JJNY : แนะรัฐต้องกล้าชน'กลุ่มทุน-ภาคเกษตรที่ทำการเผา'│ไอติมดักทางครม.│ร้านอาหารโอด│เล็งใช้เบลารุส เป็นฐานไฮเปอร์โซนิก

แนะรัฐต้องกล้าชน 'กลุ่มทุน-ภาคเกษตรที่ทำการเผา' เพื่อแก้ปัญหา PM2.5
https://prachatai.com/journal/2024/12/111612
 
สส.กัลยพัชร พรรคประชาชน รองประธาน กมธ. สาธารณสุข มองรัฐบาลต้องกล้าชนกลุ่มทุน-ผู้ทำการเผาพื้นที่เกษตร เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้เป็นรูปธรรม พร้อมแนะ สธ. สแกนปอดประชาชนพื้นที่เสี่ยง หลังพบคนภาคเหนือเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น
 
7 ธ.ค. 2567 เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) และรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าววิทยุกระจายเสียงรัฐสภา ถึงปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ว่าประเด็นนี้ ปชน. ได้ติดตามและผลักดันแนวทางแก้ปัญหาไปยังรัฐบาลมาตลอด โดยรัฐบาลต้องเตรียมพร้อมรับมือและเร่งแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมไม่เช่นนั้นประชาชนจะต้องหายใจสูดดมฝุ่นควันเข้าสู่ร่างกายต่อไป ทั้งนี้มองว่ารัฐบาลมีบทเรียนมาแล้วมากมาย จึงต้องการให้มีความพร้อมมากกว่านี้ โดยต้องกล้าชนกับกลุ่มทุน ผู้ที่ทำการเผาพื้นที่การเกษตร และการคมนาคมต้องปรับเปลี่ยนให้ผู้ที่ขับรถเครื่องยนต์สันดาปปล่อยควันดำเป็นรถไฟฟ้า (EV) มากขึ้น หรือเข้มงวดในการตรวจเช็คเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอ ส่วนในภาคอุตสาหกรรรมต้องมีการตรวจสอบ และควบคุมการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ในด้านสาธารณสุข มองว่าควรผลักดันให้มีการตรวจเช็คปอดของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการเผา หรือพื้นที่เสี่ยง โดยไม่ต้องรอให้ประชาชนในพื้นที่มีอาหารป่วยเรื้อรังก่อนจึงจะตรวจ เนื่องจากอาจจะสายเกินไป อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าโรคมะเร็งปอดเกิดเร็วขึ้นในช่วงอายุที่น้อยลง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อาจจะมองว่ายังไม่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจนเป็นเพียงผลการศึกษาวิจัยที่บ่งชี้เท่านั้น แต่ส่วนตัวมองว่าฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบโดยตรงและเห็นชัดเจนเชิงประจักษ์ จึงจำเป็นต้องป้องกันไว้ก่อนดีกว่ามาแก้ไขภายหลัง
 
นางสาวกัลยพัชร กล่าวต่อไปว่ากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ควรจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติท้องถิ่น กองทุนไฟป่า ขึ้นมา เพื่อให้ท้องถิ่นนำไปบริหารจัดการได้ทันท่วงที เช่น ที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่ได้ของบประมาณเพื่อดับไฟป่าไปยังส่วนกลางเป็นจำนวนเงินหลักร้อยล้านบาท แต่กลับได้รับการจัดสรรเพียงหลักสิบล้านบาทซึ่งไม่เพียงพอ ดังนั้นอุปสรรคของการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 คือการทำงานยของภาครัฐที่ขาดการบูรณาการร่วมกัน ขาดการกระจายอำนาจ และการแก้ไขปัญหานี้ขึ้นอยู่กับความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี โดยประเด็นฝุ่นนั้นนายกรัฐมนตรีสามารถเป็นหัวเรือหลักในการเปิดพื้นที่พูดคุยกับหน่วยงานและสั่งการต่าง ๆ ได้ทันที หากมีเจตจำนงทางการเมืองที่ต้องการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างแท้จริง



ไอติม หนุนเพื่อไทย ชงรื้อกม.กลาโหม ดักทางครม. ส่งร่างเนื้อหาเบาๆมาประกบ ทำสาระสำคัญไม่ได้แก้
https://www.matichon.co.th/politics/news_4942009
 
ไอติม หนุนส.ส.เพื่อไทย ชงแก้กม.กลาโหม หวังฉบับก้าวไกลได้พิจารณาด้วย หลังโฆษกรบ.เผยจะไม่รับ ดักทางครม. ส่งร่างเนื้อหาเบาๆ มาประกบ ทำสาระสำคัญไม่ได้แก้
 
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2567 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง [ การแก้ไขกฎหมายกลาโหม – คำถามสำคัญคงไม่ใช่แค่ “แก้หรือไม่” แต่คือ “แก้อย่างไร” ] โดยมีเนื้อหาดังนี้

