อะไรคือความทุกข์?

ความทุกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนี้คือ ความทุกข์ของจิตใจ ไม่ใช่ความทุกข์ของร่างกาย เช่น ความเจ็บปวดทรมานของร่างกาย หรือร่างกายพิการ เป็นต้น (เรื่องการแก้ปัญหาความทุกข์ของร่างกายนั้นชาวโลกที่พอจะมีความรู้ในเรื่องของร่างกายอยู่บ้างก็สามารถแก้ปัญหาหรือรักษาได้อยู่แล้ว ไม่ต้องอาศัยความรู้ระดับพระพุทธเจ้ามาสอนก็ได้)

          ความทุกข์ของจิตใจนี้ก็มีอยู่ ๒ อย่าง คือ ความทุกข์เปิดเผย กับ ความทุกข์ซ่อนเร้น

          ความทุกข์เปิดเผยนั้นก็คือความรู้สึกที่ทรมานใจที่เห็นได้ง่าย ที่มาพร้อมกับความบึ้งตึงหรือเสียงร้องไห้ ที่แสดงออกมาเป็นความเศร้าโศก (ร้องไห้คร่ำครวญ), ความเสียใจ (ตรอมใจ), ความคับแค้นใจ (อึดอัดใจ), ความเร่าร้อนใจ (โกรธแค้น), ความไม่สบายใจ (ไม่ปกติสุข) เป็นต้น ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความยึดถือว่ามีตัวเราที่กำลังแก่, เจ็บ, จะตาย, หรือกำลังพลัดพรากจากสิ่งหรือบุคคลอันเป็นที่รักไป, หรือกำลังประสบกับบุคคลหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รักอยู่, หรือตัวเราที่กำลังผิดหวังเพราะเมื่ออยากจะได้สิ่งใดแล้วไม่ได้ตามที่อยากขึ้นมา   

          ความทุกข์ซ่อนเร้นก็คือ ความรู้สึกขณะที่จิตดิ้นรนอยู่ด้วยความพอใจในความสุขทั้งหลายอยู่ หรือกำลังยิ้มร่าหรือหัวเราะอยู่ ซึ่งขณะนี้จิตจะเกิดความรู้สึกเร่าร้อนใจ หรือหนัก-เหนื่อยใจ หรือทรมานใจเหมือนกับขณะที่จิตกำลังเกิดความทุกข์เปิดเผยนั่นเอง ซึ่งต้องสังเกตให้ดีจึงจะพบ และเราก็มักชื่นชอบความทุกข์ซ่อนเร้นนี้ และไม่คิดว่ามันเป็นความทุกข์ เพราะเราพอใจที่จะทุกข์

          ความทุกข์นี้เราจะต้องกำหนดรู้ให้ถูกต้องว่ามันคือ ความทุกข์ของจิตใจ ที่มีทั้งทุกข์เปิดเผยและทุกข์ซ่อนเร้น ที่จะเกิดขึ้นมาพร้อมกับความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราเสมอ คือเมื่อจิตเกิดมีความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราขึ้นมาเมื่อใด จิตมันก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาด้วยทันที ซึ่งเราจะต้องดูจากจิตของเราเองจริงๆว่ามันเป็นอย่างไร เราจึงจะรู้จักกับมันได้อย่างถูกต้อง เพียงแค่การฟังมาหรืออ่านมาแล้วมานั่งจินตนาการเอาโดยไม่มาดูของจริง จะไม่ทำให้รู้จักกับความทุกข์นี้อย่างถูกต้องได้

(จาก http://www.whatami.net/for/bud.html )
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่