จุลสารการออกเสียงประชามติ "เตรียมตัวให้พร้อม ไม่ยอมให้ใครชี้นำ..." ??? แต่ดูรวมๆ แล้วมีเสน่ห์เหลือเกิน (The Mario)

กระทู้คำถาม
แต่ดูรวมๆ แล้วมีเสน่ห์เหลือเกิน ไม่ต้องมาเขิน ฉันพูดจริงๆ เธอมีเสน่ห์มากมาย จะน่ารักไปไหน อยากจะได้แอบอิง ยิ่งดูยิ่งมีเสน่ห์... หลังจากอ่านคร่าวๆแล้วมันมีสเน่ห์ลึกซึ้งมากๆ แต่ก็ยังมีประเด็นที่สงสัยในความย้อนแย้งในตัวของจุลสารที่แจกให้กับประชาชน

หน้าปกที่เขาทำแจกมามันเป็นแบบนี้ครับ



จุลสารที่ว่านี้มันแนบมากับรายชื่อและลำดับของเราที่จะไปคูหากาประชามติ เนื้อในประกอบด้วยเนื้อหาของทั้ง กกต. สนช. และเน้นหนักไปที่ กรธ. ซึ่งก็แปลกใจตั้งแต่ต้นแล้วว่า กกต. ที่มีหน้าที่ๆจะต้องเป็นกลางแต่เอาเนื้อหาของอีก 2 องค์กรนี้มารวมกันแล้วพรีเซ้นต์ในเชิงบวกได้อย่างไร

เรามาดูสเน่ห์เหลือล้ำ ลึกซึ้งที่แฝงอยู่ด้านในจุลสารกันครับ







แค่เริ่มมาก็สรุป "เรื่องสำคัญที่ประชาชนและสังคมจะได้รับจากร่างรัฐธรรมนูญ" แค่หัวข้อก็ดูมีสเน่ห์น่าติดตามแล้วครับ แต่มันก็มีประเด็นที่น่าสงสัยอีกว่ามันตรงกันกับร่าง รธน. หรือไม่ เช่นตั้งแต่ข้อแรกเรื่องคุ้มครองตั้งแต่ในท้องแม่ไปจนแก่เฒ่าจริงทุกคนหรือไม่ หรือว่าต้องไปลงทะเบียนเป็นผู้ที่ไม่มีรายได้พอต่อการยังชีพและเป็นผู้ยากไร้


เรื่องเรียนฟรีก็เหมือนกัน แต่เดิมมัน 15 ปี แล้วใยจู่ๆมันเหลือแค่ 14 ปี หากจะมากกว่านั้นต้องวให้รัฐจัดตั้งกองทุนขึ้นมาโดยกองทุนที่ว่านี้จะให้เรียนฟรีหรือให้ "กู้ยืม" ก็ได้ แถมในร่าง รธน. มาตรา 54 กลับเขียนไว้แค่ 12 ปีอีกต่างหาก


เรื่องประเด็นด้านสาธารณสุข มันก็อดสงสัยไม่ได้อีกว่าทำไมมันต้องมีการเน้นคำว่า "ผู้ยากไร้ย่อมได้รับการบริการสาธารณสุขจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย" หรือว่าหากใครจะได้รับการรักษาต้องเอาหลักฐานไปลงทะเบียนผู้ยากไร้เสียก่อนถึงจะได้รับการยกเว้นการชำระค่ารักษา โดยแต่เดิมประชาชนทุกคนไม่แบ่งชนชั้นรวยจนกันก็ได้รับการรักษาทุกคนอยู่แล้ว

เรื่องปฏิรูปตำรวจพูดจากใจจริงๆคือเห็นด้วยนะครับ แต่ไม่อยากให้ชูประเด็นตำรวจเพียงอย่างเดียว สำหรับผมแล้วต้องปฏิรูปราชการมันทั้งระบบไม่แยกสี รัฐวิสาหกิจที่เป็นภาระกับประชาชนทั้งปีทั้งชาติ รวมไปถึงบริษัทมหาชนต่างๆที่รัฐมีหุ้นอยู่ในนั้น อะไรที่มันขาดทุนหรือเสี่ยงต่อการเป็นภาระประชาชน หรือยังมีมุมมองส่วนตัวที่ไม่รับใช้ประชาชนด้วยใจจริง ไอ้ประเภทเป็นตำรวจเพราะมีช่องทางหากินอย่างอื่น เป็นหมอเพราะเงินมันดี เป็นราชการเพราะอยากได้สวัสดิการอยากเป็นเจ้าคนนายคน ฯลฯ ทั้งปฏิรูปและเปลี่ยนมุมมองมันใหม่ให้หมด อย่ามาเอาตำรวจองค์กรเดียวมาเป็นแพะบูชายันต์โชว์เลยครับ ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ด่าตำรวจมากกว่าชมอยู่แล้วแต่เวลามีปัญหาก็ไม่พ้นที่จะนึกถึงตำรวจอยู่ดี โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดที่มันเป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้ จับมันปฏิรูปก่อนเพื่อนเลยครับ คุณอย่าลืมคำว่าความยุติธรรมไม่มี สามัคคีไม่เกิด และหากกระบวนการยุติะรรมยังมีปัยหา ยังมีการเลือกปฏิบัติกฏหมายก็จะไม่ศักดิ์สิทธิ์

