การภาวนา รักษาจิต (หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)



"การภาวนา รักษาจิต"

" .. "จิต เป็นสมบัติอันสำคัญมากในตัวเรา" ที่ควรได้รับการเหลียวแลด้วยวิธีเก็บรักษาให้ดี
ควรสนใจรับผิดชอบต่อจิตอันเป็นสมบัติมีค่ายิ่งของตน "วิธีที่ควรกับจิตโดยเฉพาะ ก็คือภาวนา"
ฝึกหัดภาวนาในโอกาศอันควร "ตรวจดูจิตว่ามีอะไรบกพร่องและเสียไป" จะได้ซ่อมสุขภาพจิต

คือนั่งพินิจพิจารณาดูสังขารภายใน คือความคิดปรุงแต่งของจิตว่า คิดอะไรบ้างในวันหนึ่ง ๆ
ที่นั่ง ๆ มีสาระประโยชน์ไหม "คิดแส่หาเรื่องหาโทษ ขนทุกข์มาเผาตนอยู่นั่น พอรู้ผิดถูกของตนไหม"

พิจารณาสังขารภายนอกว่า "มีความเจริญขึ้นเจริญลง สังขารร่างกายมีอะไรใหม่"
หรือมีความเก่าแก่ชราหลุดลงไป พยายามเตรียมตัวเตรียมใจเสียแต่เวลาจะทำได้ ตายแล้วจะเสียการ

ให้ท่องในใจเสมอว่า "เรามีความแก่ ความเจ็บ ความตายอยู่ประจำตัวทั่วหน้ากัน
ป่าช้าอันเป็นที่เผาศพภายนอกและป่าช้าฝังศพภายใน คือตัวเราเอง"
เป็นป่าช้าร้อยแปดพันเก้าแห่งศพ ที่นำมาฝังหรือบรรจุจะอยู่ในตัวเราตลอดเวลา ทั้
งศพเก่าศพใหม่ทุกวัน

"พิจารณาธรรมสังเวช พิจารณาความตายเป็นอารมณ์ ย่อมมีทางถอดถอน
ความเผลอเย่อหยิ่งในวันในชีวิตและวิทยาฐานะต่าง ๆ ออกได้"

จะเห็นโทษแห่งความบกพร่องของตัวและพยายามแก้ไขได้เป็นลำดับ
"มากกว่าจะไปเห็นโทษของคนอื่นแล้วมานินทาเขา" ซึ่งเป็นความไม่ดีใส่ตน

"นี่คือการภาวนา คือวิธีเตือนตน สั่งสอนตน ตรวจตราความบกพร่องของตน"
ว่าควรแก้ไขจุดใดตรงไหนบ้าง ใช้ความพิจารณาอยู่ทำนองนี้เรื่อย ๆ
ด้วยวิธีสมาธิภาวนาบ้าง ด้วยการรำพึงในอริยบถต่าง ๆ บ้าง

"ใจจะสงบเย็น ไม่ลำพองผยองตัวและความทุกข์มาเผาลนตนเอง"
เป็นผู้รู้จักประมาณในหน้าที่การงาน ที่พอเหมาะพอดีแก่ตน ทั้งทางกายและทางใจ

ไม่ลืมตัวมั่วสุมในสิ่งที่เป็นหายนะต่าง ๆ คุณสมบัติของผู้ภาวนานี้มีมากมาย
ไม่อาจพรรณาได้จบสิ้นได้ .. "

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่