เจ็บป่วยอย่างไรไม่เป็นทุกข์

ความเจ็บ ความปวด ที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือการกระทำจากคนหรือสัตว์หรือจากโรคร้ายต่างๆเป็นต้นนั้น ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกทรมานกับร่างกาย ซึ่งความรู้สึกทรมานนี้ก็คือความรู้สึกทนที่ทนได้ยาก หรือภาษาไทยเรียกว่า ความทุกข์กาย

เมื่อมีร่างกายมันก็มีโอกาสที่จะติดโรคร้ายแรงหรือเกิดอุบัติเหตุหรือถูกสัตว์หรือคนอื่นมาทำให้เกิดความทุกข์กายขึ้นได้ ถ้าเราพยายามไม่เดินทาง ไม่ออกไปพบปะผู้คน ก็จะช่วยลดอุบัติเหตุและไม่ติดโรคร้ายแรงได้ แต่มันก็ทำได้ยากเพราะความจำเป็นหรือไม่ก็ความอยาก (กิเลส) มันพาไป ซึ่งแม้การกินอาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลมากๆ ถึงแม้จะไม่ไปไหน แต่ถ้าไม่ออกกำลังกายให้เพียงพอ ร่างกายก็เจ็บป่วยได้ หรือแม้การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือเสพสิ่งติดทั้งหลาย ก็ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงหรือความป่วยไข้แก่ร่างกายได้

ดังนั้นความเจ็บปวดหรือความป่วยไข้ของร่างกายหรือความทุกข์กายนี้ มันก็เป็นธรรชาติที่ต้องเกิดมาคู่กับการมีร่างกายอยู่แล้ว ไม่มีใครจะหนีพ้นได้ แต่ว่าความทุกข์กายนี้ ถ้าจิตของเราไปยึดถือเอามาว่าเป็นตัวเราทุกข์หรือความทุกข์ของร่างกายเรา ก็จะทำให้จิตนี้เกิดความรู้สึกทรมานที่รุนแรงซ้อนขึ้นมาทันที ซึ่งนี่ก็คือความทุกข์ใจที่เกิดจากอุปทาน (อุปาทาน แปลว่า ความยึดถือ ที่หมายถึงการไปแบกไปหามเอาไว้ด้วยจิตโง่) ตามหลักอริยบสัจ ๔ ที่สรุปเอาไว้ว่า อุปาทานในขันธ์ทั้ง ๕ คือตัวทุกข์ ที่หมายถึง ความยึดถือในร่างกายและจิตใจนี้ว่ามันเป็นตัวเรา-ของเราทำให้เกิดความทุกข์ใจ

ส่วนวิธีการปฏิบัติเพื่อที่จิตจะหลุดพ้นจากความทุกข์ใจจากความเจ็บป่วยของร่างกาย ตามหลักอริยมรรคก็สรุปอยู่ที่ การใช้ปัญญา (ความเข้าใจและเห็นแจ้งว่ามันไม่มีตัวเราอยู่จริง), ศีล (จิตที่ปกติ),และสมาธิ (จิตที่บริสุทธิ์ ตั้งมั่น อ่อนโยน) มาทำงานร่วมกัน

แต่คนที่มีความเชื่อผิดๆว่า ความทุกข์ของร่างกายนั่นเองที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์  ดังเขาจึงเกิดความเชื่อที่ผิดๆต่อไปอีกว่า ถ้าจะไม่ให้มีความทุกข์ใดๆ ก็ต้องปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดมีร่างกายขึ้นมาอีกต่อไป  นี่เองที่ทำให้คนที่มีความความเชื่อที่ผิดๆนี้ ต้องทุกข์ตรมใจเพราะความเจ็บปวดหรือความป่วยไข้ของร่างกายต่อไปจนตายด้วยความเชื่อที่ผิดๆนี้ แม้จะมีใครมาสอนวิธีการหลุดพ้นที่ให้ใช้ปัญญา ศีล สมาธิ ก็ไม่สนใจ เพราะความเชื่อที่ผิดๆนี้มันได้ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกเขาไปเสียแล้ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่