จุดบอดที่สำคัญของชาวพุทธคือ ไม่รู้จักความทุกข์ถูกต้อง จึงทำให้ไม่เห็นแจ้งอริยสัจ ๔

ความทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ มี ๒ อย่าง คือ ทุกข์เปิดเผย กับ ทุกข์ซ่อนเร้น ซึ่งเป็นความทุกข์ของจิตใจ ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเรา

ทุกข์เปิดเผยนั้นเห็นได้ง่าย อันได้แก่ ความรู้สึกทรมานใจ หนัก-เหนื่อยใจ เร่าร้อนใจ ที่เกิดมาพร้อมกับความเศร้าโศก เสียใจ ตรอมใจ แห้งเหี่ยวใจ เป็นต้น หรือที่มาพร้อมกับ เสียงร้องไห้ และใบหน้าที่บึ้งตึง

ส่วนทุกข์ซ่อนเร้นนั้นเห็นได้ยาก อันได้แก่ ความรู้สึกทรมานใจ หนัก-เหนื่อยใจ เร้าร้อนใจ ที่มาพร้อมกับความดีใจ ความสุขใจ ความสนุกสนานเฮฮา ความเพลิดเพลิน เป็นต้น  หรือที่มาพร้อมกับ เสียงหัวเราะ และรอยยิ้ม

การมีความพอใจ (หรือ ความรัก ความชอบ ความยินดี ติดใจ อยากได้ เป็นต้น) ในการเสพสุขจากกามารมณ์, การมีความพอใจในความสุขจากการมีวัตถุ, และการพอใจในความสุขจากจากการมีเกียรติ มีชื่อเสียง เหล่านี้จัดว่าเป็นอาการของกิเลส ซึ่งทำให้จิตเกิดความทุกข์อยู่แล้ว (ตามหลักที่ว่า ตัณหาหรือกิเลสเป็นเหตุของความทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔) ต้องสังเกตุจึงจะพบ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่คิดว่านี่คือความทุกข์ แต่มันก็ให้ความรู้สึกทรมานใจ หนัก-เหนื่อยใจ เร่าร้อนใจเท่าๆกับทุกข์เปิดเผยนั่นเอง

ดังนั้นการมีความพอใจในความสุขจากกามารมณ์ จากวัตถุ และจากเกียรติยศชื่อเสียง จึงยังไม่ใช่นิพพาน เพราะมันยังมีความทุกข์ซ่อนอยู่ภายในความสุขอย่างลึกซึ้ง จะต้องเป็นความว่างจากความพอใจ ไม่พอใจ ลังเลใจ ซึ่งเป็นอาการของกิเลสหรือตัณหา (แม้เพียงชั่วคราว) เท่านั้น จึงจะเรียกว่าเป็นนิพพาน (ความสงบเย็นของจิต) ได้อย่างแท้จริง

จึงขอให้ผู้ศึกษา (เพื่อดับทุกข์) ทั้งหลายรู้จักความทุกข์ ทั้งอย่างเปิดเผยและซ่อนเร้นให้ถูกต้อง (จากการเพ่งดูจากจิตของเราเองจริงๆ ไม่ใช่จากการคิดคำนวณเอา หรือเชื่อตามคนอื่น) จึงจะรู้จักนิพพานได้ถูกต้อง ที่สำคัญคือถ้ายังไม่รู้จักความทุกข์ซ่อนเร้นถูกต้อง ก็จะยังไม่รู้จักนิพพานถูกต้องด้วยเหมือนกัน คือเรียกได้ว่า ถ้าไม่รู้จักความทุกข์อย่างถูกต้อง ก็จะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าสอนได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่