ความแตกต่างของสัมมาสมาธิกับฌานสมาบัติ ๘

ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์พระองค์นั้น

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว เรามักเรียกว่า "พระพุทธพจน์" หรือ "พระพุทธวจนะ" นั้น เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา

ดังพระดำรัสที่ทรงตรัสไว้ว่า

"สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้"

จากพระบาลีที่มาจากพระพุทธพจน์ ยังมีพระพุทธพจน์จากพระสูตรที่เชื่อมโยงรองรับไว้ว่า

เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ
ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง

ก็ภิกษุย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงอย่างไร?
ย่อมรู้ชัดซึ่ง ความเกิดและความดับแห่งรูป
ย่อมรู้ชัดซึ่ง ความเกิดและความดับแห่งเวทนา
ย่อมรู้ชัดซึ่ง ความเกิดและความดับแห่งสัญญา
ย่อมรู้ชัดซึ่ง ความเกิดและความดับแห่งสังขาร
ย่อมรู้ชัดซึ่ง ความเกิดและความดับแห่งวิญญาณ

ปัจจุบันมักมีการแอบอ้างเอาธรรมะของพ่อแม่ครูบาอาจารย์บางท่าน ที่ท่านเทศน์ไว้เป็นคราวๆ ในประชุมชนครั้งนั้นๆ ว่า "ยิ่งเป็นปัญญาขั้นสูงด้วยแล้ว เห็นสมาธิเป็นภัยไปหมดเลย" ด้วยท่านเกรงไปว่า ลูกศิษย์ลูกหาของท่านที่มีอยู่ในขณะนั้น จะติดอยู่กับความเบากายเบาใจในสมาธิ จนลืมไปว่า ต้องออกใช้ปัญญาปล่อยวาง พิจารณากายในกายเป็นภายนอกบ้าง ตอนลืมตา เพื่อฝึกหัดการปล่อยวางอารมณ์ที่เข้ามากระทบจิต (ปัญญา) ระลึกรู้ก่อนที่จิตของตนจะไหวตัวไปตามอารมณ์เหล่านั้น

กลับมองไปในทางตรงกันข้ามแบบคิดเองเออเองไปตามตำราในชั้นหลังว่า สมาธิไม่ทำให้เกิดปัญญา สมาธิเป็นการติดสุขชุ่มแช่ ต้องวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้นเป็นสำคัญ ทั้งที่ตนเองไม่มีความเข้าใจในคำว่า "วิปัสสนา" เลย วิปัสสนา แปลว่า การรู้เห็นอย่างวิเศษ หรือการรู้เห็นตามความเป็นจริง อันเป็นเรื่องเดียวกัน

มีพระพุทธพจน์รับรอบว่า "สัมมาสมาธิ" ยังให้เกิดปัญญาญาณ ทำให้รู้เห็นตามจริงในขันธ์ ๕ รู้ชัดว่า ขันธ์ ๕ นั่นไม่ใช่เรา(จิต) เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ปล่อยวางลดละเลิกความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ลงได้


คำว่า "วิปัสสนา" เป็นคำที่เกิดมีขึ้นมาในภายหลัง เป็นการรจนาขึ้นมาใหม่ของอาจาริยวาท ในพระสูตรชั้นต้นๆ ที่มีอยู่นั้น พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงตรัสรับรองคำนี้ไว้เลย

แต่มักมีการแอบอ้างเอา "วิปัสสนากรรมฐาน" มาบังหน้าเพื่อประโยชน์ของตนเท่านั้น เพื่อความเกียจคร้านของตน ที่จะไม่ต้องทำ "สมถะกรรมฐาน" หรือที่เรียกว่า "สมาธิกรรมฐานภาวนา" ให้เหนื่อยยากลำบากกาย ต้องหลังขดหลังแข็ง

และมักพูดจากล่าวร้ายโจมตีไปในทางที่เสียหายว่าเป็นเรื่องของสมณะพราหมณ์ ฤาษีชีไพร ไม่ทำให้เกิดปัญญาวิมุตติหลุดพ้น ต้อง "วิปัสสนากรรมฐาน" เท่านั้น จึงจะเกิดปัญญาวิมุตติหลุดพ้นได้ ถึงกับมีอัตโนมัติอาจารย์บางท่าน กล้าฟันธงเลยว่า การปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาเป็นเรื่องของการทำอัตตกิลมถานุโยค ด้วยผู้ที่พูดนั้นขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง

ผู้พูดไม่เคยรู้ความจริงเลยว่า "วิปัสสนา" ที่ตนคิดเองเออเองไปว่าเป็นปัญญาญาณนั้น เป็นเพียงแค่สัญญาอารมณ์ที่ได้มาจากความรู้สึกนึกคิดของตน ที่คิดแล้วคิดเล่า จนความคิดที่ว่ามานั้นตกผลึก ไม่ใช่ปัญญาญาณ ที่เกิดจากการรู้เห็นตามความเป็นจริง ด้วยการปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ยัง "สัมมาสมาธิ" ให้เกิดขึ้น จนจิตมีกำลังสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามาผัสสะ


