เมื่อจิตไม่มีกิเลสมันก็ไม่มีความทุกข์

เมื่อจิตเกิดกิเลส (คือความยินดี-ยินร้าย-ลังเลใจ) ใดขึ้นมาก็ตาม มันก็จะทำให้จิตเกิดการปรุงแต่งให้เกิดอุปาทานหรือความยึดถือว่าจิตใจและร่างกายนี้คือตัวเรา-ของเรา ที่เป็นผู้ที่มีกิเลสขึ้นมาด้วยทันที ซึ่งกิเลสและอุปาทานนี้เองที่เป็นธรรมารมณ์ที่เลวร้ายที่กำลังกระทบใจอยู่ แล้วทำให้เกิดทุกขเวทนาทางใจ (ความรู้สึกที่ทนได้ยาก) ซ้อนขึ้นมา แล้วทุกขเวทนาทางใจนี้ก็มากระทบใจอีก แล้วก็ทำให้ใจเกิดทุกขเวทนาซ้อนขึ้นมาอีก วนเวียนอยู่อย่างนี้จนทำให้เกิดทุกขเวทนาทางใจที่รุนแรงขึ้นมา ซึ่งทุกเวทนาทางใจที่รุนแรงที่เกิดซ้อนขึ้นมานี้เอง ที่เรียกว่าเป็นความทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ (คือมีตัวเราเกิดขึ้นมาเป็นผู้ที่มีความทุกข์)

แต่ถึงแม้จะเกิดความรู้สึก (เวทนา) ใดๆขึ้นมาก็ตาม ถ้าจิตของเรามีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา สติก็จะดึงเอาปัญญาออกมาพร้อมสมาธิ ก็จะทำให้จิตไม่ปรุงแต่งกิเลสใดๆให้เกิดขึ้นมา เมื่อจิตไม่มีกิเลส เมื่อไม่มีกิเลส อุปาทานก็จะไม่เกิดขึ้น (คือไม่เกิดความยึดถือว่าจิตใจและร่างกายนี้คือตัวเรา-ของเรา) และเมื่อไม่มีกิเลสและอุปาทาน ก็จะไม่มีธรรมารมณ์อันเลวร้ายมากระทบใจ ก็จะทำให้ไม่เกิดทุกขเวทนาทางใจซ้อนขึ้นมา (ถึงจะมีทุกขเวทนาจากการกระทบครั้งแรกอยู่บ้างก็ตามแต่ก็ไม่รุนแรง) เมื่อไม่มีทุกขเวทนาทางใจที่รุนแรง (ไม่มีความทุกข์) จิตก็ย่อมที่จะยังคงมีความสงบเย็น (หรือนิพพาน) อยู่แล้วตามธรรมชาติ (แต่ถ้าจิตเกิดความทุกข์ นิพพานก็จะหายไป เมื่อความทุกข์หายไป นิพพานก็จะกลับมาปรากฏได้ใหม่)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่