ในส่วนที่ 2 เรื่องเด่นอื่นๆในร่างรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดโดยรัฐธรรมนูญหรือกฏหมาย ประชาชนย่อมมีสิทธิทำได้ ตราบเท่าที่ไม่เป็นอันตรายกับสังคมหรือละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้อื่น ใครเป็นผู้กำหนดมาตรฐานนี้ หากใช้มาตรฐานเดียวกันก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ที่ผ่านมามันไม่ใช่เลยครับ คนกลุ่มหนึ่งไม่เคยผิด แต่อีกกลุ่มหนึ่งผิดอยู่ฝ่ายเดียว ผมว่าหากยังแก้ปัญหาความไร้มาตรฐานตรงนี้ไม่ได้ยิ่งเป็นการเปิดช่องให้ผู้ไม่หวังดีกับบ้านเมืองออกมาสร้างความวุ่นวายต่อเนื่องได้อีกในอนาคต โดยเฉพาะกรณีที่มีกลุ่มคนที่เสียประโยชน์จากการแพ้เลือกตั้ง ก็คงมิวายออกมาหาเรื่องสร้างความวุ่นวายให้กับประเทศชาติอีกครั้ง เรียกร้องการรัฐประหารอีกครั้ง

การมุ่งลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม การแยกระหว่างประชาชนทั่วไปกับประชาชนที่ยากไร้ออกจากกันยิ่งเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางสังคมครับ ส่วนเรื่องสร้างความเป็นธรรมเป็นสิ่งที่ผมอยากเห็นมาเป็นเวลานานมาก แต่ก็ยังไม่เห็นแต่อย่างใดแม้กระทั่งยุคการปฏิรูปประเทศไทย อันนี้ต้องขออนุญาตเรียนตามตรง

ประเด็นรัฐต้องทำหน้าที่ที่กำหนดไว้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทุกคนโดยที่ "ประชาชนแต่ละคนไม่ต้องร้องขอใช้สิทธิเหมือนที่ผ่านมา"
  
มองเผินๆก็ดูดีมีสเน่หืแต่มานั่งคิดอีกรอบมันก็เกิดคำถามขึ้นมาอีกหละครับว่าหากรัฐทำหน้าที่ได้ไม่ดีละ เราต้องรออย่างเดียวเลยหรือเปล่า ดูมันย้อนแย้งกับสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองในการติดตาม เร่งรัด ร้องทุกข์หรือฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐ ยังไงไม่รู้ครับ

ประเด็นทุกคะแนนมีความสำคัญ แต่โดยความเห็นส่วนตัวของผมทุกคะแนนที่มีความสำคัญก็คือสามารถเลือกคนที่เรารักและเลือกพรรคที่เราชอบได้ซึ่งมันไม่มีในกติกาเลือกตั้งแบบ MMA นี้ครับ และยิ่งมีการชูประเด็น 250 สว. โหวตเลือกนายกฯได้ด้วยในคำถามพ่วง ยิ่งไปทำให้คะแนนของประชาชนแต่ละคนดูด้อยค่าลง

ประเด็นที่ให้ทุกกลุ่มอาชีพลงสมัคร์ สว. ได้ แต่ทำไมคุณไม่บอกต่อละครับว่า สว. 250 คนแรก คสช. เป็นผู้คัดเลือกเองทั้งหมด อย่าลืมตรงนี้ไปนะครับ ก่อนที่ประชาชนจะเข้าใจผิด

ประชาชนรู้ตัวผู้มีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรีล่วงหน้า แล้วที่ผ่านมาจะเลือกตั้งกี่ครั้งนายกฯกี่คนมันก็รู้ไม่ใช่เหรอครับว่าจะชูใครเป็นคู่แข่งนายกฯกับพรรคตรงข้าม มันน่าตื่นตาตื่นใจตรงไหนเหรอถึงขนาดเอามาพรีเซ้นต์ ผมว่ามันจะยิ่งไม่รู้ตัวนายกฯน้อยกว่าทุกครั้งเสียด้วยซ้ำจากกรณีมีนายกฯคนนอกตามมาตรา 272 และมาตรานี้หรือไม่ที่ทำให้เป็นที่มาของคำถามพ่วงที่อยากให้ สว. โหวตเลือกนายกฯได้


