ลดการสูญเสีญ 7 ประการ เพื่อเพิ่มความ Productive

Productive คำนี้คงพอคุ้นหูกันมาบ้างใช่มั้ยครับ ยิ่งถ้าเป็นคนที่ชอบอ่านบทความพัฒนาตัวเองด้วยแล้ว คำว่า Productive หรือการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ คงจะคุ้นชินเป็นอย่างดี เพราะการทำงานอย่าง Productive เป็นเรื่องที่ไม่ว่าอาชีพไหน ทำงานด้านใด ก็ต่างต้องการ เพราะเราคงไม่อยากทำงานมากแต่ได้ประสิทธิภาพที่น้อยแน่ๆ และการที่เราจะทำอะไรให้ได้ประสิทธิภาพก็ต้องจำเป็นลดสิ่งไม่จำเป็นหรือการทำอะไรที่สูญเปล่าทิ้งไป
ซึ่งการลดสิ่งที่สูญเปล่าหรือสิ่งไม่จำเป็นนั้นไปตรงกับ 7 Waste หลักการคิดของ Toyota ที่ผมได้อ่านเจอพอดี

7 Waste หรือ การสูญเปล่า 7 ประการ เป็นหลักคิดของ Toyota ที่ใช้ลดความสูญเสียที่ซ่อนในกระบวนการผลิต ได้แก่

1. ความสูญเสียจากการผลิตมากเกินไป (Over Production Waste)
- การผลิตสินค้ามาเกินความจำเป็น และผลิตไว้ล่วงหน้า ทำให้เสียแรงและเสียเวลา เสียพื้นที่ในการจัดเก็บ

2. ความสูญเสียเนื่องจากการเก็บวัสดุคงคลัง (Inventory)
- การซื้อวัสดุมาเก็บไว้ครั้งละมากๆ เพราะคิดว่าจะมีวัสดุสำหรับผลิตได้ตลอดเวลา หรือเพื่อให้ได้ส่วนลดจากการซื้อ ส่งผลให้มีวัสดุคงคลังมากจนเกินความต้องการใช้

3.ความสูญเสียเนื่องจากการขนส่ง (Transportation)
- การขนส่งที่มากเกินจำเป็นไม่ทำให้เกิดมูลค่า จึงต้องลดขั้นตอนการขนส่งลงไป ให้เหลือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อลดต้นทุนในการขนส่งที่ไม่ทำให้เกิดประโยชน์

4.ความสูญเสียเนื่องจากการเคลื่อนไหว (Motion)
- การทำงานในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเดิมๆซ้ำๆ ทำให้เกิดความเมื่อยล้าให้แก่ร่างกาย จนเกิดความล่าช้าในการทำงาน เป็นการทำให้สูญเสียเวลา เนื่องระยะทางในการเคลื่อนไหว

5.ความสูญเสียเนื่องจากกระบวนการผลิต (Processing)
- กระบวนการผลิตที่ทำซ้ำๆกันในหลายขั้นตอน ซึ่งไม่จำเป็นเลย เพราะมันไม่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับผลิตภัณฑ์ อาจทำให้เกิดจุดที่เป็นคอขวดของสายการผลิต ทำให้เสียเวลาในการในการเตรียมและการผลิตที่ไม่จำเป็น

6.ความสูญเสียเนื่องจากการรอคอย (Delay)
- การรอคอยนื่องจากเครื่องจักรหรือพนักงานต้องหยุดการทำงานเนื่องจากเหตุและปัจจัยที่จำเป็นต่อการผลิต เช่น รอคอยวัตถุดิบ ทำให้เกิดความล่าช้าในการผลิต ส่งผลทำให้มีผลกระทบในการส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้า

7.ความสูญเสียเนื่องจากการผลิตของเสีย (Defect)
- สินค้าผลิตออกมาผิดจนทำให้กลายเป็นของเสีย สินค้าถูกโดนนำไปแก้ไขใหม่หรือถูกนำไปกำจัดทิ้ง ทำให้เกิดการสูญเสีย เนื่องจากการผลิตของเสียขึ้น จึงเกิดการสูญเสียต้นทุนวัตถุดิบ เครื่องจักร แรงงาน ไปโดยเปล่าประโยชน์

ซึ่งพอเราเอา 7 Waste มาจับรูปแบบการทำของเรา ก็จะเห็นได้ชัดเจนครับว่าเรานั้นทำอะไรที่สูญเปล่าในการทำงานแต่ละขั้นตอนบ้าง ตัวอย่างในกรณีของผม

