประโยชน์ ได้บุญกุศลกับผู้อื่นและกับตนเองอย่างแน่นอน
            ผู้ที่ยังติดรสการบริโภคเนื้อสัตว์   คือยังต้องการที่จะกินเนื้อ สัตว์อยู่นั้น อาจ  มีจิตที่เข้าข้างตัวเอง  และค้านขึ้นมาว่ากินเข้าไปแล้วก็ไม่เห็นมีโทษอะไร เวลากินก็อร่อย แล้วจะไปเกิดความสังเวชตามที่กล่าวมานี้ได้อย่างไร    นี่คือจิตของผู้ที่ มิได้มีการพิจารณาถึงบาป บุญ คุณ โทษ เลย  และ  มัวแต่คำนึงถึงความต้องการในรสอร่อยที่ตนพอใจ   แต่เพียงฝ่ายเดียว โดย ไม่ยอมรับรู้ในความทุกข์ของผู้อื่น ซึ่งจิตของผู้ที่มิได้มีการประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ในขั้นกลางหรือขั้นสูงจะมีลักษณะเช่นนี้  เพราะ ผู้ที่มีจิตขั้นกลางจะเกิดความสังเวชต่อเนื้อสัตว์ ที่ตนกินเข้าไป และบางโอกาสก็มีความเพิกเฉย นั่นก็คือ ไม่เห็นถึงความเอร็ดอร่อยของเนื้อสัตว์ ที่จะบำรุงบำเรอกระเพาะและลิ้นของตน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่