ทุกข์ซ่อนเร้น-ทุกข์เปิดเผย

สิ่งที่เราต้องศึกษาให้เข้าใจอีกเรื่องก็คือ เรื่องความทุกข์ซ่อนเร้น คือความทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ตามที่เรารู้จักกันอยู่นั้นเราก็คิดว่ามีเพียง ความเศร้าโศก หรือความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความเศร้าซึม ความไม่สบายใจ เป็นต้น ที่เป็นพวกทุกขเวทนาที่ไม่น่าพึงพอใจ และทำให้จิตเกิดกิเลสพวกยินร้าย (หรือไม่พอใจ) ขึ้นมา ซึ่งนี่ยังเป็นแค่เพียง ความทุกข์เปิดเผย เท่านั้น คือความทุกข์เปิดเผยนี้มันเป็นความทุกข์ที่เห็นได้ง่าย เพราะมันเกิดมาพร้อมกับน้ำตาและเรียงร้องไห้ ที่ใครๆก็รู้จัก

แต่ความจริงนั้นมันยังมีความทุกข์ที่ลึกซึ้งอีกอย่างหนึ่งคือ ความทุกข์ซ่อนเร้น ซึ่งความทุกข์ซ่อนเร้นนี้ก็คือ ความรู้สึกหนัก เหนื่อย เร่าร้อน ไม่สงบ ไม่สบาย ซึ่งมันก็เป็นความรู้สึกที่ทนได้ยากหรือทรมานจิตใจ ที่ซ่อนอยู่ในขณะที่จิตของเรากำลังพอใจในความสุข (สุขเวทนา) ทั้งหลายอยู่  ซึ่งเราต้องสังเกตจึงจะพบ เพราะมันเกิดขึ้นมาพร้อมกับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ซึ่งสาเหตุที่เกิดความทุกข์ซ่อนเร้นก็เพราะ เมื่อจิตของเราเกิดความพอใจในความสุขเวทนาทั้งหลายอยู่นั้น ความพอใจนี้เองที่เป็นกิเลสที่ทำให้เกิดความยึดถือว่าจิตใจและร่างกายนี้คือตัวเรา-ของเราขึ้นมา ซึ่งกิเลสและความยึดถือนี้เองที่เป็นธรรมารมณ์อันเลวร้ายที่กำลังกระทบใจอยู่ แล้วทำให้ใจเกิดทุกขเวทนาที่รุนแรงซ้อนขึ้นมาอย่างเงียบๆ คือมันมีความสุขมากๆจากการรับรู้สิ่งภายนอกมาเคลือบทุกขเวทนาทางใจที่รุนแรงเอาไว้ เราจึงสนใจแต่ความสุขนั้นจนลืมไปว่าความจริงมันก็กำลังมีความทุกข์ที่รุนแรงอยู่ด้วย เหมือนกับว่าเราถูกมีดบาดมือ แต่เราไม่ได้สนใจมันเพราะเรามัวแต่ไปสนใจเรื่องความสนุกสนานเฮฮา เราจึงเหมือนไม่รู้สึกเจ็บปวดจากการที่ถูกมีดบาดมือทั้งๆที่มันก็กำลังเกิดความเจ็บปวดอยู่ จนกว่าเราจะมาสนใจกับบาดแผล เราจึงจะเกิดความรู้สึกเจ็บปวดมากขึ้น

ความทุกข์ซ่อนเร้นนี้ เรามักไม่เชื่อว่ามันจะเป็นความทุกข์ เราจึงไม่สนใจที่จะคิดหาทางดับมัน แต่มันก็ทำให้จิตของเราเกิดความรู้สึกทรมานได้เท่ากับกับความทุกข์เปิดเผยนั่นเอง และเมื่อจิตมีความทุกข์ จิตก็ย่อมที่จะไม่นิพพาน (สงบเย็น)  คือในขณะที่จิตของเรากำลังเกิดความพอใจในความสุขทั้งหลายอยู่นั้น ถ้าเราสังเกตเราก็จะพบว่า มันจะมีความรู้สึกกระวนกระวาย เร่าร้อน ไม่สงบ ไม่ปกติ หรือหนัก เหนื่อย ทรมานอยู่ด้วยตลอดเวลา ซึ่งมันก็ทำให้จิตของเราไม่ปกติ ไม่สงบเย็น ซึ่งนั่นก็คือทำให้จิตไม่นิพพานนั่นเอง

สรุปได้ว่าเราต้องเข้าใจว่า ความสุขไม่ใช่นิพพาน เพราะความสุขยังทำให้จิตของเราเร่าร้อน ทรมาน หรือเกิดความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่ (รวมทั้งความสุขยังเป็นเหตุให้เกิดปัญหาที่จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชีวิตของเราตามมาอีกในวันข้างหน้าอีกด้วย) ซึ่งนี่เองที่พระพุทธเจ้าได้สอนเอาไว้ว่า แม้การเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราที่กำลังมีความสุขอยู่ก็เป็นความทุกข์ด้วยเหมือนกัน (การเกิดเป็นทุกข์) ดังนั้นเราจึงต้องรู้จักความทุกข์ซ่อนเร้นนี้ให้ถูกต้อง จึงจะปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายได้ แต่ถ้าเรายังไม่รู้จักความทุกข์ซ่อนเร้นนี้อย่างถูกต้อง เราก็จะไม่สามารถปฏิบัติให้จิตหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่