คำบูชา สรรเสริญพระคุณ พระพุทธเจ้า อย่างเข้าใจซึ้ง

คำบูชา สรรเสริญพระคุณ พระพุทธเจ้า

อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ.

    พระพุทธเจ้า ทรงมีโพธิปัญญา ตรัสรู้ธรรม รู้ซึ้งประจักษ์แจ้งเห็นจริงแท้ในธรรม มีสัพพัญญุตญาณ รู้เหตุที่เป็นมา รู้เหตุที่เป็นอยู่ รู้เหตุที่จะเป็นไป ของสัตว์โลกทุกชั้นภูมิ 

    ทรงมีพระมหาปณิธาน สัมมาสัมโพธิญาณ จิตจาคะ เสียสละความสุขส่วนพระองค์ ยังประโยชน์สุขแก่สัตว์โลก 

    ทรงเป็นบรมครู ศาสดา เป็นแบบอย่าง เป็นอุทธาหรณ์  รับวิบากเพื่อจะเรียนรู้ สั่งสมบารมี สรุปเป็นหลักการ หลักธรรม แสดงกรรมเพื่อเจริญธรรม

    เพื่อโปรดสัตว์ทั้ง ๓ โลก โลกมนุษย์ โลกสวรรค์ โลกบาดาล 

    ในการเข้าใจชีวิต ใช้ชีวิตอย่างเข้าใจ อยู่ให้รอด อยู่ให้ได้ อยู่ให้เป็น อยู่ให้ดี นำไปสู่ชีวิตสันติสุข รู้จักบริหารกรรม อย่างถูกต้องในธรรม คือ สิ่งใดผิด รู้จักแก้ สิ่งใดถูก ทำเพิ่มเติม สมควรแก่เหตุในภูมินั้นๆ

    ด้วยน้ำพระทัยที่ตั้งมั่น  ไม่อคติลำเอียง  ตั้งใจ  จริงใจ  และเต็มใจ ตถาตา เป็นเช่นนี้ในธรรมแล สาธุ๛

อธิบายเพิ่มเติม พระพุทธคุณ

    คำว่า "พระรัตนตรัย" แปลว่า แก้วสามดวง หรือสิ่งประเสริฐสามสิ่ง อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งมาจากคำว่า

    "รัตน" แปลว่า แก้ว, สิ่งประเสริฐ
    "ตรัย" แปลว่า สาม
    ความเข้าใจ และคุณของพระรัตนตรัย มีดังนี้
คุณของพระพุทธเจ้า

    ๑. ด้านพระมหาปัญญาธิคุณ คือ พระองค์ทรงเป็นพระสัพพัญญู มีพระปัญญารอบรู้ในธรรมทั้งหลายทั้งปวง และเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีพระราชหฤทัยจิตจาคะ เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อยังประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น

    ๒. ด้านพระมหาวิสุทธิคุณ คือ พระองค์ทรงมีพระทัยบริสุทธิ์ ในการช่วยเหลือสัตว์โลกทุกชั้นภูมิ ไม่มีอคติลำเอียง ไม่มีการซ่อนเงื่อน ไม่มีมิจฉามาเจือปน ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความตั้งใจ จริงใจ อย่างเต็มใจ มีความตั้งใจดีที่จะให้ดี เรียกว่า บริสุทธิ์

    ๓. ด้านพระมหากรุณาธิคุณ คือ มีจิตเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระองค์ได้มีจิตโปรดเวไนยสัตว์ ด้วยการสั่งสอน ชี้นำ นำพาให้ปฏิบัติหลักธรรมที่ถูกต้อง มีสันติสุข ด้านมีพระราชหฤทัยจาคะแก่มวลสัตว์โลก และทรงเป็นแบบอย่างที่ดีเยี่ยมให้กับเรา

    พระพุทธเจ้าทรงมีพระปฏิปทา ทรงปฏิบัติให้ดูเป็นแบบอย่าง ตัวอย่าง ไอดอล เป็นแม่แบบ เป็นแม่พิมพ์ เช่น ปฏิบัติให้ดูว่าดี ดีเป็นอย่างนี้นะ เป็นยังไง พระพุทธเจ้าทรงเสียสละลงทุนพิสูจน์

        ๔. ด้านตั้งปณิธาน สำนึกพระคุณของพระพุทธเจ้า และขอให้สัญญาว่าจะเจริญรอยตามพระบาทของพระศาสดา และจะปฏิบัติตนตามคำสั่งสอนของพระองค์ท่าน

    เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทำทั้ง ข้อที่ ๑-๓ นั้นให้ดูเป็นแบบอย่างแล้ว พระพุทธเจ้าก็จะมาพิจารณาดูว่า ถ้าเราทำแล้วดี จะดียังไง พระพุทธเจ้าก็จะทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ดีไหม? ว่าดีจริงไหม? นี่แหละตั้งปณิธานปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่าง มีความตั้งใจทำให้ดูว่ามันดี ดียังไง? คือยอมเสียเวลาพระองค์เอง จาคะเวลาส่วนตน แทนที่จะทำอย่างอื่น กลับต้องมาทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ให้พิสูจน์ ยอมสละเวลาตัวเองเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าตรงนี้ดีจริง บุคคลนั้นเขาจะได้มีศรัทธามั่นคง

