เสวนาธรรมเกี่ยวกับปรัชญาเต๋าเต็กเก็ง บทที่1 เต๋าอันสูงสุด

หลายวันมานี้ผมตั้งใจจะสร้างเว็บบล็อกเกี่ยวกับปรัชญาสักเว็บหนึ่ง
หลังจากรวบรวมกำลังใจได้แล้วก็เลยลงมือสร้างทันที
โดยในตอนนี้โพสไปแล้วทั้งหมดสองบทความด้วยกัน
ความจริงแล้วใจนึงผมก็อยากทำเกี่ยวกับพระพุทธศาสนานะ แต่ก็ตะกิดตะขวงใจ
ว่าเราศึกษาธรรมะมาในนานจะอภิปรายและจำแนกธรรมของพระพุทธศาสนตามใจชอบ
ในเมืองพุทธเช่นนี้คงจะไม่เหมาะสม
ทั้งผมยังต้องการค่าขนมนิดหน่อยจากการแปะโฆษณาด้วย
จึงคิดว่าทำเกี่ยวกับเรื่องปรัชญาดีกว่า รวมทั้งปรัชญาก็เป็นสิ่งที่เราชอบอ่านอยู่แล้วด้วย
โดยผมนำมาตีความตามกำลังสติปัญญาของตนเองนะซึ่งอาจจะมีผิดพลาดบ้างนั่นแหละ
โดยวางโครงการไว้ว่าจะพิจรณาและวิจารณ์ตำราเต๋าเต็กเก็งก่อน และจะนำเสนอไปที่ละบทจนครบ
คงต้องใช้เวลาเป็นปีละมั้งกว่าจะเขียนจบ แต่ถ้าทำเป็นงานอดิเรกอยู่แล้วก็คงไม่หนักหนาอะไร
นี่ก็คือตัวอย่างที่นำมาให้อ่านกันนะ ผิดพลาดประการใดขออภัยล่วงหน้าด้วยนะครับ


ก่อนอื่นขอเล่าประวัติท่านเล่าจื้อ ผู้เป็นปรมาจารญ์แห่งลัทธิเต๋าเสียก่อนสักหน่อย
ผู้นับถือลัทธินี้ได้ยกย่องท่านเล่าจื้อว่าเป็นเทพเจ้าสูงสุดหนึ่งในสามองค์นามว่าไท่ซ่างเล่าจวิน
คาดกันว่าเล่าจื้อน่าจะมีชีวิตอยู่ในช่วง30ปีก่อนพุทธศักราช
ตามพงศาวดารระบุว่าท่านเล่าจื้อเกิดในแคว้นขู่ซึ่งในปัจจุบันคืออำเภอขู่เสียนในมลฑลเหอหนานของจีน
ท่านยังเคยเข้ารับราชการเป็นคนจดบันทึกและรักษาแผ่นไม้ไผ่ที่บันทึกอักษรจีนในราชสำนักด้วย
ว่ากันว่าท่านเล่าจื้อมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับท่านขงจื้อและทั้งสองยังเคยร่วมเสวนาธรรมด้วยกันอีกด้วย
ท่านขงจื้อได้กล่าวสรรเสิญท่านเล่าจื้อหลังจากที่มีโอกาสได้เสวนากันว่า
ท่านเล่าจื้อเป็นจอมปราชญ์ที่มีสติปัญญาล้ำลึกจนยากหยั่งถึง
การได้เสวนากับท่านเล่าจื้อนั้นเลิศกว่าการได้อ่านตำรานับแสนเล่มเสียอีก
ผลงานที่สำคัญของท่านเล่าจื้อนั้นก็คือตำราเต๋าเต็กเก็งหรือเต๋าเจ๋อจิงนั่นเอง
ซึ่งคำสอนของท่านมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของชาวจีนในสมัยต่อมาอย่างมาก
โดยเนื้อหาของคำภีร์นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับปรัชญาของมนุษย์ ความกลมกลืนต่อการใช้ชีวิตกับธรรมชาติ
จนไปถึงปรัชญาด้านการเมือง
และจากการตีความคำว่า"เต๋า"ในคัมภีร์คนส่วนใหญ่บอกว่ามันแปลว่า"มรรค"หรือ"หนทาง"
ส่วนคำว่า"เต๋อ"หรือ"เต็ก"นั้นหมายถึง"คุณธรรม"
และคำว่า"จิง"นั้นหมายถึงคำภีร์หรือตำรา
ถึงแม้ว่าคำสอนของท่านเล่าจื้อจะไม่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมจีนมากมายเท่าคำสอนของท่านขงจื้อ
แต่ท่านเล่าจื้อก็ยังเป็นที่เคารพนับถือโดยทั่วไป
ทั้งแนวความคิดและการปฏิบัติตามหนทางแห่งเต๋า
คำภีร์เต๋าเต็กเก็งนั้นเขียนด้วยตัวอักษรจีนประมาณ5000ตัว มีทั้งหมด81บท
ซึ่งผมจะยกขึ้นมาพิจรณาและวิจารณ์ในบล็อกทีละหนึ่งบท
และหวังว่าจะมีคนที่มีความสนใจในปรัชญาของท่านเล่าจื้อจะเข้ามาอ่าน
และร่วมพิจรณาไปพร้อมกับผม
และถ้าหากมีคำพูดใดหรือประโยคใดที่ผมกล่าวผิดไป
ก็ขอให้ท่านอภัยและช่วยชี้แจงให้ผมเข้าใจถูกต้องด้วยนะครับ
  
