เทรนด์ “ดอกเบี้ย-ค่าเงิน” ปี68 บาทผันผวน-ส่งออกเสี่ยงสูง

ส่องแนวโน้มดอกเบี้ย-ค่าเงินปี’68 เผชิญปัจจัยเสี่ยงนโยบายการค้าสหรัฐ “กรุงไทย” ชี้กระแทกเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง “ทีทีบี” คาดปีหน้า กนง.ลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง นโยบายทรัมป์ 2.0 เอฟเฟ็กต์เงินบาทไทยผันผวนหนัก “ส่งออก-นำเข้า” เสี่ยงสูง ดร.สมประวิณ-SCB หั่นจีดีพีปี’68 เหลือ 2.4% ชี้เศรษฐกิจไทย “ขาลง”

จีดีพีไตรมาส 1/68 โต 4%
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 2.7-2.8% ใกล้เคียงกับปี 2567 ที่เติบโตได้ในระดับ 2.8% ซึ่งปัจจัยการเติบโตในปีหน้าจะมาจากแรงส่งในประเทศที่ปรับดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่ทำให้สภาพคล่องรายได้ลงสู่การจ้างงานดีขึ้น และคาดว่าในไตรมาสที่ 4/67 ยังคงมีโมเมนตัมต่อเนื่องที่น่าจะขยายตัวได้ระดับ 4% และการฟื้นตัวทอดยาวไปถึงไตรมาสที่ 1/68 ที่มองว่าน่าจะยังขยายตัวได้ราว 4%

อย่างไรก็ดี ปัญหาหลักจะอยู่ที่สหรัฐ ในการดำเนินนโยบายการค้าและเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาสินค้าจีนที่มีความเข้มข้นขึ้น โดยหลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีเริ่มดำเนินนโยบายที่ใช้เวลา 6-8 เดือน จะเริ่มเห็นผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวในช่วงกลางปี 2568 ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี และเริ่มเห็นความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568

ครึ่งหลังเจอเสี่ยง “ทรัมป์”
“จากเดิมเราประมาณการเติบโตปี’68 อยู่ที่ 3% ก่อนที่ทรัมป์จะเข้ามา แต่ตอนนี้ความเสี่ยงเริ่มมีมากขึ้น โดยในช่วงครึ่งแรกปี’68 และครึ่งปีหลัง จะแตกต่างกัน โดยครึ่งปีแรกยังมีอานิสงส์จากแรงกระตุ้นจากภาครัฐ แต่ครึ่งหลังจะเริ่มมีความเสี่ยงจากนโยบายสหรัฐเข้ามากระทบให้เห็น เราจึงคาดว่าจีดีพีจะออกมาต่ำกว่า 3% หรือใกล้เคียงปี’67 อยู่ที่ 2.7-2.8%” ดร.พชรพจน์กล่าว

ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลังจากเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 เริ่มมีผลกระทบ และเงินเฟ้อต่ำแตะขอบล่าง จึงมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) 1 ครั้งในช่วงครึ่งปีแรก จากระดับ 2.25% ลงมาอยู่ที่ 2.00% ต่อปี เนื่องจากผลกระทบภาพเริ่มชัดขึ้นว่าเศรษฐกิจจะได้รับแรงกระแทกจากต่างประเทศ ทำให้นโยบายการเงิน หรือดอกเบี้ย จำเป็นต้องมูฟเร็ว เพราะกว่าจะเริ่มเอฟเฟ็กต์จะใช้ระยะเวลา

ค่าเงินบาท 2 ทิศทาง
ดร.พชรพจน์กล่าวว่า สำหรับทิศทางค่าเงินบาทในปี 2568 มองว่า เงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทาง ในกรณีสหรัฐมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และเงินบาทอ่อนค่า แต่อีกมุมทรัมป์ไม่ต้องการให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงเกินไป หากน้ำมันราคาไม่สูงขึ้น ทำให้การนำเข้าพลังงานของไทยไม่สูง ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวระดับกลาง ๆ ไม่ได้มีทิศทางชัดเจน ดังนั้น ภายใต้การส่งออกที่ยังไม่ได้ดีเท่าที่ควรขยายตัวระดับ 1-2% และดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ได้เกินดุลมาก ทำให้เงินบาทไม่แข็งค่ามากถึงระดับ 32.00-33.00 บาทต่อดอลลาร์ จากในปี 2567 เงินบาทเคลื่อนไหวต่ำกว่า 34.00 บาทต่อดอลลาร์

“แนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้าจนถึงช่วงสงกรานต์ยังพอใช้ได้ โอกาสรีบลดดอกเบี้ยก็น้อยลงไป แม้ว่าเราจะเริ่มเห็นความเสี่ยงจากต่างประเทศ และงบประมาณภาครัฐไม่ได้มีจำกัดแล้ว แต่นโยบายการเงินต้องอ่านเศรษฐกิจดี ๆ แต่เรื่องภาวะการเงินตึงตัวยังมี ซึ่งเป็นสาเหตุให้ลดดอกเบี้ยได้เช่นกัน”
ปี’68 กนง.ลด ดบ. 2 ครั้ง
นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีทีบี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางนโยบายการเงินในปี 2568 ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจปรับตัวได้แค่ไหน เพราะภาคบริการดีขึ้นแล้ว แต่ภาคการผลิตยังได้รับผลกระทบจากสินค้าจีน ทั้งนี้ หากประชาชนรายได้กลับมา การดำเนินนโยบายการเงินไม่จำเป็นต้องคลายตัวมากนัก แต่หากรายได้ไม่ฟื้นและหนืด นโยบายการเงินต้องผ่อนคลาย อย่างไรก็ดี เชื่อว่า ธปท.จะมองเรื่องการใช้นโยบายเฉพาะจุดมากกว่าดอกเบี้ย

ดังนั้น แม้ว่านโยบายการเงินโลกจะเป็นวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง แต่นโยบายการเงินไทย คาดว่า กนง.จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2 ครั้ง ในปี 2568 โดยยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75-2.00% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและการส่งออกกลับมาดี

ค่าเงิน-ทองคำผันผวนมาก
สำหรับประเด็นภาวะการเงินตึงตัว เป็นผลจากรายได้ตึงตัว ซึ่งหากรายได้ประชาชนและบริษัทกลับมา รวมถึงสถาบันการเงินสามารถคุมคุณภาพสินเชื่อได้ จะเห็นการคลายตัวของภาวะการเงินที่ดีขึ้น

“หากจำได้เมื่อ 2 ปีก่อนช่วงโลกปรับดอกเบี้ยขึ้น ไทยจะเจอคำว่า Behind the Curve ปรับช้ากว่าที่อื่น ดังนั้นในช่วงดอกเบี้ยขาลง คงไม่ลงตามแบบ 1 ต่อ 1 ซึ่งเราคงไม่เห็นดอกเบี้ยลงไปต่ำกว่า 1.75% ต่อปี”

ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาทจะเห็นความไม่แน่นอนมากขึ้น เนื่องจากมีประเด็นเรื่องความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) นโยบายทรัมป์ 2.0 และจีน ซึ่งสร้างความอ่อนไหวต่อดอลลาร์ และราคาทองคำที่มีความผันผวนมากขึ้น โดยความผันผวนของค่าเงินจะกว้างขึ้น ทั้งนี้ หากดูค่าเฉลี่ยการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทภายใน 1 วัน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.40-0.50 สตางค์ ปัจจุบันค่าเฉลี่ยการเคลื่อนไหวอยู่ที่ 0.80 สตางค์ และคาดว่าภายในปี 2568 ค่าเฉลี่ยจะเพิ่มเป็น 1 บาท ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้นำเข้า-ส่งออก ดังนั้น ผู้ประกอบการควรใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการทำธุรกรรม

“เงินบาท” อ่อนแตะ 35 บาท
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics มองว่า ณ สิ้นปี 2568 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปในทิศทางอ่อนค่ากว่าในช่วงที่ผ่านมา แม้ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินเข้าสู่วัฏจักรผ่อนคลายทั่วโลก แต่แนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ในปี 2568 อาจน้อยกว่าที่ประเมินไว้ รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจและการค้าภายใต้การบริหารของ ปธน.ทรัมป์ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐ มีจังหวะแข็งค่าขึ้นได้เร็ว
ขณะที่ค่าเงินบาทในระยะปานกลางมีแนวโน้มอ่อนค่าขึ้นกว่าในอดีต ตามการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงตามศักยภาพการส่งออกของไทย ผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างของไทย สวนทางกับการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น ขณะที่การเกินดุลบริการกำลังเผชิญข้อจำกัดในการเติบโตทั้งในมิติการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ต่อหัว
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังมีความเสี่ยงผันผวนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากเงินบาทเคลื่อนไหวสัมพันธ์กับสินค้าโภคภัณฑ์ค่อนข้างสูง ตามความนิยมซื้อขายหรือสะสมทองคำของผู้บริโภคและนักลงทุนในประเทศ ทำให้ค่าเงินบาทมักจะมีจังหวะผันผวนในบางช่วงสูงถึง 7-10%

