ต้องรู้จัก "ความทุกข์" ให้ถูกต้องก่อน

ความทุกข์ตวามหลักอริยสัจ ๔ นี้ หมายถึงความทุกข์ของจิตใจที่กำลังเกิดอยู่ในปัจจุบัน อันได้แก่ ความเศร้าโศก (หรือเสียใจ) ความคับแค้นใจ (อีดอัดใจ) ความแห้งเหี่ยวใจ (ความตรอมใจ) ความไม่สบายใจ (ความรำคาญใจ) ความหนัก-เหนื่อยใจ (เครียด) และความเบื่อหน่าย เป็นต้น ที่เกิดมาพร้อมกับความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) ในร่างกายและจิตใจที่รู้สึกว่าเป็นตัวเรา-ของเรานี้ ว่าเป็นตัวเรา-ของเราจริงๆ (แท้จริงแล้วมันไม่ได้มีตัวเราหรือตัวตนของใครๆอยู่จริงเลย คือมันเป็นแค่เพียงสิ่งปรุงแต่งตามธรรมชาติที่มาสมมติเรียกว่าเป็น “ตัวเรา” “ตัวเขา” เท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้เราจะได้ศึกษากันโดยละเอียดต่อไป) และเมื่อเกิดความยึดมั่นในร่างกายที่กำลังแก่, เจ็บ, จะตาย, หรือในร่างกายที่กำลังพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งที่รักอยู่, หรือในร่างกายที่กำลังประสบกับบุคคลหรือสิ่งที่ไม่รักอยู่, หรือในร่างกายที่กำลังผิดหวังอยู่ จึงทำให้จิตที่ยึดมั่นนี้เกิดความความเศร้าโศก (หรือเสียใจ) ความคับแค้นใจ (อีดอัดใจ) ความแห้งเหี่ยวใจ (ความตรอมใจ) เป็นต้น ขึ้นมาทันที

จุดสำคัญเราจะต้องแยกให้ออกว่า ความทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ นี้เป็นความทุกข์ของจิตใจที่เกิดขึ้นมาจากความยึดถือ (อุปาทาน) คือตามธรรมชาตินั้น ร่างกายของเรา (ตามที่สมมติเรียก) มันก็ต้องแก่ เจ็บ ตายอยู่แล้วตามธรรมชาติ รวมทั้งไม่ช้าก็เร็วบุคคลหรือสิ่งที่เรารัก (หรือพอใจ) ก็ต้องพลัดพรากจากเราไปอยู่แล้ว และไม่ช้าก็เร็วเราก็ต้องประสบกับบุคคลหรือสิ่งที่เราเกลียดหรือกลัว (หรือไม่พอใจ) อยู่แล้ว รวมทั้งไม่มีอะไรที่เราอยากจะได้แล้วสมหวังได้ตลอดไป (คือต้องพบกับความผิดหวังอยู่แล้ว) แต่เมื่อจิตใจของเรา มันไปยึดถือว่าร่างกายของธรรมชาติที่กำลังแก่ หรือเจ็บ หรือกำลังจะตาย หรือกำลังพลัดพราก เป็นต้นนี้ ว่ามันเป็นตัวเราจริงๆที่กำลังแก่ หรือเจ็บ หรือกำลังจะตาย หรือกำลังพลัดพราก เป็นต้น จึงทำให้จิตใจของเรานี้เกิดความทุกข์ขึ้นมาอย่างรุนแรง (คือจะเรียกว่าทุกขอุปาทานก็ได้)

แต่ถึงแม้ว่าร่างกายของเราจะแก่ หรือเจ็บ หรือกำลังจะตาย หรือกำลังพลัดพราก เป็นต้นอยู่ ถ้าจิตของเราไม่ไปยึดถือว่ามีตัวเราแก่ เจ็บ กำลังจะตาย หรือกำลังพลัดพราก เป็นต้น จิตใจของเราก็จะไม่เกิดความทุกข์อย่างรุนแรงขึ้นมา ซึ่งหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้านี่เอง ที่เป็นหลักการปฏิบัติเพื่อที่จะทำให้จิตของเราไม่เกิดความยึดถือ (อุปาทาน) ขึ้นมาและทำให้จิตของเรานิพพานหรือสงบเย็นขึ้นมาได้ทั้งอย่างชั่วคราวและถาวร (ถาวรก็หมายถึงตลอดชีวิต)

สรุปได้ว่า ความทุกข์ที่พระพุทธเจ้าสอนให้เรามาปฏิบัติเพื่อที่จะได้หลุดพ้นนั้น คือ ความทุกข์ของจิตใจในชีวิตปัจจุบัน ที่เป็นความเศร้าโศก หรือความเสียใจ เป็นต้น ที่เกิดขึ้นมาจากความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายที่กำลังแก่ หรือเจ็บ หรือกำลังจะตาย หรือกำลังพลัดพราก เป็นต้น แต่บางคนอาจเข้าใจผิดไปว่า ความแก่ ความเจ็บ และความตายของร่างกาย รวมทั้งความพลัดพราก เป็นต้น ตามธรรมชาตินั้น เป็นความทุกข์ที่เราไม่สามารถหลุดพ้นจากมันได้ตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ ซึ่งจากความเข้าใจผิดนี้เองที่ทำให้เขาเกิดความเข้าใจในเรื่องความทุกข์ของอริยสัจ ๔ ผิดไป ว่าเป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาเพราะว่ามีร่างกายเกิดขึ้นมา ดังนั้นจึงทำให้คนที่เข้าใจผิดนี้เกิดความเข้าใจผิดในหลักอริยมรรคว่า เป็นหลักการปฏิบัติเพื่อที่จะได้ไม่มีการเกิดชีวิตขึ้นมาอีก นี่เองที่ทำให้คนที่เข้าใจผิดนี้ไม่คิดที่จะศึกษาและปฏิบัติตามหลักอริยมรรคเพื่อความพ้นทุกข์ในชีวิตปัจจุบัน จึงทำให้เขาต้องมีความทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่นอยู่ต่อไปจนตาย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่