ราชาสิบสองนักษัตร ศึกรวมสุโขทัย - บทที่ ๑๖ ขุนพลฉลูนักษัตร

.
                                                  

บทที่ ๑๖ ขุนพลฉลูนักษัตร

เสียงผู้คนในสนามโห่ร้องอึงคะนึง เสียงประกาศต่อมาของขุนพลธรณินคือ...

“ผู้ชนะในด่านที่สามคือ เจ้าทิพ”

ที่แท้ในง้าวสุดท้ายที่เจ้าทิพพุ่งออกไป ตัดเข้าเชือกบนหลังช้างซึ่งสิงขรเกี่ยวตัวโหนอยู่ด้วยมือเดียว พลันที่เชือกขาดจึงตกลงสู่พื้นพสุธา ถือเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป

สิงขรนั้นเมื่อกระโจนหลบเพลงง้าวของเจ้าทิพไปห้อยทิ้งตัวอยู่ด้านข้างของช้าง จึงไม่เห็นว่าง้าวของเจ้าทิพพุ่งตามมา เพียงรู้สึกตัววูบตกลงกับพื้นด้วยเชือกที่ตนเกาะเกี่ยวขาดออก กลายเป็นไร้สภาพใดๆ ให้ยึดเกาะได้ทันท่วงที จำต้องทิ้งง้าวกลิ้งตัวหลุนๆ ไปบนพื้น

ขุนพลธรณินสั่งให้ทหารนำช้างคู่หนึ่งเร่งเข้าไปกันช้างศึกของสองคู่ชิงชัยออกจากกัน
ไม่นานคนหนึ่งเดินกะโผลกกะเผลกเข้ามายังเบื้องหน้าปะรำที่ประทับ อีกคนฟุบร่างแน่นิ่งอยู่บนคอช้าง ต้องใช้ช้างพี่เลี้ยงประกบพามา เมื่อมาถึงจึงจัดการตัดเชือกที่รัดข้อเท้าของเจ้าทิพออก นำร่างลงมาให้หมอหลวงเข้ารักษาทันที

“ทำไมท่านจึงตัดสินให้เจ้าทิพเป็นฝ่ายชนะ” พระดำรัสของพระเจ้าฤทธิเทวารับสั่งถามขึ้น
“ขอเดชะ ตามกติกาที่กำหนดผู้ใดอาวุธหลุดจากมือ ผู้ใดตกจากคอช้าง ผู้ใดได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้ ถือว่าพ่ายแพ้... ครั้งนี้สิงขรราชองครักษ์ชั้นเอกได้รับบาดเจ็บจากคมง้าวของคู่ต่อสู้บริเวณชายโครง ถูกรุกไล่จนสุดท้ายต้องตกจากคอช้างสู่พื้น แม้กระทั่งอาวุธของ้าวประจำกายก็หลุดจากมือ จึงถือเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป พระเจ้าค่ะ” ขุนพลธรณินผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้มีสิทธิ์ขาด กราบทูลข้อวินิจฉัยเสียงดังฉาดฉาน

“แล้วเจ้าทิพล่ะ ง้าวก็หลุดจากมือ บาดเจ็บจนสิ้นสติไป แม้มิผูกข้อเท้าไว้ก่อนก็คงพลัดตกจากคอช้างไปแล้ว” รับสั่งถามต่อถึงกรณีของเจ้าทิพ
“เจ้าทิพนั้นอาการทั้งสามหาได้เกิดจากการกระทำของคู่ต่อสู้ไม่ ง้าวที่หลุดจากมือเพราะจงใจพุ่งใส่คู่ต่อสู้ จนคู่ต่อสู้เพลี่ยงพล้ำตกจากช้างไป ส่วนอาการบาดเจ็บจนหมดสติก็เกิดขึ้นจากอาการบาดเจ็บเดิมของด่านประลองก่อนหน้านี้ ไม่ได้เกิดจากการเพลี่ยงพล้ำเป็นอันตรายจากคมง้าวของคู่ต่อสู้ อีกทั้งยังหมดสติไปหลังจากคู่แข่งขันหมดสิ้นหนทางต่อสู้แล้ว ดังนั้นมิพักต้องพูดถึงการผูกข้อเท้าเกี่ยวตัวไว้ พระเจ้าค่ะ”

