ถ้ารู้จักทุกข์ผิด ก็จะรู้จักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าผิดตามไปด้วยทันที

ถ้ารู้จักทุกข์ผิด ก็จะรู้จักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าผิดตามไปด้วยทันที

คือคำว่าทุกข์นี้มันมี ๓ อย่าง ที่เราจะต้องแยกให้ออก ไปอย่างนั้นก็จะเข้าใจเรื่องอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าผิดไปหมดทันที ซึ่งทุกข์ทั้ง ๓ นั้นก็ได้แก่

๑. ทุกขลักษณะ  คือลักษณะที่ต้องทน อันเป็นสภาวะของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายตามธรรมชาติ ตามกฏไตรลักษณ์ อย่างเช่น ร่างกายก็ต้องทนในการประคับประคองสภาพการปรุงแต่งของร่างกายไว้ด้วยความยากลำบากตลอดเวลา คือทำให้ร่างกายเกิดความหนัก-เหนื่อย หรือไม่สุขสบายอยู่เสมอๆ

๒. ทุกขเวทนา คือความรู้สึกที่ทนได้ยาก ที่เกิดจากการที่จิตสัมผัสกับอารมณ์ (สิ่งต่างๆของโลก) ที่เป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกที่ทนได้ยาก ก็จะเกิดทุกขเวทนาขึ้นมาทันทีตามธรรมชาติ อย่างเช่น เมื่อร่างกายสัมผัสกับความร้อน ความหนาว ความหิว ความกระหาย แรงดึง แรงตี หรือเกิดโรคร้ายแรง เป็นต้น ก็จะทำให้ร่างกายเกิดความรู้สึกเจ็บ ปวด หรือทรมาน ขึ้นมาทันที

๓. ทุกข์อุปาทาน คือความรู้สึกที่ทนได้ยากที่เกิดจากความยึดถือว่าร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเรา-ของเรา (อุปาทานในขันธ์ ๕) แล้วทำให้จิตเกิดความรู้สึกที่ทนได้ยากมาก (คือเศร้าโศก เสียใจ แห้งเหี่ยวใจ หนัก-เหนื่อยใจ ไม่สบายใจ เป็นต้น) ขึ้นมา อย่างเช่น เมื่อร่างกายเกิดทุกขเวทนา แล้วจิตใจไปยึดถือว่าเป็นร่างกายของเรา ก็จะทำให้จิตใจเกิดความรู้สึกที่ทนได้ยากซ้อนขึ้นมาอีกอย่างรุนแรงทันที เป็นต้น

เราต้องแยกให้ออกว่าทุกข์นั้นมี ๓ อย่าง ไม่อย่างนั้นก็จะศึกษาพุทธศาสนาไม่เข้าใจ และไม่เข้าใจอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า ว่าสอนเรื่องการดับทุกขอุปาทาน ไม่ได้สอนเรื่องการดับทุกข์เวทนา คือแม้ทุกขเวทนาจะเกิดขึ้นกับร่างกายก็ตาม แต่ถ้าจิตของเราไม่ไปยึดถือว่าเป็นร่างกายของเราเข้า จิตใจมันก็ไม่เกิดความทุกข์ที่รุนแรงซ้อนขึ้นมาอีกด้วยความโง่สูงสุด (อวิชชา)

ถ้าไม่ยอมรับว่าพระพุทธเจ้าสอนเฉพาะเรื่องการดับทุกขอุปาทาน ก็แสดงว่ายังไม่เข้าใจหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้อง เพราะวิธีการดับทุกขเวนานั้นใครๆเขาก็สอนกันอยู่แล้ว ไม่ได้ต้องให้พระพุทธเจ้ามาสอนก็ได้ ส่วนเรื่องการดับทุกข์ของจิตใจนี้ยังไม่มีใครมีความรู้อย่างถูกต้อง จนกระทั่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ขึ้นมา จึงได้ทรงนำเรื่องการดับทุกข์ของจิตใจหรือหลักอริสัจ ๔ มาสอน

สรุปได้ว่า พระพุทธเจ้าจะสอนเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์สูงสุด คือเรื่องการดับทุกขอุปาทานเท่านั้น ซึ่งยังไม่มีใครสามารถสอนได้ ต้องใช้ความรู้สูงสุดระดับพระพุทธเจ้าเท่านั้นมาสอน แต่ก็หาคนที่เข้าใจยาก เพราะคนส่วนใหญ่ ก็จะเข้าใจว่าเมื่อร่างกายเกิดทุกขเวทนาแล้ว จิตใจก็ต้องเป็นทุกข์ตามไปด้วยทันที (คือเกิดความยินร้าย หรือไม่พอใจ หรือไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็นในทุกขเวทนา แล้วก็ทำให้จิตใจเกิดทุกขอุปทานที่รุนแรงซ้อนขึ้นมาอีก) ซึ่งเมื่อเข้าใจเรื่องความทุกข์ผิด ก็ย่อมที่จะเข้าใจเรื่องสาเหตุของทุกข์ผิดตามไปด้วย (คือไปเข้าใจว่าเป็นเพราะการเกิดร่างกายขึ้นมาจึงเป็นทุกข์) และเข้าใจเรื่องความดับทุกข์ผิดตามไปด้วย (คือเข้าใจว่าต้องไม่เกิดร่างกายขึ้นมาอีกจึงจะไม่เป็นทุกข์) รวมทั้งเข้าใจเรื่องการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ผิดตามไปด้วย (คือเข้าใจว่าการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคนั้นก็คือการปฏิบัติเพื่อที่จะได้ไม่เกิดร่างกายขึ้นมาอีก) อย่างที่ชาวพุทธส่วนใหญ่กำลังเข้าใจผิดกันอยู่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่