ผลสำรวจหุ้นไทยปี 68 ฟันด์โฟลว์กดดัน เคาะดัชนีสูงสุด 1,600 จุด ต่ำสุด 1,322 จุด

สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน สำรวจนักวิเคราะห์-กองทุน ให้หุ้นไทยปี 68 ดัชนีสูงสุด 1,501 – 1,600 จุด และดัชนีต่ำสุด 1,322 จุด ยกปัจจัยบวกดอกเบี้ยในประเทศ ส่วนปัจจัยลบฟันด์โฟลว์ยังไหลออกจากหุ้นไทย แนะ ลงทุนหุ้นไทย 22 % นอกนั้นกระจายความเสี่ยง

         นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน แถลงผลการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อมุมมองในด้านการลงทุนและคาดการณ์ทิศทางดัชนีราคาหุ้นไทย (SET Index)
         โดยครั้งนี้มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 26 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์จำนวน 22 บริษัท บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจำนวน 2 บริษัท และบริษัทโกลด์ฟิวเจอร์ส 2 บริษัท ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

         สมมติฐาน GDP ปี 68 นั้นผู้ตอบทุกรายมองว่าเป็นบวก ผู้ตอบที่ให้ตัวเลขต่ำสุดคือ 2.4% ตัวเลขสูงสุดคือ 3.3%โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.93% ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน (ต.ค.67) ซึ่งเคยใช้สมมติฐานที่ 3.01%  ทางด้านสมมติฐานราคาน้ำมัน มีค่าเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสอบถามที่ 74.14 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยแยกตามกลุ่ม มีผู้ตอบดังนี้
         60 – 69.99 ดอลลาร์ มีผู้ตอบร้อยละ 4
         70 – 79.99 ดอลลาร์ มีผู้ตอบร้อยละ 84
         80 – 89.99 ดอลลาร์ มีผู้ตอบร้อยละ 12
   
 
          ทั้งนี้ Risk Free Rate ที่ใช้ในการประเมินมูลค่าจากผู้ตอบ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.60% และทางด้านสมมติฐาน Risk Premium ของตลาด ที่ใช้ในการประเมินมูลค่า อยู่ที่ 7.82%
ผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน ร้อยละ 42.31 มองว่าดัชนีราคาหุ้นไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 มีแนวโน้มไปในทิศทางบวก

        ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 38.46 มองว่ามีแนวโน้ม Sideways หรือไม่เปลี่ยนแปลงไปมากจากไตรมาส 4 ปี 67 และมีเพียงร้อยละ 19.23 ที่มองไปในทิศทางลบ
โดยปัจจัยหลักที่น่าจับตามองที่มีผลต่อการขับเคลื่อนตลาดในไตรมาส 1 ได้แก่การเข้ารับตำแหน่งและนโยบายของ Trump ตามมาด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยและการลงทุนของภาครัฐ

        คาดการณ์ค่าเฉลี่ยดัชนีหุ้นไทยสิ้นไตรมาสที่ 1 ทั้งนี้นักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุนคาดว่าการฟื้นตัวของดัชนีหุ้นไทยจะต่อเนื่องไปในไตรมาส 1 ของปี 2568 โดยคาดว่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ดัชนีจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1,449 จุด
            
        เมื่อให้มองยาวไปจนถึงสิ้นปี 2568 ปัจจัยที่มีผลบวกต่อดัชนีราคาหุ้นไทยในปี 2568 ได้แก่ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ผู้ตอบแบบสำรวจ 76.92% เทคะแนนให้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลบวก รองลงมาผู้ตอบ 73.08% โหวตให้ผลประกอบการบจ.ปี 68 ตามมาด้วยเศรษฐกิจภายในประเทศ มีผู้ตอบ 69.23% และ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกา มีผู้ตอบ 57.69% ตามลำดับ
 
        ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลในด้านลบต่อตลาดทุนไทยในขณะนี้จนถึงสิ้นปี 2568 ได้แก่ ปัจจัยด้าน Fund Flows จากต่างประเทศออกจากตลาดหุ้นไทย 74.07% ของผู้ตอบทั้งหมด เทคะแนนให้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลลบ
             
         รองลงมาปัจจัยด้านการเมืองในประเทศ มีผู้ตอบ 69.23% ตามมาด้วยปัจจัยด้านการเมืองในต่างประเทศ มีผู้ตอบ 61.54% และการลดหรือยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของประเทศสำคัญทั่วโลก มีผู้โหวต 55.56% ตามลำดับ

       สมาคมนักวิเคราะห์ฯ ได้สอบถามความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนเกี่ยวกับ ข้อเสนอแนะว่ารัฐบาลควรมีนโยบายเรื่องใดที่มีผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ คุ้มค่ากับผลกระทบทางงบประมาณ ส่วนใหญ่เสนอให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แยกเป็นร้อยละ 50 ของผู้ตอบเสนอให้เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการลงทุนภาครัฐที่หนุนศักยภาพ การเติบโตทางเศรษฐกิจ สนับสนุนอุตสาหกรรม New S-Curve ให้เกิดขึ้นในไทย

       ถัดมาจำนวนร้อยละ 38.46 ของผู้ตอบ เสนอด้านการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ได้แก่ นโยบายกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งเสริม FDI ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ สนับสนุนการวิจัยและผลิตสินค้าเทคโนโลยี การท่องเที่ยว Entertainment complex รวมถึงลดภาษีนิติบุคคล และเสนอนโยบายช่วยเหลือภาคประชนได้แก่ ลดภาษีบุคคลธรรมดา สนับสนุนมาตรการแก้ปัญหาหนี้ และให้ความสาคัญด้านการศึกษา

       ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ณ สิ้นปี 2568 มีนักวิเคราะห์ถึง 54% ที่คาดว่าลดลงจากเดิมอยู่ที่ 2.00% รองลงมามี 22% ของผู้ตอบ มองว่าอาจลดลงมาที่ 1.75% โดยมีผู้ตอบ 17% มองว่าจะอยู่ระดับเดิมที่ 2.25%และผู้ตอบ 4% ที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับลดไปอยู่ที่ 1.50%คาดการณ์กาไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 2567 ของตลาดเฉลี่ยที่ 84.61 บาท ปรับลดจากผลสารวจครั้งก่อน ซึ่งอยู่ที่ 89.91 บาทต่อหุ้น โดย แยกตามกลุ่มมีผู้ตอบดังนี้
           70 – 79.99 บาท มีผู้ตอบร้อยละ 10.53
           80 – 89.99 บาท มีผู้ตอบร้อยละ 84.21
           90 – 99.99 บาท มีผู้ตอบร้อยละ 5.26
คาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของปี 2568 เฉลี่ยอยู่ที่ 94.95 บาท แยกตามกลุ่มผู้ตอบดังนี้
          80 – 89.99 บาท มีผู้ตอบร้อยละ 10.53
          90 – 99.99 บาท มีผู้ตอบร้อยละ 84.21
          100 – 109.99 บาท มีผู้ตอบร้อยละ 5.26
EPS Growth ของปี 2568 คาดว่า EPS Growth เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 12.22 เมื่อแยกตามช่วงระดับการเติบโต จะอยู่ระหว่างร้อยละ
           1 ถึง 9.99 มีผู้ตอบร้อยละ 21.05
           10 ถึง 19.99 มีผู้ตอบร้อยละ 78.95

สำหรับจุดสูงสุดของ SET Index ช่วง ม.ค. - ธ.ค. 68 เฉลี่ยที่ระดับ 1,581 จุด ทั้งนี้มีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 71.43 ที่คาดว่าดัชนีจะทำจุดสูงสุด 1,501 – 1,600 จุด รองลงมาผู้ตอบร้อยละ 19.05 คาดว่าจุดสูงสุดจะอยู่ในช่วง 1,601 – 1,700 และผู้ตอบร้อยละ 9.52 มองว่าอยู่ในช่วง 1,401 – 1,500 ตามลำดับ
เมื่อมองจุดต่ำสุดของปี 2568 นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน คาดการณ์จุดต่ำสุดของดัชนีราคาหุ้นไทย (SET Index) ช่วงม.ค. - ธ.ค. 68 มีค่าเฉลี่ยจุดต่ำสุดที่ 1,322 จุด ทั้งนี้นักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุนคาดเป้าหมายดัชนี ณ วันสิ้นปี 2568 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,556 จุด
   
ความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนเกี่ยวกับการจัดพอร์ตการลงทุน แนะนำ ให้มีเงินสด / เงินฝากระยะสั้นร้อยละ 10.72 ของพอร์ต และมีกองทุนตราสารหนี้ร้อยละ 22
ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงนั้น แนะนำให้แบ่งเงินลงทุนไว้ในหุ้นต่างประเทศหรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ ร้อยละ 29.56 รองลงมา ลงทุนในหุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทย ร้อยละ 22.52 ตามมาด้วยการแบ่งเงินลงทุนไว้ในทองคำ/ กองทุนทองคำ ร้อยละ 8.10 กองทุนอสังหา/REIT ร้อยละ 6.90 และสินทรัพย์อื่นๆ เช่น Bitcoin ร้อยละ 0.20
โดยความเห็นต่อการลงทุนหุ้นต่างประเทศ / กองทุนหุ้นต่างประเทศ แนะนำกองทุนหุ้นสหรัฐ โดยเฉพาะ AI-Technology และ Selective Asia เช่น จีนเกาหลี และเวียดนาม
   
สำหรับในการลงทุนหุ้นไทยนั้น แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุน ในหมวดธุรกิจค้าปลีก รับเหมาก่อสร้าง ภาคบริการ การท่องเที่ยว เทคโนโลยีและการสื่อสาร ในขณะที่ให้ลดน้ำหนักการลงทุนใน หมวดธุรกิจยานยนต์ พลังงานและปิโตรเคมี
 
รายชื่อหุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำโดยมีจำนวนสานักวิเคราะห์แนะนาตรงกันตั้งแต่ 4 สำนักขึ้นไป มีดังนี้ (เรียงชื่อตามอักษรย่อ)
1.AOT มองว่าได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวฟื้น โดยเติบโตไปตามการท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งในปี 2567 ททท.คาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่ 36 ล้าน และปี 2568 ที่ 40 ล้านคน
2.ADVANC มองว่าธุรกิจฟื้นตัว ต้นทุนต่ำลง มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอ ปลอดภัยจากนโยบายของทรัมป์ และได้ประโยชน์จากกระแส Data center
3.BDMS ได้อานิสงส์จากสังคมสูงวัยที่จะใหญ่ขึ้น คาดกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติยังคงเติบโต
4.CPALL ได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

สำหรับหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ หุ้นกลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี

Cr. https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1160800


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่