JJNY : 24 มิถุนายื่น ยูเอ็น│ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ ประจำปี 2567│พท.ถูกร้องยุบพรรคมากสุด│สภาเกาหลีใต้ผ่านร่าง กม.สอบสวนปธน.

กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ยื่น ยูเอ็น เร่งกำหนดมาตรการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
https://www.matichon.co.th/politics/news_4946359

 
กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ยื่น ยูเอ็น เร่งกำหนดมาตรการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านการเจรจาการค้า จี้ รัฐบาลแพทองธาร ออกกม.นิรโทษกรรมรวม ม.112  
 
เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 10 ธันวาคม  ที่ สำนักงานสหประชาติ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และสหภาพคนทำงาน เข้ายื่นหนังสือต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อขอให้ปกป้องสิทธิมนุษยชนไทย รัฐบาลต้องนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 รวมถึงคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์ม
โดยนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ประธานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กล่าวว่า ในระหว่างปี 2557-2566 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงมีผู้ลี้ภัยการเมืองกว่า 300 คน ในจำนวนนี้มีผู้ที่ถูกบังคับสูญหาย 9 คน ในปี 2563 นักศึกษา ประชาชนได้รวมตัวกันเรียกร้องให้มีการปฏิรูป แต่ถูกรัฐบาลปราบปรามอย่างรุนแรง มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตาม มาตรา 112 จำนวน 276 คน
 ใน 308 คดี  มีผู้ถูกคุมขังทางการเมืองแล้ว 41 คน และเป็นข้อหาตามคดีมาตรา 112 จำนวน 26 คน ซึ่งไม่ได้รับสิทธิประกันตัว และอีก 17 คนที่คดีสิ้นสุดแล้ว
 
นายสมยศ กล่าวว่า องค์กรสิทธิมนุษยชนในนามเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนได้รวบรวมรายชื่อ 35,905 รายชื่อ เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนิรโทษกรรมประชาชนที่เคยต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตยหลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมาโดยเป็นการนิรโทษกรรมทุกคดี รวมมาตรา 112 ซี่งมีความสำคัญต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยแต่รัฐบาลปฏิเสธ
 
นอกจากนี้ยังมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้ใช้แรงงานอย่างรุนแรงอีกด้วย สหภาพคนทำงานได้รายงานสถานการณ์การจ้างงานภาครัฐทั้งในส่วนของราชการและรัฐวิสาหกิจ ด้วยการประมูลจากบริษัทรับเหมาช่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจ้างงานครูอัตราจ้างจำนวนกว่า 70,000 คน จากเดิมที่เป็นการจ้างงานสัญญาจ้างปีต่อปี จะเปลี่ยนเป็นการจ้างงานด้วยการประมูลจากบริษัทรับเหมาช่วงเช่นเดียวกันกับ การจ้างงานด้วยการประมูลพนักงานแม่บ้านทำความสะอาดในหน่วยงานรัฐ ที่ทำให้มีการละเมิดสิทธิแรงงานในด้านต่างๆ
 
นอกจากนี้ในภาคขนส่งและการบริการยังมีการจ้างงานแพลทฟอร์ม เช่นไรเดอร์ว่า 400,000 คน ทำงานยาวนานชั่วโมง เสี่ยงอันตราย แต่ไม่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน   โดยที่ไม่อาจรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานและการเจราต่อรอง เพื่อยกระดับสภาพการจ้างให้ดีขึ้นได้ ทั้งนี้รัฐบาลไทย ยังไม่ให้การรับรองอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศในเรื่องสิทธิสหภาพแรงงานและฉบับที่ 87( เสรีภาพการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน)และฉบับที่ 98 (การเจรจาต่อรอง ) ทำให้กฎหมายแรงงานของไทยล้าหลังในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนงาน ตั้งแต่ปี 2015ถึงปัจจุบัน พบว่ามีนักสหภาพแรงงานในประเทศไทยถูกเลิกจ้างและถูกกลั่นแกล้งฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลด้วยข้อหาต่าง ๆ มากถึง 1,371 คน
 
