เรื่องราวของผู้กองเบนซ์ มีบทเรียนธรรมะที่น่าเรียนรู้ข้อใดบ้าง

ผู้กองเบนซ์นี่เป็นบุคคลที่ออกสื่อหรือมีชื่อเสียงทางสาธารณะมาได้ซักระยะนึงแล้ว เป็นผู้ชอบนำธรรมะและข้อคิดดีๆมากมายมาเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ต่างๆซึ่งสามารถทำให้ผู้ฟังหลายคนเกิดปัญญาในการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดี

   ก่อนหน้านี้ก็มีบทความที่ผู้ฟังชื่นชอบอยู่หลายบทความ มีผู้ติดตามจำนวนมากมาย แต่แล้วผู้กองก็มาพลาดเรื่องโควิด เพราะได้พูดเรื่องนี้ออกไปด้วยถ้อยคำที่ไม่สุภาพนักและเป็นคำพูดที่กระทบกระทั่งจิตใจคนจำนวนมาก ถึงแม้ว่าคำพูดของผู้กองนั้นมีเจตนาดีนั้น แต่ด้วยคำพูดที่ไม่สุภาพก็ทำให้หลายคนไม่ชอบไม่พอใจในคำพูดของผู้กอง บางคนก็รู้สึกไม่อยากฟังคำสอนจากผู้กองเบนซ์อีก

   ตรงนี้หลายคนก็ควรทำความเข้าใจว่า มนุษย์ทั่วไปก็มีข้อผิดพลาดกันได้ทั้งนั้น ดั่งสุภาษิตอยู่ประโยคนึงที่ว่า 
4 เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
   แม้แต่บุคคลที่เป็นระดับนักปราชญ์ก็สามารถมีข้อผิดพลาดไปบ้าง แต่นักปราชญ์ก็มีข้อดีและคุณประโยชน์ก็มีมากมาย ให้เรารู้จักมองด้านที่เป็นข้อดีและเป็นประโยชน์ของเขา ก็จะมีผลดีต่อทั้งตัวเราและเขาเอง
   เหมือนดั่งกลอนของท่านพุทธทาสที่ว่าไว้ดังนี้
   เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา 
จงเลือกเอา ส่วนดี เขามีอยู่ 
เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู 
ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย 
   จะหาคน มีดี อยู่ส่วนเดียว 
อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย 
เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเอย 
ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริงฯ

   มนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ก็มีข้อผิดพลาดมีข้อเสียกันได้ทั้งนั้น ให้เรามองหาข้อดีของคนอื่นๆในแง่บวกดีกว่า เราก็จะมีความสุขใจไปเอง