ประเด็นองค์กรอิสระเป็นองกรที่ถ่วงดุลและตรวจสอบการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิภาพในที่นี้คุณต้องจัดการกับภาพลักษณ์ 2 มาตรฐานของพวกคุณให้ได้ก่อนครับ ถึงจะกล้าพูดได้เต็มปากว่ามีประสิทธิภาพจริง บางครั้งหลายคนก็มองว่านี่คือการสถาปณาอำนาจที่ 4 ขึ้นมา นอกเหนือไปจากฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ

ประเด็นป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา แต่ที่ผ่านมาความแตกแยกระหว่างชาวพุทธลุกลามไปทั้งประเทศในช่วงเวลาที่มีการปฏิรูปประเทศ และยังไม่ได้รับการจัดการกับความขัดแย้งใดๆ การนิ่งเฉยแล้วปล่อยให้คนพุทธมีบรรยากาศที่อึมครึมต่อกันเช่นนี้ผมจะเชื่อได้อย่างไรว่าจะไม่มีมือที่สาม ที่สี่ ที่ห้า เข้ามาผสมโรงในการทำลายพุทธศาสนาเพิ่มขึ้น อันนี้ผมให้กำลังใจในการแก้ปัญหาให้ได้นะครับในกรณีที่ร่าง รธน นี้ผ่าน

ประเด็นที่หาทางออกในกรณีที่ประเทศเกิดปัญหาทางการเมืองโดยให้องค์กรที่เกี่ยวข้องต้องพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน หากเกิดกรณีที่ใช้มาตรา 5 เพื่อหาทางออกร่วมกัน เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระเพื่อวินิจฉัย ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร+ประธานวุฒิสภา+ประธานศาลรัฐธรรมนูญ+ประธานองค์กรอิสระ ครึ่งหนึ่งของคณะประชุมมีโอกาสสูงมากที่จะออกความเห็นหรือลงมติมาในทิศทางเดียวกันครับ แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะได้ทางออกที่ถูกต้อง

ในส่วนของคำถามเพิ่มเติม ตามภาพเลยครับ คำถามคอนเซ็ปเดิมที่ สนช. เคยเสนอไว้แล้ว



ในส่วนนี้ผมขออนุญาติยืมคำพูดของประธาน กกต. มาย้อนถามตัวท่านเองว่า "คำถามพ่วงประชามติของ สนช. เป็นคำถามที่มีความยาวเกินไป และมีลักษณะเป็นคำถามนำ (Leading question) เพื่อนำไปสู่คำตอบในทิศทางที่ต้องการ และมีคำยาก (jargon) ที่อาจทำให้เกิดความสับสนในการตีความของประชาชน โดยหลักปฏิบัติของการตั้งคำถามประชามติต่อประชาชนทั้งประเทศควรเป็นภาษาที่ง่าย สั้น และ มีความเป็นกลาง คือ ไม่มีการให้เหตุผลก่อนไปสู่คำถาม จึงเห็นว่าควรปรับปรุง" ทำไมไม่ถามไปตรงๆให้ชาวบ้านเข้าใจไปเลยว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่ให้ สว. 250 คนนั้นโหวตเลือกนายกฯได้ ถามตรงๆไปเลยครับ ถามแบบนี้ชาวบ้านตีความลำบากครับและมันชี้นำไปในทางบวกแบบที่ท่านเคยว่าไว้จริงๆ แต่ท่านก็ไม่แก้ครับ ไปถามรองวิษณุเขาก็คงไม่แก้ให้คุณหรอกครับ ยืนตามเดิมและรับหน้าแทนท่านเท่านั้นเอง

ยังคงสงสัยต่ออีกว่าในกรณีที่คำถามพ่วงไม่ผ่านแต่ประชามติผ่าน คำถามพ่วงมันก็มีค่าแค่คำถามพ่วงเล่นๆท้ายประชามติหรือไม่ ในเมื่อประชามติผ่านก็เสมือนยอมรับคำถามพ่วงให้ผ่านไปด้วย  หรือในที่กรณีที่คำถามพ่วงผ่าน คำถามพ่วงนี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เพิ่มเข้าไปในรัฐธรรมนูญได้ในทันทีเพราะว่ามันผ่าน

เอาเท่านี้ก่อนครับ ส่วนตัวผมเองเพียงแต่ขอใช้สิทธิตามกฏหมายในการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญตามประกาศของ กกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ โดยมีข้อกำหนด สิ่งที่ประชาชนทำได้ 6 ข้อ จุลสารฉบับนี้ชี้นำไม่ชี้นำก้แล้วแต่วิจารณญาณส่วนบุคคล  "แต่ดูรวมๆ แล้วมีเสน่ห์เหลือเกิน ไม่ต้องมาเขิน ฉันพูดจริงๆ เธอมีเสน่ห์มากมาย จะน่ารักไปไหน อยากจะได้แอบอิง ยิ่งดูยิ่งมีเสน่ห์...."