Over Production Waste ของผมคือการหาข้อมูลเยอะเกินไป ในการเขียนแต่ละบทความ ผมหาข้อมูลสะเปะสะปะโดยไม่ตั้งโจทย์ไว้ก่อนว่าจะเขียนอะไร พอไม่รู้จะเขียนอะไรก็อ่านมั่วซั่วไปหมดทำให้เสียเวลาและไม่เกิดประโยชน์

Inventory ของผมคือผมชอบทดลองโปรแกรมและซื้อ Tool ต่างๆ ไว้ เพื่อจะเอาใช้พัฒนารูปแบบการทำคอนเท้นต์ต่างๆ ผมมีโปรแกรมสร้างเกมส์ แต่งเพลง แต่งรูป แต่งภาพ เต็มเครื่องไปหมด แต่พอใช้ทำงานจริงๆ กลับใช้แค่แต่งรูปกับตัดต่อวิดีโอ ( ทุกวันนี้ยังทำบีทเพลงได้แค่ 1 ห้อง กับทำเกมส์ได้แค่ 10 วินาทีอยู่เลย ฮ่าๆ )

Transportation ด้วยอาชีพที่ทำงานแต่หน้าคอม ปัญหาการเดินทางของผมคงต่างจากอาชีพทั่วๆไป อาชีพอื่นปัญหาในการ Transportation คือการเสียเวลากับรถติดหรือการไม่วางแผนก่อนเดินทาง แต่สำหรับผม ผมเสียเวลาไปกลับการเดินหาซื้ออะไรกิน ผมใช้เวลาเดินไปและเดินกลับ 7-11 ประมาณ 15-20 นาที ต่อรอบ ทำแบบนี้ 3 รอบ เช้า กลางวัน เย็น เท่ากับผมหมดเวลาไป 1 ชั่วโมงต่อวันกับการเดินไป 7-11 ถ้าผมซื้อของมารวดเดียวตอนเช้าตุนไว้ถึงเย็น ผมจะมีเวลาเพิ่มขึ้นในการทำงานอีก 40 นาที

Motion : คนทำงานออฟฟิศน่าจะเจอปัญหาเดียวกัน คือ การนั่งท่าเดิมนานๆ ทำให้เมื่อยหลัง เมื่อยคอ ยิ่งนั่งนานๆโดยไม่ลุกขึ้นมาพักด้วยแล้วจะยิ่งเมื่อยหนัก เมื่อรู้สึกเมื่อยล้าแน่นอนว่าส่งผลต่อการทำงานแน่นอน

Processing: สำหรับผมยังไม่มีโปรแกรมเดียวที่ตอบโจทย์การทำงานได้ทั้งหมด ทำให้ต้อง เปิดๆปิดๆ โปรแกรมสลับไปมาในการทำงานแต่ครั้ง ซึ่งทำเสียเวลามากๆ

Delay : สำหรับการสูญเปล่าข้อนี้สำหรับผมไม่เกี่ยวกับเครื่องจักรแต่เป็นตัวผมเองที่ชอบทำอะไรตามอารมณ์ บางที Feel ไม่มาก็ไม่อยากทำ ช่วงไหนขี้เกียจก็จะขี้เกียจจนไม่ทำอะไรเลย

Defect: หลายครั้งที่รีบเขียน รีบอัดเสียง รีบทำวิดีโอ เกินไป โดยเอาเร็วเข้าว่าไม่ทำให้ละเอียดก่อน พอตรวจงานตัวเองซ้ำ เห็นถึงความชุ่ยจนต้องลบทิ้ง ( บทความนี้เขียนตั้งแต่เมื่อคืน ด้วยความรีบทำให้ไม่ได้ดราฟเอาไว้ก่อน พอกดรีเฟรชไอ้ที่เขียนไว้ก็หายเรียบจนต้องมานั่งเขียนใหม่อีกรอบในเช้านี้ )
จะเห็นได้ว่าพอเอา 7 Waste มาจับการทำงานแล้วจะเห็นความสูญเปล่าที่เกิดในแต่ละขั้นตอนเต็มไปหมด ( ซึ่งก่อนจะเขียนบทความนี้ผมก็ไม่เคยนึกเหมือนกันว่าตัวเองจะทำอะไรสูญเปล่าเยอะขนาดนี้ ฮ่าา ) ซึ่งพอเราลดการสูญเปล่าในแต่ละขั้นตอนได้ก็จะทำให้เราทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือเรียกว่า Productive นั่นเองครับ

ผมหวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับคุณบ้างไม่มากก็น้อย ถ้าคุณชอบอ่านอะไรที่ สาระบ้าง ไร้สาระบ้าง ก็ติดตามกันได้ ที่นี่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่