   ในพุทธกาลก็มีเรื่องหนึ่งที่พระสารีบุตรไม่สามารถจะสอนกรรมฐานให้ลูกศิษย์ของท่านเองบรรลุธรรมได้ ต้องให้พระพุทธเจ้าช่วยสั่งสอนจนลูกศิษย์ของพระสารีบุตรได้บรรลุธรรม
    เหตุการณ์สั้นๆมีใจความดังนี้
   บุตรของนายช่างทองคนหนึ่ง มีรูปงาม ได้บวชในสำนักของพระสารีบุตรเถระ โดยมีพระสารีบุตรเถระเป็นพระอุปัชฌาย์ พระสารีบุตรเถระคิดว่า ภิกษุรูปนี้เป็นคนหนุ่มมีราคะหนา จึงได้ให้อสุภกัมมัฎฐานแก่ภิกษุรูปนี้ไปปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ
   ภิกษุบุตรนายช่างทองเข้าสู่ป่าเพียรพยายามปฏิบัติอสุภกรรมฐาน ๓ เดือน ก็ไม่สามารถทำจิตให้แน่วแน่ ในครั้งที่ ๒ พระสารีบุตรจึงบอกกรรมฐานให้ดีขึ้นอีก ก็ยังไม่สามารถทำคุณวิเศษอะไรๆ ให้เกิดขึ้นได้ พระสารีบุตรจึงบอกกัมมัฏฐานให้มีเหตุมีอุปมา ภิกษุก็ทำไม่สำเร็จอีก 
   พระสารีบุตรคิดว่า ภิกษุนี้เป็นผู้ทำความเพียร มิใช่เป็นผู้ไม่ทำ เป็นผู้ปฏิบัติ มิใช่เป็นผู้ไม่ปฏิบัติ แต่เพราะพระสารีบุตรไม่รู้อัธยาศัยของภิกษุ ภิกษุนี้จึงเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าพึงแนะนำ 
   พระศาสดาตรัสกับพระสารีบุตรว่า อาสยานุสยญาณย่อมมีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงเห็นอัตภาพ ๕๐๐ ของภิกษุที่เคยเกิดในตระกูลช่างทอง อสุภปฏิกูลกัมมัฏฐานไม่เหมาะแก่ภิกษุหนุ่มนี้ กัมมัฏฐานที่พอใจเท่านั้นจึงจะเป็นกัมมัฏฐานที่สบาย 
   พระศาสดาทรงนิรมิตดอกปทุมทอง แล้วให้ภิกษุนำดอกปทุมนี้ไปปักไว้ที่กองทรายที่ท้ายวิหาร นั่งขัดสมาธิหันหน้าไปทางดอกบัว แล้วบริกรรมว่า สีแดง สีแดง ภิกษุเมื่อได้รับดอกบัวมามีใจเลื่อมใส นั่งขัดสมาธิและบริกรรมว่า สีแดง สีแดง นิวรณ์ทั้งหลายได้ระงับในขณะนั้นนั่นเอง อุปจารฌานบังเกิดขึ้น ท่านยังปฐมฌานให้เกิดขึ้นในลำดับแห่งอุปจารฌานนั้น ถึงความเป็นผู้ชำนาญโดยอาการ ๕ บรรลุฌานทั้งหลาย 
   พระศาสดาทรงทราบว่าฌานทั้งหลายเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นแล้ว และภิกษุนี้ไม่สามารถทำคุณวิเศษอันยิ่งให้เกิดขึ้นตามธรรมดาของตน จึงทรงอธิษฐานให้ดอกปทุมนั้นเหี่ยวแห้งอย่างฉับพลัน เมื่อภิกษุนั้นเห็นดอกปทุมเหี่ยวแห้งมีสีดำเช่นนั้น รำพึงว่า ดอกปทุมนี้ถูกชรากระทบได้ แม้เมื่ออนุปาทินนกสังขารชรายังครอบงำได้อย่างนี้ ชราคงจักครอบงำอุปาทินนกสังขารเช่นกัน ท่านเห็นอนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ และอนัตตลักษณะ ภพ ๓ ปรากฏแก่ท่านดุจไฟติดทั่ว และดุจซากศพอันบุคคลผูกไว้ที่คอ
   พระศาสดาทรงทราบว่า บัดนี้ กัมมัฏฐานปรากฏแก่ภิกษุแล้ว ทรงเปล่งพระรัศมีไปกระทบหน้าของภิกษุนั้น ประหนึ่งว่าเสด็จมาประทับยืนอยู่ตรงหน้า แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า 
เธอจงตัดความเยื่อใยของตนเสีย เหมือนบุคคลถอนดอกโกมุทที่เกิดในสารทกาลด้วยมือ จงเจริญทางแห่งสันติทีเดียวเพราะพระนิพพาน อันพระสุคตแสดงแล้ว
   ในกาลจบพระธรรมเทศนา ภิกษุรูปนั้นตั้งอยู่ในพระอรหัตตผล

   จะเห็นได้ว่า แม้ขนาดผู้ทรงคุณธรรมชั้นสูงมีปัญญาเป็นเลิศก็ย่อมมีข้อผิดพลาดในการสั่งสอนธรรมได้ บุคคลที่จะไม่มีข้อผิดพลาดในการสั่งสอนธรรมมีอยู่บุคคลเดียว คือ พระพุทธเจ้าเท่านั้น

   เรื่องของผู้กองเบนซ์นั้น เข้าใจอยู่ว่าคำพูดคำเตือนของผู้กองเบนซ์นั้นเพื่อต้องการสั่งสอนและผลักดันให้คนลุกขึ้นสู้ในช่วงโควิด แต่คำพูดนั้นไม่สามารถที่จะสอนคนได้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ไม่สามารถจะผลักดันคนได้ทุกคน เพราะต้นทุนของคนที่เกิดมาทุกคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนก็เอาตัวรอดได้ในช่วงโควิด บางคนก็ไม่สามารถเอาตัวรอดได้เพราะขาดต้นทุนเดิมที่จะเอาตัวรอด มิเช่นนั้นก็คงไม่มีใครฆ่าตัวตายเพราะผลกระทบจากโควิด 19 หรอก เพราะหลายคนไม่รู้จะเอาตัวรอดยังไงจริงๆ

   มนุษย์เดินดินทั่วไปย่อมมีข้อผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดาเป็นปกติ อยู่ที่ว่าเมื่อผิดพลาดแล้ว ได้รู้จักแก้ไขในสิ่งที่ตัวเองได้ทำผิดพลาดมั้ย 
   หากเป็นผู้รู้จักแก้ไขข้อผิดพลาดของตนเอง ก็เป็นผู้ที่น่าให้อภัยและน่ายกย่อง

