ขันธ์ ๕

คำว่า ขันธ์ แปลว่า กอง หรือ กลุ่ม หรือ ส่วน ซึ่งในชีวิตของมนุษย์เราทุกคนนี้จะมีส่วนประกอบอยู่ ๕ ส่วน ที่เรียกว่า ขันธ์ ๕ อันได้แก่

๑. รูปขันธ์ คือส่วนของร่างกาย ที่เกิดขึ้นมาจากธาตุ ๔ และมีลักษณะแยกได้เป็นชายหรือหญิง
๒. วิญญาณขันธ์ คือส่วนของการรับรู้ ที่เกิดขึ้นมาตามระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกาย
๓. สัญญาขันธ์ คือส่วนที่เป็นอาการ ที่จิตจำสิ่งต่างๆที่รับรู้ได้
๔. เวทนาขันธ์ คือส่วนของความรู้สึก ที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ทั้งหลาย
๕. สังขารขันธ์ คือส่วนที่เป็นพวก การคิดนึก และการปรุงแต่งของจิตทั้งหลาย

ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ ถ้าจะเรียกให้ถูกต้อง จะต้องเรียกเต็มๆว่า รูปขันธ์ วิญญาณขันธ์ สัญญาขันธ์ เวทนาขันธ์ สังขารขั้นธ์ แต่การเรียกเช่นนี้มันยาว เราจึงมักจะเรียกสั้นๆแค่ว่า รูป วิญญาณ สัญญา เวทนา สังขาร เท่านั้น อีกอย่างมักจะมีการเรียงลำดับว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมันฟังดูแล้วคล้องจองดี แต่มันไม่เรียงลำดับการเกิดของแต่ละขั้นธ์ ดังนั้นเราต้องเรียงใหม่ให้เป็นไปตามลำดับของการเกิดแต่ละขันธ คือเป็น รูป วิญญาณ สัญญา เวทนา สังขาร จึงขอให้ผู้ศึกษาเข้าใจตามนี้

ขันธ์ทั้ง ๕ นี้คือส่วนประกอบที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นชีวิตของเราทุกคน โดยขันธ์ทั้ง ๕ นี้สรุปย่อลงเป็น รูป กับ นาม ซึ่ง รูป ก็คือรูป (หรือร่างกาย) ที่เกิดมาจากธาตุ ๔ มาปรุงแต่ง (สร้างหรือทำ) ให้เกิดขึ้น ส่วน นาม ก็คือ วิญญาณ สัญญา เวทนา และสังขาร ที่ทำงานร่วมกันจนเกิดเป็น จิต หรือ ใจ ของเราขึ้นมา โดยรูปกับนาม (หรือร่างกายกับจิตใจ) นี้จะพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอยู่ ถ้าสิ่งใดขาดหายไป อีกสิ่งก็ย่อมที่จะแตก (คือร่างกาย) หรือดับ (คือจิตใจ) หายไปด้วยทันที คือเมื่อร่างกายตาย จิตใจก็ย่อมที่จะดับหายตามไปด้วย เพราะจิตใจต้องอาศัยร่างกายเพื่อปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา เมื่อไม่มีจิตใจ ร่างกายก็จะแตก (หรือตาย) สลายไป เพราะจิตใจจะช่วยให้ร่างกายยังมีการปรุงแต่งให้มีการเจริญเติบโตและดำรงสภาพเป็นร่างกายอยู่ได้

ขันธ์ ๕ หรือร่างกายกับจิตใจนี้เอง ที่พระพุทธเจ้าสอนให้เรานำมาศึกษาจากร่างกายและจิตใจของเราเองจริงๆ ว่าแต่ละขันธ์มันอาศัยเหตุปัจจัยอะไรเพื่อเกิดขึ้นมาและตั้งอยู่? รวมทั้งแตกหรือดับหายไปเพราะขาดเหตุปัจจัยอะไร? เพื่อที่จะได้ค้นพบความจริงเรื่องความไม่เที่ยง (อนิจจัง) มีสภาวะที่ต้องทน (ทุกขัง) และความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา) ของร่างกายกับจิตใจ ซึ่งความจริงนี้เองที่เป็นปัญญาที่ทำให้เราเกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งชีวิต และถ้าบวกกับเรามีสมาธิอยู่ด้วย ก็จะทำให้จิตปล่อยวางความยึดถือ (อุปาทาน) ในร่างกายจิตใจ (ที่สมมติว่าเป็นตัวเรา-ของเรา) ว่าเป็นตัวเรา-ของเราลง เมื่อจิตใจไม่มีความยึดถือ มันก็ไม่มีความทุกข์ (แม้เพียงชั่วคราว)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่