ส่อคว้า “บุคคลแห่งปี 67” ทางโซเชียล ใจจริง “อานนท์” น่าหวังได้ประกันตัว (หงส์เหนือมังกร)

กระทู้คำถาม
26 ธ.ค. 67
Thai PBS
แม้เป็นเพียงข่าวเล็ก ๆ บนหน้าสื่อ แต่ในโลกโซเชียลกลับฮือฮา เมื่อสื่อใหญ่กรรมกรข่าวเปิดให้คนทั่วไปเสนอชื่อบุคคลแห่งปีได้ ปรากฏชื่อ “นายอานนท์ นำภา” ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและเป็นผู้ต้องหาคดี 112 มีคะแนนนำหน้าใคร ๆ

แตกต่างไปจากการจัดอันดับบุคคลแห่งปีทั่วไป จากการจัดของสื่อ ส่วนใหญ่ผู้ได้รับโหวตเลือก มักจะเป็นนักการเมือง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ที่ได้ตำแหน่งนี้หลายคน รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับเลือกเป็นบุคคลแห่งปี 2566

หรือหากเป็นโหวตเลือกจากประชาชนของโพลสำนักต่าง ๆ มักจะมีชื่อนักการเมืองดาวรุ่ง หรือชื่อดังติดอันดับหนึ่งเสมอ ๆ เช่น ผลสำรวจของนิด้าโพล ปี 2565 นักการเมืองที่สุดแห่งปี 2565 เป็นของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ขณะนั้น และฝ่ายหญิง เป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ปีนั้นยังเป็นเพียงหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ไม่น่าจะต่างจากปี 2567 ที่คาดหมายว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ยังเป็น “ตัวเก็ง” ที่จะได้รับโหวตเป็นบุคคลแห่งปี 

ไม่ว่าจะค่ายใดค่ายหนึ่ง ในฐานะนายกรัฐมนตรีหญิง ที่มีคะแนนนิยมจากโพลหลายสำนัก ขึ้นมานำเป็นอันดับหนึ่ง เพราะมีเรื่องราวและผลงานปรากฏบนหน้าสื่อไม่น้อย รวมทั้งที่เป็นสีสัน เช่น เรื่องแต่งกายที่ต้อง “เป๊ะ” ทันยุคสมัยแฟชั่นโลกอย่างปฏิเสธไม่ได้

"แต่กระนั้น คู่แข่งที่มีโอกาสเบียดเป็นบุคคลแห่งปี 2567 ไม่ใช่คนอื่นไกล เป็นนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คนที่เป็นพ่อ จากที่มีบทบาทชัดเจนทางการเมืองและผู้สนับสนุน คุ้มกัน อุ้มชู ลูกสาว จนได้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ของประเทศ เห็นได้ชัดจากรัฐบาลได้ฉายา "รัฐบาลพ่อเลี้ยง" จากนักข่าวทำเนียบ ประจำปี 2567"

ส่วนสื่อไหน โพลสำนักไหน จะเลือกใครเป็นบุคคลแห่งปี คงจะรู้กันในวันสองวันนี้

สำหรับนายอานนท์ คนที่คนในโลกโซเชียลโหวตหนุนให้เป็นบุคคลแห่งปี และมีคะแนนนำอยู่ขณะนี้
ล่าสุดวันที่ 19 ธ.ค.2567 ศาลอาญาสั่งจำคุกกรณีจัดม็อบ “แฮร์รี่พอตเตอร์” หมิ่นเบื้องสูง อีก 2 ปี 8 เดือน เมื่อรวมโทษจำคุกทั้งหมด 6 คดี ที่ศาลตัดสินแล้ว รวมจำคุก 18 ปี 10 เดือน 20 วัน