“ดีมาก วินิจฉัยได้ชัดเจนถูกต้อง” พระเจ้าปตานีรับสั่งชมเชยขุนพลธรณินที่แยกแยะตัดสินแพ้ชนะได้ชัดเจน
“แล้วอาการบาดเจ็บของเจ้าทิพเป็นอย่างไรบ้าง” รับสั่งถามต่อทันที

ครั้งนี้เป็นหมอหลวงที่กราบทูลถวาย
“ข้าพระองค์ตรวจดูอาการของเจ้าทิพนับว่าสาหัส บริเวณลำตัวด้านขวาคล้ายบวมช้ำเลือดอยู่ภายใน อาจจะต้องรักษาด้วยการเจาะเอาเลือดเสียออก แล้วประคบสมุนไพรรักษากล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่ฉีกขาด ห้ามขยับกายเคลื่อนไหวใน ๗ วัน ส่วนอาการเจ็บปวดจนสิ้นสติ คิดว่าสัก ๒-๓ คืนก็น่าจะฟื้นได้สติ พระเจ้าค่ะ”
“ถ้าอย่างนั้นท่านจงรีบพาเขาไปรักษาตัวเถิด”

สักครู่จึงเห็นร่างเจ้าทิพที่นอนแน่นิ่งสนิทถูกพาเคลื่อนย้ายไป อดทำให้ทุกคนต้องทอดถอนสะท้อนใจ
การฝืนสภาพบาดเจ็บเข้าต่อสู้ของเจ้าทิพจนมีชัยชนะ ทั้งที่เป็นรองอยู่แทบทุกด้าน ทำให้หัวใจของชาวปตานีเริ่มหวั่นไหว อดเห็นใจและสงสารมิได้... โดยเฉพาะพระเจ้าฤทธิเทวาผู้เป็นพระบิดา

พระราชธิดาวิสาณีทอดพระเนตรร่างของชายคนรักถูกหามออกไปด้วยพระอาการเศร้ากังวล ในขณะที่พระราชบิดารับสั่งชมเชยขึ้นว่า
“นับว่าเจ้าทิพชาญฉลาดทีเดียว จากสภาพเสียเปรียบพลิกสถานการณ์กลับมามีเปรียบ... แม้ช้างศึกตัวเล็กกว่า ชำนาญศึกน้อยกว่า แถมยังยืนอยู่ในทิศย้อนแสงจ้า กลับใช้แสงอาทิตย์สะท้อนเข้าตาช้างศึกคู่ต่อสู้ จนกลายเป็นมีเปรียบตั้งแต่จังหวะเริ่มต้น ท่านเห็นเป็นอย่างไรบ้างล่ะ ท่านขุนพล”

ขุนพลสิงหลที่นั่งหน้าเคร่งเครียด เพียงกราบทูลว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าคิดว่า เจ้าทิพคงกำหนดกลยุทธ์การต่อสู้มาตั้งแต่ต้นแล้วพระพุทธเจ้าข้า แม้เจ้าทิพเป็นฝ่ายเสี่ยงทิศชนะ คงจะเลือกทิศตะวันออกอยู่ดี พระพุทธเจ้าข้า”

องค์กษัตริย์แห่งเมืองนครฯ ทรงพยักพระพักตร์เห็นพ้อง ตรัสว่า
“เรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงวีรกรรมของพระมหาเถรศรีศรัทธา ผู้บัญญัติวิชาเพลงอาวุธให้คู่ต่อสู้ทั้งสองในวันนี้... เมื่อตอนพระองค์ยังทรงพระเยาว์ พระชันษาเพียง ๑๖ ปี ท้าวอีจานได้ยกทัพบุกมายังเมืองของพระบิดาของพระองค์ ครั้งนั้นขุนศึกทั้งหลายที่ออกรบต่างพ่ายแพ้หมดสิ้น ด้วยท้าวอีจานทรงช้างตัวใหญ่ตกมัน มีพละกำลังมาก แต่พระศรีศรัทธากลับทรงไสช้างพังตัวเมียเข้าต่อกร ช้างพลายที่ตกมันเมื่อเจอกลิ่นช้างเพศเมียจึงมีอาการแปลกไป ในจังหวะที่ช้างพลายชูงวงแผดร้องขึ้น พระศรีศรัทธาทรงพุ่งหอกเข้าใส่บริเวณปากช้าง จนท้าวอีจานเสียทีพ่ายแพ้แตกทัพไป ชื่อเสียงของท่านจึงเลื่องลือขึ้นแต่ครั้งนั้น... วันนี้นับว่าเรามีวาสนาได้ชมวิชาอาวุธของพระมหาเถระท่านบนหลังช้าง”