      เต๋าเต็กเก็ง บทที่๑ เต๋าอันสูงสุด

เต๋าที่อธิบายได้มิใช่เต๋าอันอมตะ
ชื่อที่ตั้งให้กันได้ก็มิใช่ชื่ออันสูงส่ง
เต๋านั้นมิอาจอธิบายและมิอาจตั้งชื่อ
เมื่อไร้ชื่อจักทำฉันใดให้ผู้อื่นรู้
ข้าพเจ้าจึงขอเรียกสิ่งนั้นว่า"เต๋า"ไปพลางๆก่อน

เมื่อไร้นามไร้สภาวะจึงเป็นบ่อเกิดแห่งฟ้าและดิน
เมื่อมีนามมีสภาวะจึงเป็นมารดาแห่งสรรพสิ่ง
ดำรงตนอยู่ในความไร้สภาวะ จึงทราบบ่อเกิดแห่งจักรวาล
ดำรงตนอยู่ในสภาวะ ย่อมแลเห็นปรากฎการณ์ที่ถูกสร้างสรรค์

ทั้งความมีและความไร้ ต่างมีบ่อเกิดเดียวกัน
แต่แตกต่างกันเมื่อปรากฎออก
บ่อเกิดนั้นสุดแสนล้ำลึก
ความลึกล้ำสุดแสนนั้น คือประตูที่เปิดไปสู่ความรู้แจ้งแห่งสรรพชีวิต