ขณะที่ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่รับทำคดีให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม และเหยื่อทางการเมือง นับถึงวันที่ 20 ต.ค.2567 มีแกนนำผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 อย่างน้อย 12 คน ในจำนวนนี้ นายอานนท์ นำภา มีมากสุดถึง 25 คดี โดนตัดสินจำคุกด้วยจำนวนปีดังกล่าว เท่ากับยังไม่นับคดีอื่น ๆ ที่ยังรอการพิจารณาหรือรอคำพิพากษาศาล

"เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นายอานนท์ ต้องโพสต์ข้อความและเขียนจดหมายจากคุกส่งถึงลูกทั้ง 2 คนหลายครั้ง โอดครวญคิดถึงและอยากจะได้กอดลูก ๆ ในฐานะคนเป็นพ่อ แต่ที่ชวนเศร้ามากกว่านั้น คือเขาหวั่นเกรงว่า เมื่อถึงวันที่ตนเองพ้นโทษออกจากเรือนจำ จะกลายเป็นคนแปลกหน้าสำหรับลูกๆ เพราะไม่เคยได้อยู่ด้วยกัน"

สอดคล้องกับที่ “มายด์” น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรมทางการเมือง แกนนำผู้ชุมนุมในอดีตเช่นกัน ที่พูดในงาน Stand Together ครั้งที่ 10 เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ตอนหนึ่งกล่าวถึง 

กฎหมายนิรโทษกรรม ที่จะเป็นทางออกหนึ่งให้กับคนที่ถูกคดี มาตรา 112 และย้ำว่า การนิรโทษกรรมประชาชนหากไม่เกิดขึ้น อาจได้เจอกับนายอานนท์อีกที ในตอนที่หลาน(หมายถึงลูกๆนายอานนท์) บรรลุนิติภาวะแล้ว

สำหรับร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ที่เป็นความหวังของคนต้องคดี มาตรา 112 จนแล้วจนรอดก็ยังไปไม่ถึงไหน ล่าสุด เมื่อเดือนต.ค.2567 ที่ผ่านมา แม้สภาผู้แทนราษฎรจะรับทราบรายงานผลการศึกษาแนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรม คดีการเมือง แต่ได้ “ตีตก”ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ (กมธ.)
หนำซ้ำ มี สส.พรรคเพื่อไทย เจ้าของญัตติ เพียง 11 คนเท่านั้น ที่โหวตเห็นชอบ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล ต่างประกาศจุดยืนชัดแต่ต้น ไม่เอาด้วย หากมีพ่วงผู้ทำผิดคดี มาตรา 112 ในร่างกฎหมายดังกล่าว

ทำให้โอกาสของร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ที่อยู่ในคิวเสนอและพิจารณาของสภาผู้แทนฯ 5 ร่าง รวมทั้งของพรรคเพื่อไทย ยังอาจต้องลุ้นกันเหนื่อยกันต่อไป แม้แกนนำในพรรคเพื่อไทยหลายคน จะย้ำว่า ในร่างกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ไม่รวมเรื่องมาตรา 110 และมาตรา 112 ก็ตาม

ดังนั้น เมื่อดูจากปัจจัยและแนวโน้มความเป็นไปได้แล้ว นายอานนท์ ซึ่งขณะนี้ ยังถูกศาลตีตกคำร้องขอประกันตัว แม้จะมีโอกาสได้รับการโหวตเลือกเป็นบุคคลแห่งปีในโลกโซเชียล จากผลโหวตของประชนชนที่ไปร่วมโหวตสนับสนุนได้ แต่การจะได้รับเลือกให้เป็นบุคคลแห่งปีอย่างเป็นทางการบนโลกความเป็นจริง อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ที่แน่ ๆ หากถามนายอานนท์ คงได้คำตอบว่า เขาอยากจะได้รับโอกาสประกันตัวออกจากมาสู้คดี และได้อยู่พร้อมหน้ากับครอบครัว ลูกๆ มากกว่าการได้รับเลือกเป็น “บุคคลแห่งปี 67” เป็นไหน ๆ

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
https://www.thaipbs.or.th/news/content/347609
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่