“หม่อมฉันก็เคยได้ยินวีรกรรมมากมายของพระมหาเถรศรีศรัทธา หากแม้นพระองค์ได้ขึ้นครองสุโขทัย สถานการณ์ต่างๆ ในสุวรรณภูมิคงจะเปลี่ยนไปจากทุกวันนี้เป็นแน่” พระเจ้าฤทธิเทวารับสั่งด้วยสำราญพระทัย

จากนั้นทั้งสองพระองค์ทรงสนทนากันอีกครู่หนึ่ง เมื่อเห็นเป็นเวลาอันควรแล้วพระเจ้าฤทธิเทวาจึงมีรับสั่งออกไปว่า...
“ด้วยพระบารมีของพระเจ้าศรีมหาราช พระเจ้านครศรีธรรมราชผู้เป็นใหญ่ใน ๑๒ เมือง บัดนี้การประลองคัดเลือกผู้มีฝีมือสูงสุดของเมืองปตานีสิ้นสุดลงแล้ว เราขอประกาศให้เจ้าทิพ เป็นขุนพลฉลูนักษัตร ถือศักดินาชั้นขุนพล เป็นตัวแทนเมืองปตานีเข้าแข่งขันชิงตำแหน่งราชาสิบสองนักษัตร ซึ่งจะจัดขึ้นในอีก ๓ เดือนข้างหน้าต่อไป”

สิ้นพระสุรเสียง ทุกคนบนปะรำต่างโห่ร้องกึกก้อง

...จากชายไร้ยศศักดิ์ บัดนี้ได้รับพระราชทานศักดิ์ฐานะเป็นขุนพลจากพระบิดาของตน แต่มิใช่ได้มาเพราะสายโลหิต หากแต่เพราะโลหิตที่หลั่งไหลเป็นสายกลางลานประลอง

--------------------------------------------------

สิงขรเองก็สมควรได้รับอวยยศเช่นกันในฐานะคู่ชิงชัยคนสุดท้าย แต่กลับมิได้มีการประกาศอย่างใดออกมา...
ด้วยขุนพลสิงหลผู้เป็นบิดาแอบกราบทูลยับยั้งไว้
กระทั่งเจ้าตัวถูกเรียกเข้าเฝ้าพระเจ้าฤทธิเทวาในที่รโหฐาน (ที่ลับผู้คน) พร้อมองค์ชายอัศวเมฆ ขุนพลสิงหลและมหาอำมาตย์วาสุธี

“ขอเดชะ พระอาญามิพ้นเกล้า วิชาความเร็วที่สิงขรใช้ในการต่อสู้วันนี้หาได้เป็นสิ่งที่ข้าพระองค์ได้สอนสั่งไม่ พระเจ้าค่ะ”
“ถ้าเช่นนั้น ใครเป็นผู้แนะนำสั่งสอนให้ เอ้า...สิงขรเจ้าว่ามาสิ” รับสั่งถามเจ้าตัวทันที
สิงขรนั่งคุกเข่านิ่งอยู่กับพื้น ก้มหน้ามิกล้าสู้สายตาผู้ใด

ฝ่ายขุนพลผู้พ่อเห็นบุตรชายนิ่งงันสั่นสะท้าน ไม่กล้ากราบทูลความจริงออกมา จึงตวาดไปว่า
“เจ้าอย่านึกนะ.. ว่าเราจับสังเกตไม่ออก ตั้งแต่ตอนขี่ม้าแทงทวนแม้ระยะจะอยู่ห่างไกล แต่เราก็พอจะรู้ได้ว่ามิใช่วิชาที่เคยสั่งเคยสอน... พอเจ้ามาฟาดง้าวออกอาวุธบนหลังช้าง ด้วยอาการหายใจสั้นกระชั้นแรง เราก็รู้แล้วว่าเป็นวิชาของพวกโจฬะทมิฬ”
สิ้นคำ “โจฬะทมิฬ” แทบทุกคนถึงกับส่งเสียงอุทานด้วยอาการตกใจ ขุนพลสิงหลจึงกราบทูลย้ำว่า