1. เป็นเรื่องดีที่วันนี้ ทางพรรคเพื่อไทยตัดสินใจยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ. ระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เข้ามาที่สภาฯ โดยคาดว่า ร่างของเพื่อไทยจะถูกพิจารณาพร้อมกับร่างของก้าวไกลที่ค้างอยู่ในระเบียบวาระตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว
– ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ (ซึ่งเป็นมรดกจากคณะรัฐประหาร 2549) มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการปฏิรูปกองทัพให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย
– ทางก้าวไกลเราจึงตัดสินใจยื่นร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภาฯเป็นชุดแรกๆทันทีที่สภาฯชุดปัจจุบันเริ่มทำงาน ตอน กรกฎาคม 2566
– ความจริง ร่างดังกล่าวของก้าวไกลได้เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาฯในวาระที่ 1 เมื่อ สิงหาคม 2567 แต่ถูก ครม. “อุ้ม” ออกไปศึกษาก่อน 60 วัน
จึงทำให้ร่างของเพื่อไทยน่าจะทันพิจารณาพร้อมกับร่างของก้าวไกลที่ ครม. ได้ส่งกลับมาที่สภาฯ เรียบร้อยแล้ว
 
2. เนื้อหาในร่างของเพื่อไทยโดยรวมแล้วเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับร่างของก้าวไกล แต่ 1 ประเด็นสำคัญที่ร่างของเพื่อไทยไม่ได้เสนอแก้ไขคือเรื่องของ “อำนาจสภากลาโหม”
– ในกฎหมายปัจจุบัน มาตรา 43 ระบุว่าในการดำเนินการหลายๆเรื่องด้านการทหาร (เช่น นโยบายการทหาร งบประมาณการทหาร ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการทหาร) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลพลเรือน) ไม่สามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้ แต่ต้องทำตามมติของสภากลาโหม (ซึ่งประกอบไปด้วยข้าราชการทหารเป็นหลัก)
– ร่างของเพื่อไทยไม่มีเสนอแก้ไขในประเด็นนี้ แต่ร่างของก้าวไกลมีการปรับลดอำนาจสภากลาโหมจากสภาที่มัดมือรัฐมนตรี มาเป็นสภาที่ให้คำปรึกษารัฐมนตรี (ตามภาพ) เพื่อยืนยันหลักการที่กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน และเพื่อปลดล็อกให้รัฐมนตรีมีบทบาทเป็นตัวแทนประชาชนมากกว่าเป็นโฆษกกองทัพ
 
3. สิ่งที่ต้องจับตามดูตอนนี้คือท่าทีของ ครม. และ ส.ส. รัฐบาลว่าจะเป็นเช่นไร หลังจากที่โฆษกรัฐบาลได้เคยแถลงเมื่อ ตุลาคม 2567 ว่า ครม. มีมติไม่รับหลักการร่างของก้าวไกล
– มาถึงวันนี้ที่พรรคแกนนำรัฐบาลเสนอร่างของตนเองเข้ามาที่มีเนื้อหาสอดคล้องโดยรวมกับร่างของพรรคก้าวไกล.
– สิ่งที่ผมหวังว่า เราจะเห็นคือการที่
(1) ครม. ทบทวนท่าทีที่เคยประกาศไม่เห็นด้วยกับร่างของก้าวไกล และ
(2) ส.ส.รัฐบาล ลงมติรับหลักการทั้งร่างของเพื่อไทยและของก้าวไกล โดยนำรายละเอียดที่ยังแตกต่างกัน (เช่น เรื่องอำนาจสภากลาโหม) ไปถกและหาข้อสรุปกันในชั้นคณะกรรมาธิการ
– สิ่งที่ผมหวังว่าเราจะไม่เห็นคือการที่
(1) ส.ส. รัฐบาลลงมติเห็นชอบให้ร่างของเพื่อไทย แต่ปัดตกร่างของก้าวไกล ทั้งที่เนื้อหามีความใกล้เคียงกัน หรือ
(2) ครม. เสนอร่างของตนเองเข้ามาที่มีเนื้อหาที่ “เบาบาง” และ “จาง” กว่าร่างของเพื่อไทย และก้าวไกลเป็นอย่างมาก และใช้ร่างของ ครม. เป็นร่างหลักจนทำให้เนื้อหาสำคัญที่ร่างของเพื่อไทยและก้าวไกลเสนอให้แก้ไข กลับไม่ได้รับการตอบสนอง
ผมยืนยันว่า การแก้ พ.ร.บ. ระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เป็นกุญแจดอกสำคัญสู่การปฏิรูปกองทัพให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ซึ่งเป็นภารกิจที่ทุกพรรคควรผลักดันร่วมกัน
 
แต่คำถามสำคัญที่สังคมควรจับตามองในวันนี้ อาจไม่ใช่คำถามที่ว่า “จะแก้หรือไม่” แต่คือคำถามที่ว่า “จะแก้อย่างไร” และ “จะแก้ขนาดไหน”

https://www.facebook.com/paritw/posts/pfbid02Lnyp5GafM7mCfgbE5SfAaymPz9cYYui3jbMXKjCnmr7Wc1tzBiccoiKGW3E9smtl



