คำต่อคำ"บัณฑูร ล่ำซำ" "มีดอกเบี้ยนโยบายทำไม ถ้าไม่ทำตาม"

กระทู้คำถาม
คำต่อคำ"บัณฑูร ล่ำซำ" "มีดอกเบี้ยนโยบายทำไม ถ้าไม่ทำตาม"
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1432450238

updated: 24 พ.ค. 2558 เวลา 14:00:52 น.

หลังจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ออกมาให้สัมภาษณ์ในการเข้าร่วมประชุมของสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่าอยากให้ธนาคารพาณิชย์มีการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่ง "ดอกเบี้ย" เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี

หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยอีก 0.25% เป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกันรอบปีนี้ โดยลดลงมาอยู่ที่ 1.50% แต่ยังไม่มีธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) แห่งใดลดดอกเบี้ยรับลูก

ถัดมาในเช้าวันรุ่งขึ้น (20 พ.ค.) "ธนาคารกสิกรไทย" แจ้งสื่อมวลชนว่า แถลงข่าวด่วน โดย "บัณฑูร ล่ำซำ" ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ณ ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่

"บัณฑูร" ก้าวเข้ามาในห้องแถลงเป็นคนสุดท้าย หลังผู้บริหารธนาคารอยู่พร้อมหน้าแล้ว และเขาเปิดฉากเล่าว่า ประเทศไทยปัจจุบัน ยังคงต้องเผชิญความยากลำบาก เนื่องจากเศรษฐกิจไม่โตไปตามเป้าหมาย จนส่งผลให้รัฐบาลต้องเจอโจทย์ที่ท้าทาย และต้องเร่งแก้ปัญหาด้วยการเร่งให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐ เร่งรัดการเบิกจ่าย รวมถึงพยายามกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภาคประชาชนเท่าที่จะเป็นไปได้ กระตุ้นการส่งออกและการท่องเที่ยวด้วยการยกเลิกกฎอัยการศึก

นอกจากนี้ "มาตรการทางการเงิน" ที่ออกมาในรูป "การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย" ก็ถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกเลือกใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นประเทศไทยจึงได้ใช้หนทางนี้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1.50% จากเดิม 1.75% เช่นกัน

"จะมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ทำไม หากมีแล้วไม่มีคนทำตาม การที่นโยบายดอกเบี้ยจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจ ระบบธนาคารก็ต้องทำตามกันไปด้วย ไม่ใช่ว่าตื่นเช้ามา จะต้องให้ผู้ว่าการแบงก์ชาติมาทวง ทำไมถึงทำตัวเป็นกามตายด้าน ไม่รู้ร้อนรู้หนาว กลายเป็นบรรยากาศที่ต้องขัดกัน ทั้งที่เหตุการณ์ในประเทศก็ตึงเครียดพอสมควรแล้ว"

เขาบอกว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีความมั่งคั่งมากขึ้น จึงน่าจะสามารถดำเนินการตามแนวทางนโยบายรัฐได้ และเป็นเหตุที่ธนาคารกสิกรไทย จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประมาณ 0.130%

โดยดอกเบี้ยประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) จะเหลือ 6.50% จากเดิม 6.63% และดอกเบี้ยประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) เหลือ 7.37% จากปัจจุบัน 7.50% ส่วนดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลด 0.25% เหลือ 7.87% จากเดิม 8.12% มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.

"แน่นอนว่าราคาหุ้นแบงก์ต้องตก เพราะทั้งนักวิเคราะห์และนักลงทุนต่างก็คำนวณได้อยู่แล้ว และหลังจากนี้ก็คงมีผลต่อผลประกอบการด้วย การทำแบบนี้ก็เฉือนเนื้อไปบ้าง คงมีเลือดไหลแน่ แต่ที่สมาคมธนาคารไทยประชุมว่าไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนั้น วันนี้เราจะทำ ซึ่งก็จะดูต่อไปว่าจะมีคนทำตามไหม"

เมื่อผู้สื่อข่าวได้ถามถึงมีการหารือกับ "ดร.ประสาร" ผู้ว่าการ ธปท.หรือไม่

"บัณฑูร" ตอบเพียงว่า ผมเข้าใจถึงการทำหน้าที่ของ ธปท. ที่ต้องพยายามหาจุดสมดุลทางเศรษฐกิจ ส่วนดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ส่วนตัวไม่สามารถตอบได้ว่าจะเพียงพอแล้วหรือยังในภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ แต่ต้องค่อยๆ ประเมินทีละขั้นถึงผลได้และผลเสียที่ตามมาว่าจะเป็นอย่างไร

เป็นคำที่ซัดตรงใจลูกหนี้ แต่ทำไมกสิกรไทยไม่เทกแอ็กชั่นทันทีเมื่อ กนง.ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบาย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่