“ขอเดชะ ที่ข้าพระองค์สังเกตเห็นคือวิชาเร่งปราณเปลี่ยนมิติของชาวโจฬะทมิฬ พระเจ้าค่ะ... วิชานี้กำหนดความเร็วอยู่ที่ธาตุลม แต่จะต่างจากการกำหนดธาตุลมของศรีวิชัยที่เจ้าทิพต้องผ่อนลมให้ช้าเพื่อให้จิตอยู่ในภวังค์ ทุกอย่างรอบกายจึงแปรเปลี่ยนช้าตามลมหายใจ ส่วนชาวโจฬะทมิฬจะเร่งลมปราณให้กระชั้นถี่เร็ว จังหวะลมหายใจเร็วเท่าใด มิติความเร็วในตัวก็เปลี่ยนแปรเร็วตาม... เจ้าทิพเริ่มจากกำหนดทิ้งลมหายใจเป็นจังหวะแรก แต่โจฬะทมิฬกำหนดดึงลมหายใจเข้ากระชั้นแรงเป็นเริ่มต้น แม้จะเป็นวิถีที่ต่างกันแต่ผลลัพธ์คือเปลี่ยนมิติเข้าสู่ความเร็วเหมือนกัน พระเจ้าค่ะ”

วิถีของเจ้าทิพคือกำหนดให้ภายนอกเชื่องช้า ส่วนของโจฬะทมิฬคือกำหนดให้ภายในรวดเร็ว...

“บังอาจนัก นี่เจ้ากล้าไปคบค้ากับพวกโจฬะทมิฬมาหรือ” พระเจ้าฤทธิเทวากริ้วทันทีที่ทรงสดับฟังเรื่องราว
“บอกความจริงมา ว่าเจ้าไปได้วิชานี้มาอย่างไร ไม่อย่างนั้นเราจะให้คนนำเจ้าไปประหารทิ้งเสีย” ฝ่ายขุนพลบิดาคาดคั้นพร้อมคาดโทษรุนแรง

สิงขรถึงกับตัวสั่นเทา ละล่ำละลักว่า
“ข้าพเจ้าสำนึกผิดแล้ว ขอท่านพ่อยกโทษให้ลูกด้วย”

องค์ชายอัศวเมฆพลันรับสั่งขึ้นว่า
“สิงขร ท่านก็เล่าความจริงออกมาเถิด ถ้าเจตนาของท่านดี การจะเอาผิดเอาโทษท่านก็คงพอจะละเว้นได้”

นับว่าองค์ชายอัศวเมฆทรงรักษาสัจจะวาจา ถึงกับรับสั่งเป็นนัยหาทางพ้นภัยให้สิงขร ราชองครักษ์หนุ่มสบสายเนตร จึงค่อยมั่นใจ กล่าวขึ้นว่า
“ท่านพ่อ เรื่องที่เกิดขึ้นใช่ว่าบุตรจะคิดคดทรยศแผ่นดินเกิดก็หาไม่ เพียงแต่ถ้าลูกไม่เรียนรู้วิชา เกรงว่าหากแม้นได้เป็นขุนพลฉลูนักษัตรจะไม่สามารถเอาชนะตัวแทนเมืองไทรบุรี ขึ้นเป็นราชาสิบสองนักษัตรเพื่อประโยชน์ของเมืองเราได้...”
จากนั้นจึงเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ ๒ ปีก่อนให้ฟัง...

“...ครั้งนั้นข้าพเจ้าได้เดินทางไปยังด่านข้ามแดนไทรบุรี พบชายผู้หนึ่งเข้ามาก่อกวนหาเรื่อง จึงเกิดการท้าทายต่อสู้กัน แต่ข้าพเจ้ากลับพ่ายแพ้... จากนั้นเขาจึงเปิดเผยตัวว่าชื่อ “กัมพะทมิฬ” เป็นนักรบชาวโจฬะทมิฬผู้มุ่งมั่นจะเข้าประลองชิงตำแหน่งราชาสิบสองนักษัตรในฐานะตัวแทนเมืองไทรบุรี...
เขาบอกว่าอีก ๒ ปีให้มาต่อสู้กันใหม่ในพิธีประลอง ทั้งบอกว่าจุดอ่อนของฝีมือข้าพเจ้าคือความเร็ว... แล้วจึงเสนอแลกเปลี่ยนวิชากัน ต่างคนต่างเอาไปฝึกฝนพัฒนาตนเองแล้วนำมาใช้สู้กัน... ข้าพเจ้าเห็นว่าหากไม่มีวิชาเร่งปราณเปลี่ยนมิติ คงไม่สามารถชิงชัยขึ้นเป็นราชาสิบสองนักษัตรให้เมืองปตานีได้ จึงยอมตกลงแลกวิชาฝีมือกัน อีกทั้งเขาขอแค่เพียง ๑ กระบวนเพลงดาบ”