นายสมยศ กล่าวว่า  ขณะที่พรรคการเมืองเสนอการแก้ไขมาตรา 112 กลับถูกยุบพรรคและตัดสิทธิการเมือง รวมทั้งรัฐบาลแพทองธารยัง เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานในการให้รัฐบาลรัฐรองอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ 87/98  จึงขอเรียกร้องต่อ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและนานาชาติ ให้พิจารณาอย่างเร่งด่วนและกำหนดมาตรการทั้งในด้าน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและในด้านการเจรจาการค้า การลงทุน ระหว่างประเทศ ให้มีเงื่อนไขด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อให้รัฐบาลแพทองธารออกกฎหมายนิรโทษกรรมรวมมาตรา 112   เพื่อปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน  ประกันสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นด้วยการแก้ไขมาตรา 112 และรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศ 87/98   ตลอดจนแก้ไขกฎหมายแรงงานเพื่อเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพนักงานภาครัฐ  ยกเลิกการจ้างงานผ่านการรับเหมาช่วงและการประมูลที่เป็นการกดขี่และการกีดกันสิทธิแรงงานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้บรรจุครูอัตราจ้างและ พนักงานความสะอาด เป็นการจ้างงานประจำ   ไม่มีการเลือกปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความแตกต่างในการจ้างงาน



แอมเนสตี้เปิดตัวแคมเปญ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ ประจำปี 2567
https://prachatai.com/journal/2024/12/111656
 
แอมเนสตี้เปิดตัวแคมเปญ ‘Write for Rights’ หรือ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ ประจำปี 2567 เปล่งเสียงเพื่อเปลี่ยนโลก ด้วยปลายปากกาของคนธรรมดา
 
10 ธ.ค. 2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดตัวแคมเปญ ‘Write for Rights’ หรือ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ ประจำปี 2567 เชิญชวนคนไทยร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงไปกับคนทั่วโลกเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกละเมิดสิทธิผ่านการเขียนจดหมายถึงพวกเขา โดยมีจุดประสงค์เพื่อยืนหยัดเคียงข้างผู้ถูกละเมิดสิทธิและครอบครัวของพวกเขาไม่ให้เกิดความรู้สึกว่ากำลังต่อสู้เพียงลำพัง นอกจากนี้ ยังสามารถเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำมาสู่ความยุติธรรม และสื่อสารไปทั่วโลกว่า ประชาชนพร้อมที่จะยืนหยัดต่อสู้กับการใช้อำนาจโดยมิชอบ ไม่ว่าการใช้อำนาจนั้นจะเกิดที่ใดบนโลกก็ตาม โดยแคมเปญนี้ได้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 23 แล้ว
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวแคมเปญประจำปีอย่าง ‘Write for Rights’ หรือ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือน พ.ย. ถึง ก.พ. เพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมและยืนหยัดเคียงข้างผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ระเบียบโลกกำลังถูกท้าทายและสิทธิมนุษยชนกำลังเผชิญกับภัยคุกคามอย่างไม่เคยมีมาก่อน
 
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า แคมเปญ ‘Write for Rights’ หรือ 'เขียน เปลี่ยน โลก’ เริ่มต้นเมื่อ 23 ปีที่แล้วที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ จากกลุ่มเพื่อนที่ตัดสินใจเฉลิมฉลองวันสิทธิมนุษยชนสากล ด้วยการเขียนจดหมายมาราธอนติดต่อกัน 24 ชั่วโมง โดยเขียนจดหมายทั้งวันทั้งคืนในนามของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ จนแคมเปญนี้ได้เติบโตเป็นกิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนประจำปีที่ใหญ่ที่สุดของแอมเนสตี้ ที่ผู้คนจากทั่วโลกมาร่วมกันปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับผู้ที่เผชิญความเสี่ยง
 