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
The Mario : 24 กรกฎาคม 2559 11.42 น.
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 19
เนื้อหาเป็นไปในทางโน้มน้าวชี้นำอย่างเห็นได้ชัด   ยิ่งได้อ่านบทวิเคราะห์ของคุณโอ้ก็ยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีก   เสียดายงบประมาณจริงๆ
คล้อยตามกับคุณชุนเทียนเรื่องการโฆษณาสินค้า    ร้ายลึกจริงๆ....


อ่านแล้วไม่รู้สึกสักนิดเลยว่าเป็นการกระตุ้นเตือนให้ไปใช้สิทธิออกเสียง  ลงประชามติ


ทำไมจึงต้องมีคำถาม?

ข้อ2 :  เพราะตามยุทธศาสตร์ชาติ  ต้องใช้เวลาอย่างน้อย5 ปีจึงจะวางรากฐานให้เป็นรูปธรรม  บลา บลาๆ (วัชรานนท์: ขออยู่เป็นรัฐบาลต่ออีกห้าปี)  แถมยังตบท้ายด้วยสีแดงให้เห็นเด่นชัดว่า "ชาติมั่นคง  เศรษกิจยั่งยืน  ประเทศมีความสงบ ปรองดอง"  (วัชรานนท์: ก้อแล้วทำไม  กองทัพไม่ทำหน้าที่ปกป้อง  คุ้มครองรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งให้อยู่ต่อตามหลักยุทธศาสตร์ชาติล่ะครับ  กลับทำสิ่งตรงข้ามแล้วมาอ้างยุทธศาสตร์ชาติหน้าตาเฉย)
ความคิดเห็นที่ 5
เป็นเอกสารที่มากกว่าชี้นำอีกค่ะ  เฮ้อ นี่เหรอที่เรียกว่าความเป็นกลาง

คนอื่นทำไม่ได้  แต่พวกตรูทำอะไรก็ได้
ความคิดเห็นที่ 16
แบ่งชนชั้น ประชาชนทั่วไป ประชาชนผู้ยากไร้ ผู้สูงอายุ(ที่ไม่ใช่ข้าราชการ)และคนพิการ
รัฐสวัสดิการ (บัตรทองรถเมล์ รถไฟฟรี เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุฯ จะให้เฉพาะผู้ยากไร้ คน
พิการ และผู้สูงอายุฯ)    

จุลสารที่ กกต.แจก เหมือนหนังสือชี้ชวน ให้รับประชามติ ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับย่อเลย
ไม่เป็นกลางเสียเอง...............แล้วจะเอาผิดคนอื่นได้อย่างไร
ความคิดเห็นที่ 12
ไนจุลสารของรัฐธรรมนูญ มาตราต่างฯ เขียนไว้กว้างฯ และคลุมเครือ
ความไม่ชัดเจน จะทำไห้มีปัญหาต้องตีความอยู่ตลอดเวลา และแล้วแต่ผู้มีอำนาจจะตีความไปทางไหน
และถ้า สว.มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ก็จะกลายเป็นพรรคไหญ่ที่มีจำนวนสส.มากที่สุด และถ้ามีสิทธ์โหวตเลือกนายก
คนนอกได้ ก็คงจะเดาได้ว่า นายกเป็นไครมาจากไหน เหมือนอย่างที่ คุณมาริโอ้ได้วิเคราะห์ไว้
ความคิดเห็นที่ 10
คุณโอ้ ละเอียดนะ ปรบมือให้กับความตั้งใจดีๆที่ทำมาให้เพื่อนๆได้อ่านเลยค่ะ

อย่างที่บอกว่า ไม่ว่าเราจะเห็นต่างอย่างไร มาตราการของรัฐบาลไม่ได้ให้เรา พูดอะไรได้มากนักทางสื่อ
( แต่เราสามารถชี้แจงให้คนรอบข้างเรา สังคมที่เราอยู่รู้ได้ ว่าร่างนี้มีผลอย่างไรต่อประเทศชาติในอนาคต)

ที่เสียดายคือยังมีคนที่ไม่เข้าใจนี่แหล่ะ ว่าผลดี เสีย จะเป็นแบบไหน เพราะขาดการชี้แจงจากคนเห็นต่าง

ส่วนตัวคิด  ผ่านแล้วแก้ไขไม่ได้   แต่ไม่ผ่านยังแก้ไขได้ง่ายกว่านะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่