JJNY : จิรัฏฐ์แนะรับทั้ง 2 ร่าง│ดุสิตโพล ปชช.ชี้ “ของขวัญปีใหม่”│เตือน 9-10ธ.ค.บางพื้นที่│อดีต รมว.กลาโหมเกาหลีใต้ถูกจับ

จิรัฏฐ์ เทียบหลักการพท. ชงแก้กม.กลาโหม ใกล้เคียงกับก้าวไกล แนะรับทั้ง 2 ร่าง แล้วลุยไปด้วยกัน
https://www.matichon.co.th/politics/news_4942762
 
 
จิรัฏฐ์ เทียบหลักการเพื่อไทย ชงแก้กฎหมายกลาโหม ใกล้เคียงกับก้าวไกล แนะทำไมไม่รับทั้ง 2 ร่าง แล้วลุยไปด้วยกัน
 
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2567 นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา ได้โพสต์ข้อความผ่านแอพพลิเคชั่น X แสดงความคิดเห็นกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอแก้พ.ร.บ.กลาโหมว่า 

ร่างแก้ไขพ.ร.บ.กลาโหมของพรรคเพื่อไทย โดย คุณประยุทธ์ ศิริพานิชย์ เป็นผู้เสนอ เป็นร่างที่น่าสนใจ โดยสาระสำคัญมีแก้ไข
 
1. การแต่งตั้งนายพล ต้องผ่านครม.
2 .ลดจำนวนสภากลาโหมเหลือ 17 คน และนายกฯ เป็นประธาน (พลเรือน 5 กรมบัญชีกลาง 1 ทหาร 11)
3. ห้ามทหารยึดอำนาจ
 
ถือเป็นการแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยเฉพาะการแต่งตั้งนายพล แต่อำนาจของสภากลาโหมยังไม่ได้แก้ไข รวมถึงสัดส่วนกรรมการที่ถึงแม้จะปรับลดจำนวนทหารลงแล้ว แต่สัดส่วนก็ยังมีมากกว่าพลเรือนอยู่ดี แต่การให้นายกฯ เป็นประธาน ก็อาจทำให้มีผลกับการลงมติของสภากลาโหมได้เหมือนกัน (ถ้าทหารเห็นหัวนายกฯ) ส่วนเรื่องห้ามทหารยึดอำนาจใส่ไว้ก็ดี ถึงแม้เราจะมีกฎหมายอาญาห้ามไว้อยู่แล้วก็ตาม
 
ประเด็นคือ หลักการของร่างนี้ใกล้เคียงกับร่างของพรรคประชาชน(ที่เสนอสมัยก้าวไกล) มากๆ ซึ่งร่างของปชช.กำลังจะกลับมาเข้าสภาในสมัยประชุมหน้าที่กำลังจะเปิดเร็วๆนี้ หลังจากครม.ขอไปศึกษา
 
ทำไมพรรคเพื่อไทยไม่ยกมือผ่านร่างของพรรคปชช.แล้วรายละเอียดที่แตกต่างกันก็ค่อยไปว่าในกมธ.ในเมื่อหลักการที่ต้องการให้กองทัพอยู่ใต้พลเรือนของทั้ง 2 ร่างนั้นเหมือนกัน
 
ร่างของพรรคเพื่อไทยฉบับนี้เพิ่งจะเปิดรับความเห็น กว่าจะเสร็จต้องไปต่อคิวกฎหมายอีกหลายฉบับ ที่เผลอๆ จะหมดวาระกันซะก่อนจะได้พิจารณากันในสภาแล้วก็หมดโอกาสได้แก้ไข
 
ผมคิดว่า ถ้าเรามีความตั้งใจเดียวกันที่ต้องการเห็นกองทัพอยู่ใต้พลเรือนตามหลักประชาธิปไตยพรรคเพื่อไทยควรรับร่างของพรรคปชช. แล้วไปร่วมกันทำงานต่อในวาระ 2 หากสำเร็จก็จะเป็นผลงานร่วมกันไม่ไช่ของพรรคใดพรรคหนึ่ง และถือเป็นเป็นผลงานของสภาผู้แทนชุดที่ 26 ที่น่าภูมิใจมากๆด้วย
ขณะนี้ร่างแก้ไขพ.ร.บ.กลาโหมของพรรคเพื่อไทยเปิดรับฟังความเห็นอยู่สามารถเข้าไปร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎรครับ
 
https://x.com/Jirat_MP/status/1865257533021262139
 


สวนดุสิตโพล ปชช.ชี้ “ของขวัญปีใหม่” คือหน้าที่รัฐ เร่งแก้ค่าครองชีพ
https://www.innnews.co.th/news/politics/news_812931/

สวนดุสิตโพล ปชช.มอง“มอบของขวัญให้ประชาชนช่วง ปีใหม่จากรัฐบาล”เป็นหน้าที่ของรัฐ เผย อยากให้เร่งแก้ไขปัญหาค่าครองชีพมากที่สุด
  
