'รอยเตอร์' แฉ 'รัฐบาลไทย' ซื้อซอฟต์แวร์สอดแนม เพื่อเก็บภาษีออนไลน์

กระทู้ข่าว
https://truststoreonline.com/2017/11/n-11-สื่อนอกแฉรัฐไทย/

สำนักข่าวรอยเตอร์(Reuters) ได้ออกมาเปิดเผยว่า รัฐบาลทหารไทยเตรียมตัวที่จะจัดซื้อซอฟแวร์ ที่จะช่วยให้รัฐบาลทหารสามารถแกะรอยและมอนิเตอร์กิจกรรมออนไลน์ของประชาชนไทย


ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายไซเบอร์ที่เอื้อให้รัฐบาลทหารไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารส่วนบุคคลได้สะดวกยิ่งขึ้น


สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า กระทรวงดิจิตอลของไทย เตรียมงบประมาณถึง 128.56 ล้านบาท หรือ ราว 3.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ


ในการจัดซื้อซอฟแวร์วิเคราะห์ระบบข้อมูลออนไลน์ ซึ่งจะสามารถจับตา และสร้างแผนที่เครือข่ายการสื่อสารระหว่างผู้ใช้มากกว่า 1 ล้านรายได้


ซอฟแวร์ดังกล่าวจะต้องสามารถกวาด และเก็บข้อมูลในโลกออนไลน์เพื่อนำมาวิเคราะห์และจับตา


นายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ ผู้อำนวยการกองโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการดิจิทัล ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ พร้อมระบุว่ารัฐบาลไทยเตรียมที่จะเปิดการพิจารณาคัดเลือกซอฟแวร์ดังกล่าวแล้ว


นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 จำนวนตัวเลขผู้ที่ถูกจับกุมจากการกระทำความผิดด้านคอมพิวเตอร์ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก


โดยส่วนใหญ่เป็นความผิดจากการโพสต์ข้อความที่ผิดกฎหมายในเฟซบุ๊ก โดยมีข้อมูลว่ารัฐบาลไทยได้มีคำขอให้เฟซบุ๊กมีการบล็อกข้อความที่มีการโพสต์จากผู้ใช้ชาวไทยกว่า 300 ครั้ง ในปีนี้


โดยจำนวนการร้องขอดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยในช่วงตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 – 2560 มีการร้องขอเพียง 80 ครั้งเท่านั้น


นอกจากนี้รัฐบาลทหารไทยยังมีความพยายามผลักดันกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ จะเรียกเก็บเงินเพื่อเป็นการดูแลรักษาความปลอดภัยของข้อมูลบนโลกไซเบอร์ การเรียกเก็บเงินมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความมั่นคงของชาติ ทำให้รัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลของบุคคลที่สงสัยได้ และคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ในปีนี้


โดยไม่สนใจว่าจะมีการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนไทยว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะให้อำนาจแก่รัฐบาลในการสอดแนมประชาชน


โดยร่างกฎหมายดังกล่าวมีบทบัญญัติที่สำคัญ และน่าจับตามองคือ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการ “สั่ง” ให้บุคคลต้องตอบคำถาม หรือมอบข้อมูล


รวมถึงให้อำนาจในการดักฟัง ดักข้อมูล และแฮ็กเข้าสู่ระบบขออุปกรณ์สื่อสาร ตั้งแต่โทรศัพท์ ไปจนถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ต้องสงสัย และหากเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็น “กรณีฉุกเฉิน” สามารถดำเนินการได้ทันทีไม่ต้องมีหมายศาล!!!


ด้วยบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของไทยมากเช่นนี้ จึงทำให้เกิดเสียงต่อต้าน และวิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างมาก


เพราะอาจจะเข้าข่ายการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และเป็นการสอดแนมประชาชนโดยภาครัฐอย่างชัดเจน แต่แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์แต่ก็ดูเหมือนรัฐบาลทหารไทยจะไม่ได้ให้ความใส่ใจ ยังคงเดินหน้าร่างกฎหมายดังกล่าวต่อไป


โดย พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า “ไม่มีอะไรน่ากลัวถ้าคุณไม่ได้ทำผิด”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่