การที่ประชาชนที่ออกมาพูดเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือออกมาชุมนุมประท้วงเพื่อแสดงความกังวลต่อสถานการณ์โลกที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ แต่พวกเขากลับถูกจับกุมคุมขัง ถูกยิง ถูกทรมาน ถูกบังคับให้สูญหาย และถูกสังหาร ถือเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้
 
ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ประเทศไทยเน้นย้ำว่า ในยุคที่ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไป แต่พื้นที่ภาคประชาสังคมกำลังหดตัวลง และภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศกำลังทวีความร้ายแรงมากขึ้นกว่าเดิม เสียงของผู้ที่ออกมาปกป้องสิทธิมนุษยชนจึงมีความสำคัญมากกว่าที่เคย พวกเขาต้องได้รับการสนับสนุนและยืนหยัดเคียงข้าง
 
การเขียนจดหมาย การลงชื่อสนับสนุน และการแบ่งปันเรื่องราว เป็นวิธีที่ทรงพลังที่เราสามารถสนับสนุนนักกิจกรรมที่กำลังเผชิญความเสี่ยงได้ เราสามารถใช้เสียงของเราเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการปราบปรามสิทธิเสรีภาพ ตรวจสอบการกระทำของผู้ที่มีอำนาจ และเรียกร้องความยุติธรรมสำหรับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้ที่รับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนเติบโตขึ้นได้ ท่ามกลางความเงียบและความเพิกเฉย แต่อำนาจของเขาจะหดตัวลง ถ้าพวกเราร่วมมือกัน พูดเสียงดัง มีการจัดตั้ง และมีความสามัคคี ท่ามกลางความแตกแยกที่พวกเขาสร้างขึ้นมา มาร่วมมือกับเรา มาแสดงจุดยืนเพื่อสิทธิมนุษยชนไปด้วยกัน
  
คนธรรมดาเปลี่ยนแปลงโลกได้ด้วยข้อความสั้นๆ ที่จะร่วมกันยืนยันในหลักการของผู้ที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชนและจะเป็นแรงหนุนให้ผู้ที่ถูกคุกคามมีกำลังใจในการทำหน้าที่ต่อไป บอกเขาว่า ยังมีพวกเราอยู่เคียงข้าง ไม่มีใครทอดทิ้งเขา และพร้อมที่จะสู้ไปกับเขา อย่าดูถูกดูแคลนตัวอักษร อย่าดูถูกดูแคลนพลังของจดหมาย หรือพลังของคนตัวเล็ก และเชื่อมั่นในพลังของตัวเอง ‘พลังของคนธรรมดานี่แหละที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้’” ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ประเทศไทยกล่าวทิ้งท้าย
 
สำหรับเคสผู้ถูกละเมิดสิทธิทั่วโลกที่แอมเนสตี้ ประเทศไทยรณรงค์ในปีนี้ นอกจากกรณีของ “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังมีอีก 9 กรณีทั่วโลกที่ต้องการเสียงสนับสนุนของทุกคน เช่น “พัค คยองซอก” นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการ จากประเทศเกาหลีใต้ ถูกดำเนินคดีหลังชุมนุมประท้วงโดยสงบที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินกรุงโซล “โจเอล ปาเรเดส” ช่างเซรามิกที่สูญเสียดวงตาข้างหนึ่งจากการสลายการชุมนุมประท้วงในประเทศอาร์เจนตินา  และ “มานาฮีล อัล-โอตัยบี” จากประเทศซาอุดีอาระเบียที่ถูกตัดสินโทษจำคุก 11 ปีจากการสนับสนุนสิทธิผู้หญิงและถูกทำร้ายในระหว่างการถูกคุมขัง เป็นต้น