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “คนไทยกับของขวัญปีใหม่จากรัฐบาล” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,246 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 3-6 ธ.ค. 2567 พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีแผนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ ร้อยละ 56.02 โดยเป็นแผนเที่ยวในประเทศ ร้อยละ 90.26 ต่างประเทศ ร้อยละ 9.74 จังหวัดที่อยากไปเที่ยวมากที่สุด คือ เชียงใหม่ ร้อยละ 56.83 รองลงมาคือ เชียงราย ร้อยละ 49.05 โดยคาดการณ์ว่าจะใช้จ่ายในช่วงปีใหม่ เฉลี่ยประมาณ 17,317.10 บาท/ต่อคน จากที่รัฐบาลประกาศจะมอบของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ของขวัญที่อยากได้มากที่สุด คือ มาตรการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ ร้อยละ 59.95 รองลงมาคือ ช่วยสนับสนุนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพลังงานต่าง ๆ ร้อยละ 58.03 ทั้งนี้แนวคิดในการ “มอบของขวัญให้ประชาชนช่วง ปีใหม่จากรัฐบาล” มองว่าควรเป็นหน้าที่ที่จะต้องดำเนินงานของรัฐบาลอยู่แล้ว ร้อยละ 60.76 สุดท้ายปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลแก้ไขก่อนปีใหม่ คือ ปัญหาค่าครองชีพ ร้อยละ 66.48
 
นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าของขวัญปีใหม่ที่ประชาชนคาดหวังจากรัฐบาล คือ มาตรการแจกเงิน สะท้อนภาระค่าครองชีพที่เป็นปัญหาหลักในปัจจุบัน ความต้องการของประชาชนไม่ได้เป็นเพียง “ความหวัง” แต่เป็น “สัญญาณ” ที่สะท้อนถึงปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตในประเทศ รัฐบาลจึงควรใช้โอกาสช่วงปีใหม่พัฒนานโยบายเศรษฐกิจที่มีผลยั่งยืน เพื่อไม่ให้ “ของขวัญ” กลายเป็นเรื่องพิเศษแต่กลับสะท้อนปัญหาพื้นฐานในสังคม
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัญชลี รัตนะ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต อธิบายว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำทั่วโลก ประเทศไทยก็อยู่ในสถานการณ์ไม่ต่างกัน โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลัง ปี 2567 บริษัทเอกชนหลายแห่งพยายามยื้อธุรกิจด้วยการปรับลดขนาดองค์กรและพนักงาน บางรายไปต่อไม่ไหวถึงขั้นปิดตัวลง ผลกระทบขยายวงกว้างรวมถึงครอบครัวของพนักงาน ส่งผลให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยช่วงปลายปีของประชาชน ไม่คึกคักอย่างที่คาดการณ์ไว้ สอดคล้องกับผลสำรวจเรื่องแผนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ของประชาชน ที่พบเพียงร้อยละ 56.02



เตือน 9-10 ธ.ค.บางพื้นที่ใต้ตอนล่าง ยังเจอฝนตกหนัก
https://www.matichon.co.th/local/news_4943126

เตือน 9-10 ธ.ค.บางพื้นที่ใต้ตอนล่าง ยังเจอฝนตกหนัก
 
ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของไทย วันที่ 8 ธันวาคม ดังนี้
 
1.สภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : ในวันที่ 9-10 ธ.ค. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
 
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 81% ของความจุเก็บกัก (65,578 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 71% (41,358 ล้าน ลบ.ม.) เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 3 แห่ง ดังนี้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ และลำตะคอง เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำสูงกว่าระดับน้ำควบคุมสูงสุด 1 แห่ง ดังนี้
ภาคใต้ : บางลาง
 
3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
 
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ (7 ธ.ค. 67) นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (ส่วนหน้า) นราธิวาส เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ผ่านระบบออนไลน์ โดยสถานการณ์ภาพรวมน้ำลดลงทุกจังหวัด แต่ยังคงให้แต่ละจังหวัดตรึงกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลสาธารณภัยรองรับการเผชิญเหตุหากเกิดฝนตกหนักและเกิดสถานการณ์ระลอกที่สอง ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการเน้นย้ำของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ได้กำชับให้ทีม ปภ.ส่วนหน้า ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และร่วมกับจังหวัดในการเตรียมพร้อมเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชน จากนั้นได้ลงตรวจราชการพื้นที่ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ตรวจสอบพื้นที่แนวแม่น้ำสายบุรี ร่วมกับนายอำเภอรามัน และ ปภ.จังหวัดยะลา เพื่อติดตามการปฏิบัติงานของศูนย์ ปภ. เขต 11 สุราษฎร์ธานี ที่ได้นำรถผลิตน้ำดื่มให้บริการน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัย พร้อมทั้งยังได้จัดเตรียมถุงยังชีพ เพื่อนำแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัยอีกด้วย
 
5. การให้ความช่วยเหลือ : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นำเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในย่านเศรษฐกิจของเมืองปัตตานี บริเวณสะพานเดชานุชิตและสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำสะพานบั่นเฉ้ง อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี
 
กรมชลประทาน ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ บริเวณตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง และบริเวณ หมู่ที่ 5 ตำบลปากนคร อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่