จิตทำหน้าที่เกินรู้ จิตจะทุกข์

จิตทำหน้าที่เกินรู้ จิตจะทุกข์
…………………..

“ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติ
เวลาเราเจ็บป่วย
หรือเราได้รับความทุกข์อะไร
ให้เราค่อยๆ แยกขันธ์
อย่างนี้ค่อยสมเป็นนักปฏิบัติ

ร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง
ร่างกายมิได้เจ็บป่วย
ความเจ็บปวดทั้งหลาย
เป็นสิ่งที่แทรกอยู่ในร่างกาย
เป็นอีกสิ่งหนึ่งคือตัวเวทนาขันธ์
จิตเป็นคนรู้นี่ ก็เป็นอีกขันธ์หนึ่ง
จิตก็ไม่ได้เจ็บป่วย
แล้วก็ความกังวลใจ ความกลุ้มใจ
ความไม่ชอบใจ ที่มีความเจ็บป่วย
เป็นอีกอย่างหนึ่ง
ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่ความเจ็บปวด
ไม่ใช่จิตที่เป็นตัวรับรู้ เป็นอีกขันธ์หนึ่ง
นี่เราจะแยกขันธ์ออกไป

เวลาเจ็บมากๆ นะ แยกขันธ์ออกไป
เห็นขันธ์แต่ละขันธ์ ทำหน้าที่ของมัน
ขันธ์ทั้งหลายนะ รูปก็ทำหน้าที่ของรูป
เวทนาคือความทุกข์ทั้งหลาย
มันก็ทำหน้าที่ของมัน
มันก็แสดงตัวของมันไปมากขึ้น
น้อยลงอะไรอย่างนี้สลับกันไปเรื่อยๆ
บางทีก็หาย บางทีก็กลับมา
ตัวสังขาร ความปรุงของจิต
มันก็ปรุงของมันไป จิตเป็นคนรู้

ถ้าขันธ์ทุกตัวทำหน้าที่ของตัวเอง
ปัญหาจะไม่เกิดขึ้น
แต่ปัญหาเกิดขึ้น
เพราะจิตไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง
จิตไม่ทำหน้าที่รับรู้
แต่จิตทำหน้าที่แทรกแซง
อยากให้หายเจ็บ อยากให้หายปวด
จิตมันเข้าไปวุ่นวาย
ทั้งที่จิตไม่ได้เจ็บปวดนะ

อย่างเวลาเราเจ็บมากๆ ปวดมากๆ
จิตเป็นคนรู้
ความเจ็บปวดก็ไม่ใช่ร่างกาย
แล้วก็ไม่ใช่จิตด้วย
ร่างกายก็ไม่ได้ว่าอะไร
ร่างกายก็เงียบๆ ไม่บ่นอะไรนะ
จิตไม่ได้เจ็บปวด แต่จิตบ่น
นี่จิตแทรกแซงเขา
จิตทำผิดหน้าที่ คือทำหน้าที่เกินรู้
เพราะฉะนั้น จิตจะทุกข์แล้ว”

…………………..
พระธรรมเทศนา
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๑

ถอดคำ : โบ โลมา
เรียบเรียง : สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา

https://www.facebook.com/1317977204900901/photos/a.1412754818756472.1073741828.1317977204900901/1855058337859449/?type=3&theater
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่