...การคิดไม่ดีหรือทรยศต่อประเทศชาติเป็นบาปตามหลักพุทธศาสนาไหม?...

กระทู้คำถาม
ไม่นานมานี้มีเพื่อนสมาชิกถามเอาไว้ :-


ผมมองอย่างนี้นะครับ    ก่อนอื่นเลย  หลักพุทธศาสนาไม่ได้มีการบัญญัติเรื่องอย่างนี้ไว้ตรงๆ เพราะแก่นของศาสนาพุทธไม่ได้อยู่ที่ “ประเทศชาติ”  หากแต่อยู่ที่วิมุติคือการหลุดพ้น   ในมุมมองของพุทธศาสนา "ประเทศชาติ" จึงเป็นเพียงสิ่งสมมุติ    แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่สามารถนำหลักพุทธศาสนามาเทียบเคียงเพื่อวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบได้


การคิดไม่ดีหรือทรยศต่อประเทศชาติ”   ต้องเข้าใจให้ตรงกัน เสียก่อนว่าขณะนี้ยังเป็นเพียง “การคิด” หรือทางพุทธศาสนาเรียกว่ากระบวนการนี้ว่า “มโนกรรม” คือยังอยู่ในระหว่างการปรุงแต่งของจิต  จิตที่ถูกลาภะ  โทสะ  โมหะผสมปรุงแต่ง  ทางพุทธศาสนาเรียกจิตประเภทนี้ว่า “อกุศลจิต”    แต่ถ้าไม่มีอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสามอย่างถือว่าเป็น “กุศลจิต”   ถึงตรงนี้  หลายท่านก็คงพอจะเริ่มเห็นลางๆ ว่าการคิดและการกระทำบาปของมนุษย์นั้นมีรากเหง้ามาจากไหน?    



เอาล่ะ...หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการแรก(มโนกรรม)แล้ว  ก็เข้าสู่กระบวนการที่สอง  คือหลังจากคิดแล้วก็เริ่มกระทำคือทรยศประเทศชาติ   โจทก์ที่ต้องขบคิดต่อไปก็คือ “ผู้ถูกกระทำ”   ถ้าผู้ถูกกระทำเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งมีชีวิต   และได้รับความเดือดร้อน  ความทุกข์ทรมานจากการกระทำ(กายกรรม)แล้ว   การกระทำนั้นถือว่าเป็นบาปแน่นอน    เผอิญว่าผู้ถูกกระทำตรงนี้คือ “ประเทศชาติ”  ซึ่งตามความเข้าใจทั่วๆ ไป “ประเทศชาติ”นั้นเป็นเพียงนามธรรมไม่ใช่สิ่งมีชีวิต    และในเมื่อประเทศชาติเป็นเพียงนามธรรมเช่นนี้ รูป  เวทนา  สัญญา สังขารและวิญญาณก็ไม่มี   ดังนั้นความเดือดร้อน  ความทุกข์  ความโศกเศร้ารำพันจึงไม่มีสำหรับประเทศชาติ     อันนี้ผมพูดตามหลักพุทธศาสนานะ....แน่ล่ะบางคนอาจจะแย้งด้วยการยกอ้างประโยคที่บ่งบอกว่าว่าประเทศชาติเป็นรูปธรรม ประเทศชาติล่มสลาย  ประเทศชาติเสียหาย  ประเทศชาติเดือดร้อน   ประโยคเหล่านี้มีอยู่จริงและเราใช้กันอย่างดาษดื่นและเป็นทางการด้วย  แต่ส่วนใหญ่จะเป็นความหมายที่ถูกใช้ทางปรัชญารัฐศาสตร์   แต่ข้อเท็จจริงในหลักพุทธศาสนา  ประเทศชาติเป็นเพียงนามธรรม  ที่ไม่ได้รู้สึกเจ็บปวด  เสียใจ  ผิดหวัง  ดีใจอะไร  และประเทศชาติไม่ใช่สิ่งมีชีวิต   ส่วนที่ใครๆ บอกว่าประเทศชาติเจ็บปวดมามากพอแล้วนั้น   ก็ต้องมองให้ถึงแก่นว่าจริงๆ แล้วใครเจ็บปวด?



พุทธศาสนามองว่า   วิบากรรม(ผลจากการทำบาป)จะไม่มีผลใดๆ กับสิ่งที่ไม่มีชีวิตหรือสิ่งที่ไม่มีวิญญาณครอง    ยกตัวอย่างเช่น  นายก. ไปยืนในถ้ำแห่งหนึ่ง  จู่ๆ ก้อนหินก้อนใหญ่ก็หล่นลงมาบนหัวเขาทำให้เขาและทำให้เขาบาดเจ็บสาหัส   “ก้อนหิน” ที่หล่นใส่หัวนายก. นั้นไม่ถือว่าบาปเพราะก้อนหินไม่มีวิญญาณครองไม่รับรู้อารมณ์ใดๆ   ซึ่งต่างจากอีกเหตุการณ์หนึ่ง  สมมุติว่านายก. ไปยืนในถ้ำแห่งเดิม   ต่อมามีนายข. เข้ามาปล้นแล้วทำร้ายนายก. บาดเจ็บสาหัสจนตาย    “นายข.” ที่ฆ่านายก. ตายนั้นถือว่าเป็นบาป    ถึงตรงนี้เชื่อว่าท่านคงเห็นความแตกต่างและการส่งผลของกรรม  ย้อนกลับไปที่กรณีแรกที่ก้อนหินหล่นใส่หัวนายก.   และแม้นายก.จะด่าทอ บริภาษใส่ก้อนหินนั้นขนาดไหน ก้อนหินก้อนนั้นก็ไม่มีทางรับรู้อะไรได้   ในทำนองคล้ายๆ กันกับคนที่คิดไม่ดีหรือคิดทรยศประเทศชาติ(ซึ่งในมุมมองของพุทธศาสนาไม่ใช่สิ่งมีชีวิต)   แล้วถามว่าบาปเกิดขึ้นไหม??  ก็ต้องใช้หลักทางพุทธศาสนาที่ผมอธิบายไว้มาตัดสิน?   และดีกรีของ “บาป”ว่ามากน้อยแค่ไหนนั้นก็ต้องดูว่าจิตของผู้กระทำถูกปรุงแต่งด้วย ลาภะ โทสะ และโมหะเพียงใด  ประกอบร่วมกับผลของผู้ถูกกระทำด้วยว่าได้รับความทุกข์ขนาดไหน?   ตรงนี้ผมเพียงชี้หลักแค่สองสามบรรทัดเองนะ  ความละเอียดอ่อนตรงนี้มีเยอะกว่านี้



