จิตในคัมภีร์พระอภิธรรม

ในคัมภีร์พระอภิธรรมนั้น
จิต คือ ธรรมชาติชนิดหนึ่งซึ่งรู้อารมณ์
จิตเป็นตัวรู้ และ สิ่งที่ถูกจิตรู้นั้นเป็นอารมณ์
หมายความว่า
จิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้นคืออารมณ์
อีกนัยหนึ่งแสดงไว้ว่า
จิตคือธรรมชาติชนิดหนึ่งที่ รับ จำ คิด รู้ ซึ่งอารมณ์

ตามคัมภีร์นี้ถือว่า
เมื่อมีจิตก็ต้องมีอารมณ์ อยู่คู่กันด้วยเสมอ
จะมีจิตโดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้
เมื่ออารมณ์เกิดขึ้น จิตจึงจะเกิด
และเมื่ออารมณ์ดับลง จิตก็ดับตามไปด้วยเสมอ
ดังพระบาลีที่มาในพระอภิธรรมว่า

“จิตฺเตตีติ จิตฺตํ อารมฺณํ วิชานาตีติ อตฺโถ”
แปลว่า
“ธรรมชาติใดย่อมติด ธรรมชาตินั้นชื่อว่าจิต
กล่าวโดยอรรถว่า ธรรมชาติที่รู้อารมณ์คือจิต”

จิตในพระอภิธรรมมีชื่อสำหรับเรียกขานเป็นไวพจน์แทนกันได้
ถึง ๑๐ ชื่อ ดังนี้คือ
จิต, มโน, หทัย, มนัส, ปัณฑระ, มนายตนะ, มนินทรีย์, วิญญาณ, วิญญาณขันธ์, มโนวิญญาณธาตุ
ความหมายของจิตแต่ละคำเหล่านี้ สามารถใช้แทนกัน และมีใช้กันอยู่ในภาษาธรรมะโดยทั่วไป

ดังนั้น จากเงื่อนไขของคำอธิบาย
ในคัมภีร์พระอภิธรรมที่ยกมาทั้งหมดนี้
ที่ว่ามีจิตจะต้องมีอารมณ์ และจะต้องรับอารมณ์ด้วยเสมอนั้น
ย่อมแสดงความหมายชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่า
ชื่อจิตที่ใช้เรียกแทนกันทั้ง ๑๐ ชื่อเหล่านี้
เป็นจิตที่ถูกอารมณ์เข้าผสมปรุงแต่ง จนผิดไปจากสภาพเดิมแล้ว
ไม่ใช่ธาตุแท้ จึงเป็น จิตสังขาร

เมื่อเป็นจิตสังขาร ก็ย่อมมีการเกิดขึ้นและดับสลายไปเป็นธรรมดา
หมายความว่า ไม่สามารถรับรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้
อย่างถาวรตลอดกาลได้ เมื่อเรื่องหนึ่งดับไปจากการรับรู้แล้ว
ก็ย่อมมีเรื่องอื่น ทยอยกันเข้ามาสู่จิต ต่อไปอีกตามลำดับ

เพราะฉะนั้น จิตสังขารในคัมภีร์พระอภิธรรม
ที่เรียกกันในนามว่า “จิต” นี้ จึงเป็น
วิบากจิต (ผลของการรับรู้อารมณ์แต่ละอย่าง) เท่านั้น
ไม่ใช่ฐานรองรับบุญและกรรมใดๆ
เกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมดับไปตามอารมณ์ เป็นธรรมดา
ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมรู้อยู่เสมอ
ไม่ว่าจิตชนิดใดเกิดขึ้น หรือดับไปก็ตาม

จากตัวอย่างที่ยกมาแสดงนี้ จะเห็นได้ว่า
จิตในพระอภิธรรม ซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นจิตสังขาร
ส่วนจิตของผู้ปฏิบัตินั้น ดำรงสภาพ รู้
ของตนเองอยู่ตลอดทุกกาลสมัย
ไม่ได้ดับตามจิตสังขารไปด้วยแต่ประการใดทั้งสิ้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่