    พระองค์จะปฏิบัติเป็นข้อๆ ให้เห็น เรียกว่า "พิสูจน์ทราบ" ข้อ ๔ นี้จะยอมเสียเวลายอมจาคะเวลา เพื่อพิสูจน์ทราบว่าเป็นอย่างนี้จริง 

    ๕. ด้านแสดงเจตจำนง จะจริงจัง จริงใจ เด็ดขาด ในการดำเนินตามรอยพระบาทพระศาสดา ในมรรควิถีทางที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้

    มีเจตนาที่จะสั่งสอน ดูแลผู้คน สัตว์โลก เช่น เราเป็นสาวกของพระองค์ พระองค์ก็มีความตั้งใจที่จะสั่งสอนสาวกของพระองค์ ให้ได้ดิบได้ดี ย่อมเสียเวลาตนเองเพื่อที่จะสั่งสอนสาวก

    สมมติว่า เราเป็นครู เราตั้งจิตตั้งใจสอน นี่ก็เป็นพระคุณตัวหนึ่ง ถ้าเป็นบางคนก็จะคิดว่า "จะมาเอาความรู้ก็ได้ ไม่มาเอาความรู้ก็ช่างมัน" อย่างนี้ไม่ได้ คนละเรื่อง หรือเราอาจจะเคยเจอครูประเภทตั้งใจสอนเราก็มี พอเราเรียนไม่รู้เรื่อง ท่านก็จะจ้ำจี้จ้ำไชอยู่นั่นแหละ แต่อาจจะถูกลูกศิษย์ว่าเป็นคนที่ไม่ดี เผด็จการบ้าง ขี้บ่นบ้าง ท่านก็ยอม แต่เพื่อให้เราได้ดี นี่แหละท่านจาคะสูง ถ้าไม่จาคะสูง เรื่องอะไรจะต้องมาให้เราด่า ต่อว่า ติเตียน

    ด้านในก็คือ ท่านไปหาความรู้มาจากไหน ไปหาความรู้มายังไงกี่ภพชาติ เพื่อยอมเสียสละเพื่อไปเกิด เพื่อไปหาความรู้

    ๖. พระพุทธเจ้าจาคะยอมเสียสละไปเกิดแต่ละชาติเพื่อที่จะเรียนรู้ของจริงจากธรรมชาติ บทเรียนต่างๆ ต้องเสียเวลาไปเรียนรู้

    ๗. เสียเวลาไปรับวิบากเพื่อจะเรียนรู้ แสดงกรรมเพื่อเจริญธรรม เพราะท่านต้องไปปฏิบัติแต่ละภพชาติ สมมติว่า ชาตินี้เกิดเป็นหมา ท่านก็ต้องทำตัวเป็นหมา เรียนรู้การเป็นหมา ว่ามีอะไรบ้างเพื่อเรียนรู้ให้เกิดเป็นองค์ความรู้ เป็นปัญญาที่จะประกอบการเป็นสัมมาสัมพุทธะที่จะมาสอนเวไนยสัตว์ต่างๆ นี่แหละ เสียเวลาไหม?

    ๘. เอาสิ่งที่เรียนรู้มาสรุปเป็นหลักการ มีหลักปฏิบัติยังไง? ศึกษาครบถ่องแท้แล้วหรือยัง?

    ๙. นำข้อมูลหลักการมาเรียบเรียงจำเพาะ คือ มาพิจารณาบุคคลแต่ละเหล่าว่าจะสอนด้วยวิธีอย่างไร เช่น สมมติว่า ท่านสรุปว่าความรู้อย่างนี้เหมาะแก่บุคคลเหล่าที่ ๑ จะอธิบายยังไง? ภูมิบุคคลเหล่าที่ ๒ จะอธิบายยังไง? ภูมิบุคคลเหล่าที่ ๓ จะอธิบายยังไง? ภูมิบุคคลเหล่าที่ ๔ จะอธิบายยังไง? ทั้งๆ ธรรมะข้อเดียวกัน แต่จะรวบรวมศึกษาให้เป็นหลักการให้เรียบร้อย

    ๑๐. ออกเผยแพร่ นำองค์ความรู้ให้เป็นประโยชน์

    ๑๑. พระพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติยังประโยชน์แก่พระองค์เอง เพื่อที่จะละทั้งความดีและความไม่ดีต่างๆ ทุกเรื่อง พระองค์ต้องละ ปล่อยวาง คืนสู่ธรรม เข้าสู่ภาวะแห่งสุญญตา

    ๑๒. พิจารณาปล่อยวาง เข้าสู่ตถตา เข้าสู่นิพพาน

    ๑๒ ข้อเป็นตัวอย่างที่จะนำไปสู่ความเป็นพระพุทธเจ้า และเข้าสู่นิพพาน 

    คุณของพระพุทธเจ้าก็คือ ท่านปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้เราเห็นชัดเจน ประจักษ์แจ้ง เป็นอุทธาหรณ์ เป็นแบบอย่าง เสียสละตนเอง นี่แหละเป็นพระคุณของพระพุทธเจ้า

    ท่านแสดงให้เห็นว่า ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้ก็จะได้ผลอย่างนี้ สำเร็จอย่างนี้ เห็นชัดๆ เลย เพราะมีตัวอย่าง

    ครบเครื่อง มีมิติต่างๆ เห็นได้ชัด

^_^  ..._/_...  ^_^ 
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่