    ในวรรคแรกนั้นตามทัศนะของผมมองว่าท่านคงอยากบอกกับเราว่าเต๋านั้น
เป็นสิ่งที่ผู้คนจะต้องรู้แจ้งด้วยตนเอง
เนื่องเพราะเต๋าอันเป็นอมตะนั้นไม่อาจอธิบายและตั้งชื่อ
แต่หากอยากแนะนำแก่ผู้อื่นแล้วก็จำเป็นต้องสมมติชื่อขึ้นเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจ
   " เมื่อไร้นามไร้สภาวะจึงเป็นบ่อเกิดแห่งฟ้าและดิน"
การมองหาความเป็นเช่นนี้ย่อมต้องมองหาจากจิตใจเป็นแน่
นั่นเพราะไม่มีสิ่งอื่นใดอีกแล้วที่คนเราจะเข้าถึง"ไร้นามไร้สภาวะ"นอกไปจากจิตใจ
เพราะความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ก็ถือเป็นการปรุงแต่งนามและสภาวะนั่นเอง
เช่นนั้นจึงจะสามารถเข้าใจธรรมชาติเดิมแท้ได้(ด้วยตนเอง)
   "เมื่อมีนามมีสภาวะจึงเป็นมารดาแห่งสรรพสิ่ง"
ในความสอดคล้องกันกับไร้นามไร้สภาวะ มีนามมีสภาวะจึงหมายถึง
ความรู้สึกนึกคิดตามธรรมดานั้นย่อมเป็นการปรุงแต่ง และย่อมเป็นการสมมติสิ่งต่างๆ
ข้อนี้ใช่ว่าผมจะคิดเองเออเองนะ เพราะจากการศึกษาพทธศาสนาก็ดี
ภัควัทคีตาก็ดี เดอะรีพับลิคก็ดี ย่อมบ่งชี้ลักษณะเดียวกันนี้เหมือนกันทั้งนั้น
   "ดำรงตนอยู่ในความไร้สภาวะ จึงทราบบ่อเกิดของจักรวาล"
ในทัศนะของข้าพเจ้า นี่ืเป็นการชี้ทางแห่งปัญญาแก่คนเรา
และย่อมเป็นทางให้เกิดความเข้าใจกรรมวิธีของจิตใจ กล่าวคือการเข้าใจตน
และเข้าใจธรรมชาติแห่งตนอย่างถึงที่สุด
"ทราบบ่อเกิดแห่งจักรวาล"คำนี้ฟังดูลึกลับซับซ้อนละเอียดอ่อนและน่าค้นหา
มันย่อมหมายถึงการเข้าใจความเป็นไปในสังสารวัฏอันยาวนานได้
เราย่อมเห็นถึงความจริงของสรรพชีวิตได้ ดังนี้
   "ดำรงตนอยู่ในสภาวะ ย่อมแลเห็นปรากฏการณ์ที่ถูกสร้างสรรค์"
จากข้อความในข้างต้นนี้ ใยจะไม่หมายถึงปุถุชนผู้มีผ้าทึบพันห่อดวงตาไว้
พวกเขาเหล่านั้นย่อมถูกปรุงแต่งด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นกิเลสของตนเป็นแน่
เช่นนั้นแล้วพวกเขาจึงไม่สามารถมองเห็นความจริงที่เหนือกว่าไปอีกได้
ดังนั้นปุถุชนแล้จึงเป็นผู้ดำเนินชีวิตไปตามความอยากและหวังการได้ความสุขต่างๆ
ข้อนี้แหละที่ปุถุชนแตกต่างจากนักปราชญ์ผู้มีปัญญา
    "ทั้งความมีและความไร้ ต่างมีบ่อเกิดเดียวกัน"
สำหรับคำว่า"บ่อเกิด"ความเข้าใจต่อคำนี้ของข้าพเจ้ามีอยู่อย่างนี้ว่า
การรับรู้อันผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันเป็นช่องทางรับรู้แห่ง
สัญญา สังขาร วิญญาณ เวทนา และรูป อันช่วยกันทำหน้าที่ประสาทการทุกอย่าง
ทั้งหมดนี้แลที่เป็นลักษณะของบ่อเกิด ทั้งของความมีและความไร้ หรือความเป็นและไม่เป็นของสรรพสิ่ง
ดังนั้นในทัศนะของข้าพเจ้า"ความมีและความไร้"จึงหมายถึง
การสมมติและปราศจากการสมมตินั่นเอง
   "แต่แตกต่างกันเมื่อปรากฏออกมา"
โสกราตีสเคยกล่าวว่าการไม่มีสมมติคือการเห็นและการเข้าใจโดยความเป็นรูปแบบ
เช่นนั้นแล้วข้อนี้ท่านเล่าจื้อไม่ได้กำลังกล่าวถึงการมีสติปัญญาอยู่หรอกหรือ
เพราะความแตกต่างเมื่อปรากฏออกมาหมายถึงบ่อเกิดที่ได้รับการศึกษาและเป็นวิชชา
ย่อมต่างจากความเขลาของอวิชาที่เฝ้าแต่ปรุงแต่งสรรพสิ่งแล้วหลงใหล
   "บ่อเกิดนั้นสุดแสนล้ำลึก"
ถึงแม้ผมจะศึกษาธรรมะมาเพียงไม่กี่ปีแต่ก็อยากจะลองหยั่งให้ผู้อื่นเข้าใจในความลึกล้ำนั้น
การหยังในข้อนี้นั้น ย่อมไม่ใช่การใช้กำลังของปัญญาหรือตรรกะของตนเองมาเพื่อใช้ทำความเข้าใจ
แต่ต้องอาศัยความตื่นรู้และดำดิ่งเพื่อดูความเป็นไปอย่างสงบงัน
จึงอาจสามารถเห็นและเข้าใจบ่อเกิดที่ล้ำลึกด้วยตนเองได้
ซึ่งก็คือการเข้าใจในธรรมชาติแห่งตนและปรัชญาอันเป็นปัญญานั่นเอง
   "ความล้ำลึกสุดแสนนั้น คือประตูที่เปิดไปสู่ความรู้แจ้งแห่งสรรพชีวิต"
ความรู้แจ้งแห่งสรรพชีวิตนี้ย่อมเป็นความเข้าใจที่ต้องเข้าใจด้วยตนเองเป็นแน่
คือการรู้แจ้งด้วยตน คลายความสงสัยด้วยตน ต่อความจริงแห่งตนและสรรพชีวิต
และสิ่งนี้แหละความจริงอันสูงสุดที่ท่านเล่าจื้อแนะนำให้พวกเรากระทำให้แจ้งชัด

    การพิจรณาคำภีร์เต่าเต็กเก็งบทแรกของผมก็ขอจบลงแต่เพียงเท่านี้
หากท่านผู้อ่านมีความสงสัยตรงจุดไหน
อยากตำหนิหรือแนะนำในความผิดพลาดของผมว่าอย่างไร
ก็สามารถโพสข้อความไว้ด่านล่างได้นะครับ ผมจะน้อมรับทุกคำถามแน่นอน

https://amehart.blogspot.com
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่