   อีกอย่างเรื่องของการผูกใจเจ็บ หรือเก็บความไม่พอใจต่อใครไว้นานๆก็ไม่ใช่เรื่องดี เพราะนั้นเท่ากับว่าได้เก็บสิ่งที่เป็นอกุศล สิ่งที่ไม่ดีไว้ในใจ ทำให้ใจเราเศร้าหมอง ไม่มีความสุข อย่างไหนปล่อยวางได้ก็ปล่อยวางไป คิดว่าผู้พูดมีเจตนาดี อาจจะผิดพลาดไปบ้าง พอให้อภัยกันได้ก็ให้อภัยไป จะทำให้เราถูกปลดล็อคจากความทุกข์ ความไม่พอใจได้ ใจเราก็จะพบความสุขสงบ สุขภาพจิตก็จะดีตามไปด้วย
   และทานที่มีอานิสงส์มากในหลักพระพุทธศาสนานั้นคือ อภัยทาน หากใครให้อภัยผู้ที่เคยทำให้เรารู้สึกโกรธ รู้สึกไม่พอใจ นั้นถือว่าเป็นบุญอย่างยิ่ง และได้รับผลคือ ความสุขอย่างยิ่ง
“โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ” แปลว่า “ฆ่าความโกรธได้แล้วย่อมเป็นสุข”

   หลายคนคงเห็นแล้วว่าการพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไม่สุภาพ มีโทษอย่างไรบ้าง 
   ในพระพุทธศาสนามีหลักธรรมแห่งการพูดให้ได้ประพฤติปฏิบัติตาม คือ มงคลชีวิตข้อที่ 10 มีวาจาเป็นสุภาษิต
วาจาสุภาษิต หมายถึง คำพูดที่ผู้พูดได้กลั่นกรองไว้ดีแล้วด้วยใจที่ผ่องใส
   เพราะฉะนั้นเราจะพูดอะไร ก็มิใช่สักแต่พูด ต้องรู้จักใช้ปัญญาพิจารณาตามด้วย
องค์ประกอบของวาจาสุภาษิต
๑.ต้องเป็นคำจริง ไม่ใช่คำพูดที่ปั้นแต่งขึ้น เป็นคำพูดที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่บิดเบือนจากความจริง ไม่เสริมความ ไม่อำความ ต้องเป็นเรื่องจริง 
๒.ต้องเป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดไพเราะ ที่กลั่นออกมาจากน้ำใจที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นคำหยาบ คำด่า คำประชดประชัน คำเสียดสี คำหยาบนั้นฟังก็ ระคายหู แค่คิดถึงก็ระคายใจ
๓.พูดแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ เกิดผลดีทั้งแก่คนพูดและคนฟัง ถึงแม้คำพูดนั้นจะจริงและเป็นคำสุภาพ แต่ถ้าพูดแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร กลับจะทำให้เกิดโทษ ก็ไม่ควรพูด
๔.พูดด้วยจิตเมตตา พูดด้วยความปรารถนาดี อยากให้คนฟังมีความสุข มีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ในข้อนี้หมายถึงว่า แม้จะพูดจริง เป็นคำ สุภาพ พูดแล้วเกิดประโยชน์ แต่ถ้าจิตยังคิดโกรธมีความริษยาก็ยังไม่สมควรพูด เพราะผู้ฟังอาจรับไม่ได้ ถ้วยคำที่กล่าวด้วยจิตขุ่นมัว แม้เพียงประโยคเดียวอาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงอย่างไม่อาจประมาณได้
๕.พูดถูกกาลเทศะ แม้ใช้คำพูดที่ดี เป็นคำจริง เป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดที่มีประโยชน์ และพูดด้วยจิตที่เมตตา แต่ถ้าผิดจังหวะ ไม่ถูกกาลเทศะ ผู้ฟังยังไม่พร้อมที่จะรับแล้ว จะก่อให้เกิดผลเสียได้ เช่น จะกลายเป็นประจานหรือจับผิดกันไป
- พูดถูกเวลา (กาล) คือรู้ว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหนยังไม่ควรพูด ควรพูดนานเท่าไร ต้องคาดผลที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย
- พูดถูกสถานที่ (เทศะ) คือรู้ว่าในสถานที่เช่นไร เหตุการณ์แวดล้อม เช่นไรจึงสมควรที่จะพูด หากพูดออกไปแล้วจะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร
เช่น มีความหวังดีอยากเตือนเพื่อนไม่ให้ดื่มเหล้า แต่ไปเตือนขณะเพื่อนกำลังเมาอยู่ในหมู่เพื่อนฝูงทำให้เขาเสียหน้า อย่างนี้นอกจากเขาจะไม่ฟังแล้ว เราเองอาจเจ็บตัวได้
“คนฉลาดไม่ใช่เป็นแต่พูดเท่านั้น ต้องนิ่งเป็นด้วย
คนที่พูดเป็นนั้น ต้องรู้ในสิ่งที่ไม่ควรพูดให้ยิ่งกว่าสิ่งที่ควรพูด”

สรุปว่า เรื่องของผู้กองเบนซ์ทำให้เราได้คำสอนที่ดีๆอยู่ 2-3 เรื่อง การรู้จักมองคนในแง่ดี รู้จักให้อภัยทาน และการกล่าววาจาที่เป็นสุภาษิต ถ้าใครสามารถนำหลักธรรมเหล่านี้ไปประพฤติปฏิบัติได้ ก็จะช่วยให้คลี่คลายจากความทุกข์ใจไดัมาก และพบกับความสุขได้ง่ายๆ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่