ร้านอาหารโอดยอดจองล่วงหน้าวูบ-กำลังซื้อหด
https://www.dailynews.co.th/news/4160851/

ร้านอาหารโอด ยอดจองล่วงหน้าวูบ-กำลังซื้อหด วอนรัฐอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตรงจุด ไม่ใช่แจกเงินหมื่น

นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร เปิดเผยว่า กำลังซื้อในช่วงปลายปีนี้ ที่เหลือเพียงเดือน ธ.ค. เป็นเดือนสุดท้ายของปี 2567 แล้ว แต่ต้องยอมรับว่ากำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวเลย สะท้อนจากยอดจองล่วงหน้าตามร้านอาหารที่เดิมมีการจองเพื่อจัดเลี้ยงในโอกาสเฉลิมฉลองช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 นี้ ก็ไม่มียอดจองเข้ามา จากเดิมที่ควรจะเห็นแล้วตั้งแต่ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ จึงมองว่ารัฐบาลควรมีมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เป็นแรงส่งไปยังต้นปี 2568 ไม่ใช่ออกมาตรการหรือกฎเกณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายให้ชะลอตัว ทั้งยังเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการมากขึ้นอีก

ทั้งนี้ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา เคยส่งเสียงถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว ว่าควรออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายมากขึ้น เตรียมไว้ก่อนถึงสิ้นปีเลย ผ่านมาตรการที่ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณ คือตัวมาตรการลดหย่อนภาษี ทั้งคนธรรมดาที่ไปใช้บริการร้านอาหาร สามารถลดหย่อนภาษีในปี 2568 ได้ไม่เกิน 2 หมื่นบาท ส่วนนิติบุคคลเมื่อมีการจัดเลี้ยงหรือสัมมนาในร้านอาหาร สามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1 แสนบาท แต่จนถึงตอนนี้รัฐบาลยังไม่มีมาตรการออกมา เนื่องจากมองว่าในช่วงปลายปี ถือเป็นช่วงเทศกาลในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งความจริงแล้วเข้าสู่ช่วงเทศกาลก็จริง แต่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ปกติ และมีความซบเซา เมื่อไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ทำให้เศรษฐกิจซึมลากยาวยิ่งกว่าเดิม
 
เรื่องนี้ได้เคยเตือนรัฐบาลแล้วว่าควรต้องเร่งออกมาก่อนเข้าปลายปี เพราะหากไม่มีอะไรมากระตุ้น คนจะยิ่งไม่จับจ่ายใช้สอย เพราะกลัวว่าปลายปีไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองหรือบริษัท จึงพยายามระมัดระวังในการใช้จ่าย ยกตัวอย่างเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ร้านอาหารต่างๆ บ่นอย่างต่อเนื่องว่าไม่มีการจองล่วงหน้าเข้ามา ทั้งที่ความจริงแล้วในช่วงเดือนพฤศจิกายน จะต้องมีการจองล่วงหน้าแล้ว เพื่อให้ทันจัดภายในช่วงเดือนธันวาคมจนถึงปลายเดือน” นายสรเทพ กล่าว

นายสรเทพ กล่าวว่า เมื่อสะท้อนเสียงไป จะมีเสียงค้านว่า ร้านอาหารแบบนั่งในร้านเงียบก็จริง เพราะสมัยนี้ลูกค้าสั่งกลับไปทานที่บ้านกันหมด ทำให้ยอดการสั่งซื้อผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนนี้อยากให้ไปดูการสำรวจจากศูนย์วิจัยกสิกรที่ออกมาบอกว่า การสั่งอาหารทางออนไลน์เห็นยอดคำสั่งที่ลดลงเช่นกัน เพราะคนรัดเข็มขัดมากขึ้น กำลังซื้อหายไป สิ่งที่ต้องทำในตอนนี้คือรัฐบาลต้องเร่งอัดเงินเข้ามาให้ตรงจุด ไม่ใช่การโยนเงินไปในระบบผ่านแจกเงิน 1 หมื่นบาท ที่ทำออกมาแล้วก็เห็นอยู่ว่ามันเงียบไปเลย ไม่ได้หมุนเป็นพายุทางเศรษฐกิจอย่างที่รัฐบาลคาดหวังไว้ แล้วจะมาแจกเงินให้กลุ่ม ผู้สูงวัย 1 หมื่นบาทอีก ต้องยอมรับว่ากลุ่มคนชรา โดยธรรมชาติแล้วเมื่อได้เงินมาจะไม่นำเงินไปใช้จ่ายแน่นอน มีแต่เก็บ หรือมากสุดก็ให้ลูกหลานไปใช้แทน การออกมาตรการแจกเงินจึงถือเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่ตรงจุดเท่าที่ควร.
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่