“เจ้า...เอาวิชาอะไรแลกเปลี่ยน”
“...กระบวนเพลงดาบ.. นารายณ์อวตาร” บุตรชายตอบด้วยใจหวาดหวั่น
“หึ เรื่องวิวาทที่เกิดขึ้น เป็นมันจงใจเพื่อหาเรื่องต่อสู้ชนะเจ้าใช่ไหม”
“...บุตร มาล่วงรู้ในภายหลัง เป็นเช่นนั้นจริงๆ” พูดไป น้ำเสียงก็ค่อยเบาลงไปด้วยทั้งละอาย ด้วยเกรงพระอาญา

“เจ้าคงคิดว่า.. เสียไปเพียง ๑ กระบวนเพลงดาบแต่ได้วิชาปราณเปลี่ยนมิติมา คงคุ้มค่ายิ่งนัก จึงยอมแลกเปลี่ยน” ผู้เป็นบิดากัดฟันกล่าวคำ
“ตอนนั้น.. บุตรคิดเช่นนั้น วิชาที่แลกเปลี่ยนถ่ายทอดกัน ก็ทะยอยแลกเปลี่ยนทะยอยฝึกฝนจนกระจ่างได้ผลระดับหนึ่งจนรู้ว่าเป็นเคล็ดวิชาที่แท้จริง ไม่ได้บิดพลิ้วปิดบัง”
ด้วยระดับฝีมือของบุคคลทั้งสอง หากแม้นำวิชาอันเป็นเท็จหลอกลวงกัน อีกฝ่ายย่อมรับรู้ได้

“มิน่า เมื่อสองปีก่อนเจ้าจึงอ้างปัญหาที่ชายแดน และไปประจำอยู่เป็นเดือน”
สิงขรได้แต่นิ่งกลัวอยู่ในใจ มิได้กล่าวกระไรอีก จนขุนพลผู้บิดาตวาดขึ้นด้วยโทสะ
“เจ้านี่มันช่างโง่บัดซบ รู้ไหมว่าสิ่งที่เจ้าให้เขาไปมันมีค่ามากแค่ไหน เจ้าเพียงแต่คิดว่าเป็นวิชาเพลงดาบกระบวนเดียว แต่หากมันนำไปตีความ ดูความแปรเปลี่ยนสัมพันธ์ในแต่ละท่าจู่โจม จะเข้าใจวิถีของเพลงอาวุธพระมหาเถระทันที”
“บุตร ผิดไปจริงๆ เรื่องนี้”

ขณะที่ขุนพลผู้พ่อโกรธจนแทบจะทำร้ายบุตรของตน องค์ชายอัศวเมฆพลันรับสั่งถามขัดขึ้น

“ท่านขุนพล มีเรื่องหนึ่งที่เราไม่เข้าใจ ในเมื่อเจ้าทิพฝึกจนถึงขั้นที่ ๙ จึงเข้าสู่ปิดปราณเปลี่ยนมิติได้ แต่ทำไมสิงขรซึ่งอยู่ระดับขั้นที่ ๘ จึงเข้าสู่เร่งปราณเปลี่ยนมิติได้เช่นกัน”

ขุนพลสิงหลที่ประดังด้วยอารมณ์โกรธในตัวบุตรชาย อดชำเลืองดูองค์ชายหนุ่มมิได้ แล้วก็ต้องสะกดข่มอารมณ์ ทูลตอบว่า
“วิชาของศรีวิชัยและลังกาสุกะอยู่ในแนวสว่าง จะยกจิตบังคับธาตุต้องใช้ฌานในระดับภวังค์สำนึก หรือระดับขั้นที่ ๙ เป็นต้นไป... ส่วนของโจฬะทมิฬอยู่ในแนวมืด สามารถบรรลุขั้นบังคับธาตุได้ในระดับที่ต่ำกว่า คือระดับขั้นที่ ๗ เป็นต้นไป... ที่ว่าเป็นแนวมืดเพราะฝึกฝนสำเร็จได้เร็ว แต่เกิดข้อเสียต่อสภาพร่างกาย ดังนั้นการเร่งปราณเปลี่ยนมิติของโจฬะทมิฬจะทอดระยะอยู่ได้เพียงช่วงสั้นๆ กว่าการปิดปราณเปลี่ยนมิติของศรีวิชัยมากนัก”

(มีต่อ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่