JJNY : อนุดิษฐ์ขอแรงสนับสนุนเปิดสภาถกแก้วิกฤต/กมธ.รธน.รับฟังม.ขอนแก่น/สธ.แถลงพบเพิ่ม32ราย/เซียนมวยผวา คนดูป่วยแล้ว 22คน!

‘อนุดิษฐ์’ ขอแรงสนับสนุนจากส.ส.-ส.ว. เปิดสภาถกแก้วิกฤติไวรัสโควิด-19 ยันจะคุยแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ให้ประชาชน 
https://www.matichon.co.th/politics/news_2056689
 

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกมาคัดค้านการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อหารือแนวทางการแก้วิกฤติของประเทศ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่ฝ่ายรัฐบาลย่อมต้องกลัวการถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่อยากให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของฝ่ายค้านที่ต้องการใช้เวทีรัฐสภาในการระดมความคิดเห็นร่วมกันเพื่อหาทางออกจากวิกฤตต่างๆ ขณะนี้ พรรคพท.ร่างญัตติขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเอาไว้เรียบร้อยแล้ว และตั้งแต่วันจันทร์ ที่ 16 มีนาคมเป็นต้นไป จะนำญัตติดังกล่าวไปขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาทุกคน เพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนอย่างน้อย 1 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาคือประมาณ 246 เสียง ซึ่งลำพังเสียงของฝ่ายค้านมีไม่พออยู่แล้ว จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกคน หากครบถ้วนก็จะสามารถเปิดประชุมได้ จึงหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายในการลงชื่อเพื่อขอเปิดประชุมครั้งนี้
 
ผมหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจาก ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.ทุกท่าน ในการร่วมแรงร่วมใจกันใช้เวทีสภาคลี่คลายวิกฤติของชาติ 4 เรื่อง คือ การหามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การแก้ปัญหาภัยแล้ง การแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน รวมทั้งปัญหาการชุมนุมของนักศึกษาที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญสร้างประชาธิปไตยให้ประเทศ” น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว
 
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ขณะนี้พบว่ามีผู้ป่วยสูงขึ้นทุกวัน และมีการแพร่ระบาดในหมู่คนไทยด้วยกันเองแล้ว พวกเราในฐานะสมาชิกรัฐสภาที่มาจากประชาชน จึงจำเป็นต้องหันหน้ามาพูดคุยกันว่าจะมีส่วนสนับสนุนอย่างไรให้รัฐบาลสามารถพาคนไทยรอดจากวิกฤติในครั้งนี้ไปได้ โดยใช้รัฐสภาเป็นเวทีเสนอทางออกตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ตนขอยืนยันด้วยเกียรติของฝ่ายค้านว่า หากมีเสียงสนับสนุนเพียงพอในการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ การอภิปรายของฝ่ายค้านจะมีแต่เนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเท่านั้น ส่วนเรื่องวิวาทะหรือการสร้างวาทกรรมจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นขอให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลสบายใจได้ว่าจะไม่ใช่เวทีโจมตีรัฐบาลอย่างเด็ดขาด
 

 
กมธ.รธน.รับฟัง ม.ขอนแก่น แนวทางแก้รัฐธรรมนูญ
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2056595
 
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคแระชาชาติ(ปช.) และนายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้เดินทางมารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ณ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นเวทีการถกแถลงเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลในเวทีดังกล่าวประชาชนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนี้
 
1. ควรมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน หรือ สสร.ที่ต้องอาศัยมติมหาชน หรือการทำประชามติว่าควรแก้ หรือไม่ควรแก้ รธน .60เพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง การร่างรัฐธรรมนูญต้องเกิดจากการมีส่วนรวมของประชาชนทุกภาคส่วน
 
2. ปัญหาการได้รับความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะด้อยกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 แม้ตามมาตรา 4 ของรธน.60 ได้ซ่อนเร้นแตกต่างจากฉบับที่ผ่านมา ที่มีเพิ่มเติม “ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน” ที่เห็นว่ารธน.60 ไม่ได้คุ้มครองเนื่อง ความมั่นคงของรัฐ เป็นข้อยกเว้น จำกัดสิทธิเสรีภาพ และ พ.ร.บ. ที่ออกตามมา เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื้อหาก็เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่นกัน
 
3. มาตรฐานการคำนวณสมาชิกแบบระบบบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เช่น พรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่า 70,000 คน มีจำนวน 11 พรรค ในขณะที่พรรคที่มีคะแนนมากกว่าแต่กลับไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ หรือกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่โดยกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมืองจำนวน 10 คน คะแนนดังกล่าวหายไปไหน เป็นต้น
 
4. การให้ ส.ส. มีเอกสิทธิ์ลงคะแนนโดยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามติพรรคการเมืองเป็นช่องทางในการขายเสียงหรือการต่อรองผลประโยชน์ ในขณะเดียวกัน ส.ส. ที่ฝ่าฝืนมติพรรคก็สามารถหาพรรคการเมืองใหม่สังกัดได้ภายใน 30 วัน เป็นการทำลายระบบพรรคการเมืองให้อ่อนแอลง
 
5. ปัญหาการเปิดโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้ดุลพินิจในการตีความกฎหมายที่ค่อนข้างกว้าง
 
6. สมาชิกวุฒิสภาควรมาจากการเลือกตั้ง
 
7. ยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม
 
8. ควรยุติบทบาทของวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจวุฒิสภาในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีจากสภาผู้แทนราษฎร รวมไปถึงการยุติบทบาทขององค์กรอิสระอื่นๆ ที่สรรหาแต่งตั้งโดย คสช. อันเป็นกลไกที่ใช้ในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามในทางการเมืองและเพื่อการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล
 
9.ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ
 
10.ควรมีระบบการตรวจสอบคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาล ควรจะมีเป็นหลักประกันเรื่องความยุติธรรม
 
11. ในประเด็นเรื่องความสามัคคีของคนในชาติ ที่รัฐรธน.บัญญัติที่เกี่ยวกับศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนความเชื่อทางศาสนาเป็นเรื่องความศรัทธา หลักการศาสนาทุกศาสนาควรเสมอภาคเท่าเทียมกัน
 
อนึ่ง เมื่อได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในเวทีดังกล่าวแล้วนั้น คณะอนุกรรมาธิการจะรวบรวมประเด็นต่าง ๆ นำเสนอให้คณะกรรมาธิการเพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรธน.60 ต่อไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่