มารู้จักกับคำว่า "สมาธิ" ที่มีมาก่อนพระพุทธองค์ได้ทรงอุบัติขึ้นมาในโลก และ "สัมมาสมาธิ" ที่พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบด้วยพระองค์เองโดยชอบแล้ว จึงกล้าตรัสรับรองตนเองไว้ว่า

"ปุพเพ อนนุสสุเตสุ ธัมเมสุ แปลว่า
ธรรมอันเราตรัสรู้นี้ ไม่เคยได้ยิน ได้ฟังจากที่ไหนในกาลก่อนนี้แล มาปรากฏแก่อาตมภาพ"


มีเรื่องแปลกแต่จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นด้วยขาดการพิจารณาโดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อนหรือเพราะตำราพาไป กลับกลายเป็นการกล่าวตู่ลบหลู่ดูหมิ่นพระพุทธปัญญาของพระองค์ไปโดยไม่รู้ตัว อันเป็นกรรมหนักที่ตนเองต้องแบกรับโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน

ได้มีการนำเอา "สมาธิ" ที่มีมาแต่กาลก่อนพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ มาผสมปนเปเข้ากับ "สัมมาสมาธิ" ในอริยมรรค ๘ จนวุ่นวายไปหมด ทำให้ผู้ที่ศึกษาใหม่เกิดความลังเลสงสัยสับสนจนเกรงกลัวการนั่งหลับตาปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา

โดยเห็นไปว่าการนั่งหลับตาปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนานั้น เป็นการติดสุขอยู่ในฌาน เป็นพวกตัณหาจริต เป็นเรื่องของฤๅษีชีไพรและสมณพราหมณ์ จนมองข้าม "สัมมาสมาธิ" ในองค์แห่งอริยมรรค ๘ ไปให้ความสนใจกับคำว่า "วิปัสสนากรรมฐาน" แต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่เอาสมาธิเลย

ทั้งที่ คำว่า "วิปัสสนากรรมฐาน" นั้น เป็นของคู่กับ "สมถะกรรมฐาน" ชนิดที่ขาดกัน หรือแยกออกจากกันไม่ได้เลย เมื่อนำเอา "สมถะและวิปัสสนา" มารวมเข้าด้วยกัน ก็เท่ากับ "สัมมาสมาธิ" ในหมวด "สมาธิ" แห่งองค์อริยมรรค ๘ ซึ่งเป็นสมาธิกรรมฐานภาวนาที่สำคัญยิ่ง อันยังให้เกิดปัญญาญาณรู้เห็นตามความเป็นจริงได้ เข้าใจในขันธ์ ๕ และอริยสัจ ๔

ดังมีพระพุทธพจน์ในพระสูตรได้ทรงตรัสรับรองเรื่องราวต่างๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้น อย่างเช่น สมาธิที่มีมาแต่กาลก่อนที่พระพุทธองค์จะได้ทรงตรัสรู้ หรือที่เรียกว่า "สมาบัติ ๘" นั้น อันมีรูปฌาน และอรูปฌาน เป็นต้น

"อาตมภาพนั้นมีความคิดเห็นว่า
ธรรมนี้ไม่เป็นไป เพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท
เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ย่อมเป็นไปเพียงให้อุปบัติในอากิญจัญญายตนพรหมเท่านั้น
อาตมภาพไม่พอใจธรรมนั้น เบื่อจากธรรมนั้นแล้วหลีกไปเสียฯ" (อรูปฌานที่๗)

จะเห็นว่า พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิเสธไปในแนวทางที่ว่า "ธรรมนี้ไม่เป็นไป" เพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

แต่มิได้ทรงปฏิเสธไปแบบปัดทิ้งไม่เห็นคุณค่าเสียเลยทีเดียว ยังทรงตรัสถึงท่านอาจารย์ทั้งสอง ที่ได้อรูปฌาน ๗ และ ๘ ว่า เป็นบุคคลที่ควรสั่งสอน เป็นบัณฑิต ฉลาด มีเมธา มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยมานาน ถ้ากระไร เราพึงแสดงธรรมแก่ท่านอาจารย์ทั้งสอง เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้โดยฉับพลัน


เมื่อมาถึงตรงนี้ ก็ให้สงสัยขึ้นมาว่า แล้ว "สมาธิ" กับ "สัมมาสมาธิ" นั้น แตกต่างกันอย่างไร ตรงไหน จากการที่มีจารึกไว้ในพระไตรปิฎก ดูจะเหมือนกันจนกระทั่งหาข้อแตกต่างกันไม่ได้เลย ดูไปแล้ว คล้ายกับว่าพระพุทธองค์ได้ทรงแอบต่อยอดความรู้ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้มาจาก "ฌานสมาบัติ" ดังกล่าว ทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ แบบไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ

โปรดสังเกตด้วยใจที่เป็นธรรม พิจารณาให้รอบคอบรอบด้าน ก่อนจะเชื่ออะไรลงไปง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น จะเห็นว่าอารมณ์ที่พวกสมณพราหมณ์ และพวกฤๅษีชีไพรใช้นำเอามาเพียรเพ่งเป็นอารมณ์ฌานสมาบัตินั้น ล้วนเป็นอารมณ์ภายนอกกายทั้งสิ้น

เช่น เอารูปที่ปราศจากกามมาเป็นอารมณ์ภาวนา ถ้าเป็นรูปที่ก่อให้เกิดกามขึ้นมาได้นั้น เพียรเพ่งอย่างไรคงทำให้เกิดสมาธิฌานได้ยาก เพราะกิเลสตัณหาคงลากเอาไปกินตั้งแต่ต้นทางแล้ว อรูปก็เช่นเดียวกัน

ส่วนองค์แห่งฌานของรูปฌาน อรูปฌานที่เกิดขึ้นนั้น ย่อมต้องแตกต่างไปจาก "สัมมาสมาธิ" ในองค์ฌานแห่งอริยมรรค องค์ฌานของฌานสมาบัติ ๘ นั้น เป็นการเกาะเกี่ยวเอาอารมณ์ภายนอกกายมาเป็นอารมณ์ภาวนา จนอารมณ์เกาะเกี่ยวกับจิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

เป็นการปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ที่นำไปสู่การละจากอารมณ์หยาบ เข้าไปติดสุขอยู่ในอารมณ์อันละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไป เพียงช่วยทำให้กิเลสเบาบางลงได้เท่านั้น ไม่นำไปสู่ความวิมุตติจิตหลุดพ้นเหมือนฌานใน "สัมมาสมาธิ" เลย มีพระพุทธพจน์รับรองดังนี้

"ดูกรมหานาม อริยสาวกนั้นอาศัยจตุตถฌาน
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่านี้อย่างเดียว
ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้
เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
ข้อนี้เป็นความแตกฉานแห่งญาณข้อที่สาม (อาสวักขยญาณ) ของอริยสาวกนั้น"

ฌานสมาบัติเป็นเพียงเอกัคคตารมณ์ ซึ่งจิตมีการเกาะเกี่ยวกับอารมณ์ภาวนารวมเป็นหนึ่งอย่างเหนียวแน่นไม่ยอมปล่อยวาง ส่วนฌานในสัมมาสมาธิแห่งองค์อริยมรรคนั้นเป็นการปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิต

รูปฌาน อรูปฌานนั้น ยังต้องคอยระวังรักษาอารมณ์ฌานอันละเอียดที่เป็นสุขอยู่นั้นตลอดเวลา ด้วยความหวั่นไหวเกรงกลัวไปว่าอารมณ์ฌานนั้นจะจืดจางลงไปได้

ส่วน "ฌานในสัมมาสมาธิแห่งองค์อริยมรรค" นั้น เป็นอารมณ์ ณ.ภายในกาย เวทนา จิต และธรรมของตน เป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อนำไปสู่การฝึกฝนอบรมตนเองให้รู้จักการปล่อยวางอารมณ์ออกไปเป็นชั้นๆ ในขณะปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา เมื่อปล่อยเป็นแล้วไม่ต้องจำ

เริ่มต้นจากต้องสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลกรรม จากนั้นปล่อยวางอามีสสัญญา พร้อมด้วยวาจาดับ ปรากฏเป็นธรรมอันเอกผุดขึ้นมาอย่างเด่นชัด มีอุเบกขา เสวยสุขด้วยนามกายอันปราศจากอามีส จากนั้นละสุข ละทุกข์ ดับโสมนัส โทมนัสแต่เก่าก่อนได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า "สัมมาสมาธิ"


สรุปได้ว่า ฌานนั้นมีมาแต่กาลก่อนนานมาแล้ว โดยมีทั้งฌานที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น กับฌานในสัมมาสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงได้ค้นพบและตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง โดยไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่ไหนมาในกาลก่อน แม้แต่องค์ฌานก็ยังแตกต่างกันในส่วนผล ฌานสมาบัติ ๘ นั้น เห็นตาลปัดกลับกันกับฌานในสัมมาสมาธิ ที่เห็นขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน

ใช่ว่า ฌานสมาบัติ ๘ จะเป็นเรื่องเลวร้ายอะไร ที่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธไปนั้น ทรงเห็นว่าเป็นหนทางนำไปสู่ภพภูมิ ที่ยังต้องวนเวียนอยู่ในวัฏฏะ ไม่อาจหลุดพ้นจากทุกข์ได้ เพราะเป็นฌานที่ยังเกาะเกี่ยวเอาอารมณ์ภายนอกอันละเอียดเป็นสุขอย่างเหนียวแน่นอยู่ สาธุ

เจริญในธรรมทุกๆท่านครับ
ธรรมภูต

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่