แอมเนสตี้ ประเทศไทย เชิญชวนเข้าร่วมกับแคมเปญ ‘Write for Rights’ หรือ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ ในปีนี้ และเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการระดับโลกที่เชื่อมั่นในโลกที่ยุติธรรมและเปี่ยมด้วยการเคารพในสิทธิมนุษยชน ร่วม “เขียน เปลี่ยน โลก” ร่วมลงชื่อได้ที่ https://bit.ly/3Zn4PqW เพื่อสร้างความหวังและความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของผู้คนทั่วโลก


 
กกต. เผย เพื่อไทย ถูกร้องยุบพรรคมากสุด 53 คำร้อง-คดี “หมอเกศ” ทำสำนวนครบแล้ว
https://www.thairath.co.th/news/politic/2830193

เลขา กกต. เผย เพื่อไทย แชมป์คำร้องยุบพรรคมากสุดถึง 53 คำร้อง แต่ “กกต.” สั่งยุติเหลือ 6 รอสอบพยานหลักฐาน กำชับเร่งมือ-ให้ความเป็นธรรม มอง เลือกตั้ง อบจ.อุบลฯ เข้มข้นเหมือน อบจ.อุดรฯ เผย ส่งสำนวนคำร้อง “สว.” หมอเกศแล้ว
 
วันที่ 10 ธันวาคม 2567 จังหวัดสมุทรปราการ นายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องยุบพรรคการเมือง ว่าที่ผ่านมามีทั้งหมด 160 คำร้อง พรรคเพื่อไทยมีคำร้องมากที่สุด จำนวน 53 คำร้อง พรรคประชาชน 3 คำร้อง โดยพรรคเพื่อไทยขณะนี้ตนได้พิจารณา จนเหลือ 6 คำร้อง ในส่วนที่เหลือ 47 คำร้อง สั่งให้ยุติการสอบสวน เพราะบางรายมีอะไรก็ยื่นร้อง บางคนก็ยื่นมาถาม อีกทั้งเรื่องของการล้มล้างการปกครอง ที่ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องนั้น ทำให้ไม่มีผลผูกพันถึง กกต.
 
ส่วนคำร้องครอบงำพรรคการเมือง ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องได้แสดงพยานหลักฐาน อย่างไรก็ตามคณะกรรมการสอบสวนคำร้องยุบพรรค ได้ขอขยายเวลาออกไป เนื่องด้วยมีคำร้องที่เกี่ยวโยงถึง 6 พรรคการเมือง นายแสวง กล่าวต่อว่าตนไม่ได้เข้าไปแทรกแซงในเรื่องระยะเวลาการหาพยานหลักฐาน แต่ก็กำชับให้เร่งมือบางครั้งหากช้าเกินไปก็ไม่ดี โดยมั่นใจว่าในสำนวน คณะสอบสวนจะทราบขอบเขตและโอกาสที่จะให้กับฝ่ายไหน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย
ส่งสำนวนคำร้อง สว.หมอเกศ แล้ว รอ กกต. จัดวาระ
 
นายแสวง ยังให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการสอบสวนคำร้องคุณสมบัติของพญ.หญิงเกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กรณีวุฒิการศึกษา โดยระบุว่า สำนักงาน กกต. จัดทำสำนวนครบแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนบรรจุในระเบียบวาระการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในเร็วๆ นี้
 
นายแสวง ย้ำว่า การรวบรวมพยานหลักฐานนั้น มีเจตนาให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย มีทั้งหลักฐานจากผู้ร้องที่ส่งมา และสำนักงานรวบรวมหลักฐานด้วยตัวเอง ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน ที่อยู่ในสำนวน
 
ส่วนกรณีอื่นๆ อย่างคำร้องการฮั้วการเลือก นั้นต้องมีการตรวจสอบความเชื่อมโยงของคน รวมถึงเส้นเงิน ซึ่งต้องใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ได้สั่งการเร่งให้ดำเนินการโดยเร็ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่