เศรษฐกิจไทย “ขาลง”
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มองว่าจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 2.4% ปรับลงจาก 2.6% โดยเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วง “ขาลง” และ “ชะลอตัว” ลงชัดเจน

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจปรับลดลงกว่าประมาณการ 2.4% อยู่ภายใต้สมมุติฐาน 2 เหตุการณ์ คือ 1.ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รุนแรงกว่าที่คาดจนลุกลามไปประเทศจีน และมากระทบไทยทางตรงและทางอ้อม และ 2.การเชื่อมโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจจริงกับภาวะการเงินตึงตัว โดยอัตราการเติบโตสินเชื่อชะลอตัวลงจากภาคเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ภาคการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ และปี 2568 สินเชื่อจะยังคงชะลอและไปกระทบภาคเศรษฐกิจจริงได้ “วนลูป” เป็นวัฏจักร

ดังนั้น ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งจากนโยบาย Trump 2.0 ภาวะการเงินตึงตัวมากขึ้น รวมถึงการส่งสัญญาณนโยบายการเงินสหรัฐ ผ่านรายงาน Dot Plot ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการลดดอกเบี้ย จึงมองว่านโยบายการเงินของไทย โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้ง ในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งจะช่วยลดภาระการเงินตึงตัวและภาระการชำระหนี้ รวมถึงการปรับลดตามดอกเบี้ยโลกที่ปรับลดลงด้วย

เงินทุนไหลออกต่อเนื่อง
ดร.สมประวิณกล่าวว่า อย่างไรก็ดี นโยบายการคลังยังต้องมีส่วนช่วย แม้ว่าบทบาทจะลดลงจากเพดานหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง และรัฐบาลต้องการลดการขาดดุลงบประมาณลง 4.5% แต่นโยบายการคลังสามารถทำผ่านได้ 2 ส่วน คือการใช้จ่าย และภาษี ซึ่งการใช้จ่ายอาจจะเพิ่มภาระทางการคลัง แต่ด้านภาษียังสามารถทำได้ โดยการทำผ่านคนที่มีรายได้สูงในการจูงใจลดหย่อนภาษี ซึ่งจะช่วยหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจได้
ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด และการส่งสัญญาณชะลอการลดดอกเบี้ยลงจากเดิม มองว่าไม่ได้มีผลกระทบมากนัก แต่จะเห็นดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง และอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น

“เรายังมองว่าปีหน้า กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยลง 1 ครั้ง แม้ว่าในสัญญาณเหมือนจะไม่อยากลด เพราะหากดูเศรษฐกิจในช่วงปกติจะโตได้เฉลี่ย 2.7% แต่ในปี’68 เราโตได้แค่ 2.4% ถือว่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเราต้องการนโยบายกระตุ้น และต้องการลดดอกเบี้ยเข้ามาช่วย”
สำหรับปี 2568 คาดว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายจะยังไหลออกต่อเนื่องกดดันเงินบาทอ่อนค่าต่อในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 แต่เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้ช่วงครึ่งปีหลัง ตามทิศทางการลดดอกเบี้ยของเฟด และราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มลดลง ราคาทองคำที่อาจสูงขึ้น และเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับ มองกรอบปลายปี 2568 อยู่ที่ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์

“เราเห็นเงินบาทอ่อนค่าหลังทรัมป์เข้ามา และอ่อนค่าเยอะกว่าที่คาดการณ์จากนโยบาย Trump 2.0 ซึ่งยังจะเห็นการอ่อนค่าไปถึงช่วงครึ่งแรกของปี’68 และทยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีได้ตามทิศทางการไหลกลับของฟันด์โฟลว์”... 

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/finance/news-1720485
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่