ในมุมมองของนักรัฐศาสตร์อาจจะแตกต่างโดยสิ้นเชิง   นั่นก็คือประเทศชาติอาจจะหมายถึงประชากรของชาตินั้นๆ  ซึ่งถ้าหากใช้มุมมองของนักรัฐศาสตร์รวมไปถึงนักการเมืองแล้วก็ต้องเกิดแนวความคิดและมุมมองที่หลากหลายขึ้น    หลายมุมมองและหลากหลายชนิดที่ยังหาบทสรุปกันไม่ได้เท่าทุกวันนี้นั่นเอง


ในวงกว้างๆ.....ผมมองอย่างนี้  ประเทศชาติหรือเราย่อเอาสั้นๆ ว่า “ชาติ” นั้น   พึ่งจะมาวิ่งพล่านในสายเลือดคนไทยได้ไม่นานมานี่เอง   สมัยก่อนเหล่าทหารที่ออกศึกสงครามนั้น   เอาเข้าจริงๆ แทบจะไม่มีใครอยากจะไปเลย   ส่วนใหญ่จะถูกบังคับไปในฐานะไพร่เสียมากกว่า  แม้แต่นายทหารระดับพระยาอย่างพระยาวิเชียรและนายทหารบางส่วนที่ถูกส่งให้ไปช่วยหล่อปืนต่อชาวบ้านบางระบันยังหนีสงครามเลย  คือหลังจากช่วยชาวบ้านบางระจันแล้วก็ไม่ยอมกลับคืนพระนครเลย    การยกอ้างวีรกรรมบรรพบุรุษว่าต่อสู้เสียเลือดเสียเนื้อเพื่อชาตินั้นน่าจะเป็นเพียงวาทกรรมจากชนชั้นสูงที่ปลุกกระแสรักชาติเพื่อต้องการรักษาสถานะของชนชั้นของตัวเองเอาไว้     ส่วนการทรยศประเทศชาตินั้น....เป็นประโยคสั้นๆ ที่พูดง่าย   แต่ในสถานการที่คลั่งชาติกันอยู่ตอนนี้ต้องระมัดระวังให้มากที่สุด  ถูกโยนให้ใครแล้ว  คนนั้นแทบจะหมดโอกาสมาแก้มลทินได้........เรื่องการทรยศประเทศชาตินั้นต้องนิยามกันให้ละเอียด  อย่างไหนและแบบไหนเรียกว่าทรยศประเทศ......
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 12
คุณเป็นต่อ.

เป็นคำถามจากคนอื่นที่ตั้งกระทู้ถามที่ผมยกมาตอบ   ใช่ครับ  ผมเองก็เห็นเป็นคำถามสองซ้อนในความเห็นของผมเหมือนกัน   แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเจ้าของคำถามต้องการถามอย่างที่ผมและคุณเห็นไหม   ผมจึงอธิบายแยกเป็นสองกระบวนคืออันแรก "คิด" (มโนกรรม) อันที่สอง "ทำ" (กายกรรม)  และแต่ละกระบวนมีจุดยุติในตัวของมัน


ส่วนการ "ทรยศ" ก็ต้องมาตีความอย่างที่ผมทิ้งท้ายไว้ว่าแบบไหน?และอย่างไร? เรียกว่าทรยศ    อย่างกรณีรพระมหาธรรมราชา  พระราชลูกเขยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์และพระราชบิดาของสมเด็จพระณเรศวร  ที่เอาใจฝักใฝ่พม่านำข่าวสารจากอยุธยาไปแจ้งต่อหงสาวดีอยู่เนือง  สุดท้ายก็ร่วมทัพกับพม่ามาตีกรุงศรีฯ แตกครั้งแรกนั้น  เราจะเรียกว่าอะไร?   หรือก่อนที่กรุงจะแตก  พระยาจักรีถูกเกลี้ยกล่อมให้เปิดประตูเมืองด้วยเหตุผลต่างๆ นานา แล้วพระยาจักรีก็เปิดประตูเมืองให้พม่าจนเป็นเหตุให้เสียกรุง


จึงอยากถามต่อไปว่า  เราๆ ท่านๆ มองการกระทำทั้งสองอย่างในเหตุการณ์เสียกรุงฯ ครั้งแรกอย่างไร?   พระมหาธรรมราชาที่ยกทัพมาล้อมกรุงศรีฯ พร้อมกับพม่าได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีฯ    ส่วนพระยาจักรีโดนประหารโทษฐานทรยศต่อกรุงศรีฯ   ไว้ใจไม่ได้??   สำหรับผมๆ มองอย่างน็  คำว่าทรยศ  นอกจากจะดูที่การกระทำและผลของมันแล้ว   สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือต้องดูว่า "ใคร" กระทำ??
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่