ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง เรื่องพระอริยบุคคล

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า พระอริยบุคคลของพุทธศาสนานั้น จะเป็นผู้วิเศษหรือมีบุญบารมีมาก มีฤทธิ์มีเดชเหนือธรรมชาติ เช่นรู้จิตใจของคนอื่นได้ว่ากำลังคิดอะไรอยู่,  รู้อดีต ปัจจุบัน อนาคต,  สามารถเนรมิตสิ่งของให้เกิดขึ้นหรือหายไปได้, เหาะเหินเดินในอากาศได้, มีตาทิพย์มองเห็นนรกสวรรค์หรือสถานที่ที่อยู่ห่างไกลได้, ช่วยให้คนอื่นประสบผลสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนาได้ เป็นต้น และถ้าใครได้ทำบุญ (เช่นเอาเงินหรือปัจจัย ๔ ไปถวาย) กับท่านแล้วจะได้บุญมหาศาล คือเมื่อตายไปแล้วจะได้ไปบังเกิดเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ เสวยสุขจากกามารมณ์อยู่นานแสนนานอย่างไม่เบื่อหน่าย หรือจะได้บรรลุนิพพานโดยเร็ววันโดยไม่ต้องมาศึกษาและปฏิบัติให้เหนื่อยเลย

แต่ในความเป็นจริงนั้น พระอริยบุคคลนั้นท่านก็เป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่ง ที่พื้นฐานของร่างกายกับจิตใจขงท่านก็ไม่ได้ต่างอะไรกับคนทั่วๆไปเลย คือร่างกายก็ต้องกิน ขับถ่าย หลับนอน เจ็บป่วย แก่เฒ่า และตายเหมือนคนทั่วไป ส่วนจิตใจก็มีการรับรู้ จำได้ รู้สึก และปรุงแต่งเหมือนกับคนทั่วไป แต่จะต่างกันก็ตรงที่พระอริยบุคคลนั้นท่านมีความทุกข์ทางใจน้อยกว่าคนทั่วไปเท่านั้น คือคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นพระอริยบุคคลนั้นจะเรียกว่าเป็น ปุถุชน ที่หมายถึงคนที่จิตใจยังมีกิเลสอยู่อย่างหนาแน่น ดังนั้นปุถุชนจึงยังมีความทุกข์ทางใจที่เกิดจากกิเลสอย่างมาก เช่น ทุกข์ตรม เครียด เสียใจ แห้งเหี่ยวใจ เป็นต้น จนต้องร้องไห้คร่ำครวญออกมาเมื่อต้องประสบกับความทุกข์ที่รุนแรงจากการที่คนที่รักหรอสิ่งที่รักได้จากไป หรือเมื่อรู้ตัวว่าจะต้องตาย หรือเมื่อต้องประสบกับบุคคลหรือสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว หรือเมื่อต้องผิดหวังอย่างรุนแรง เป็นต้นอยู่บ่อยๆ รวมทั้งยังมีจิตใจที่ไม่สงบเย็น หรือหงุดหงิดรำคาญใจ ไม่สบายใจ เป็นต้น อยู่เกือบตลอดทั้งวัน  

ส่วนพระอริยบุคคลนั้นหมายถึงผู้ที่ประเสริฐ เพราะท่านเป็นผู้ที่มีกิเลสน้อยตลอดจนถึงกับไม่มีกิเลสเลยและเป็นคนดีอย่างมั่นคง ดังนั้นท่านจึงเป็นผู้ที่มีปกติมีความทุกข์น้อยตลอดจนถึงกับไม่มีทุกข์เลย ซึ่งพระอริยบุคคลนี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นได้เฉพาะนักบวชหรือพระภิกษุในพุทธศาสนาเท่านั้น แต่สามารถเป็นได้ทุกคนที่มีปัญญาเห็นแจ้งชีวิตแล้ว หรือมีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ดังนั้นทุกคนในโลกไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง เด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดหรือนับถือลัทธิหรือศาสนาใดอยู่ก็ตาม ถ้าได้ศึกษาและปฏิบัติตามหลักปัญญา ศีล สมาธิ ของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้อง จนเกิดดวงตาเห็นธรรมแล้ว ก็สามารถบรรลุเป็นพระอริยบุคคลได้ด้วยตัวเอง แล้วก็จะมีชีวิตที่สงบเย็นหรือนิพพานไปตลอดทั้งชีวิต

ปุถุชนนั้นก็มีทั้งปุถุชนดีและปุถุชนเลว ซึ่งปุถุชนทั่วไปที่เมื่อรู้ว่าการเป็นพระอริยบุคคลเช่นนี้ไม่ได้มีความพิเศษอะไรที่น่ายินดีเลย ก็จะไม่ชอบใจ เพราะปุถุชนทั่วไปนั้นย่อมชื่นชอบความสุขอย่างเต็มที่ โดยความสุขของปุถุชนนั้นเกือบทั้งหมดจะมาจากเรื่องกามารมณ์ (กามารมณ์ก็คือสิ่งที่น่ารักน่าใคร่โดยมีจากเพศตรงข้ามเป็นกามารมณ์ชนิดสูงสุด), เรื่องวัตถุฟุ่มเฟือย, และเรื่องเกียรติยศชื่อเสียง ความเด่นดัง และอำนาจ ดังนั้นปุถุชนทั่วไปจึงได้ถูกปัญหาและความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากกิเลสแผดเผาอยู่เสมอๆตลอดทั้งชีวิต ส่วนปุถุชนที่ดีบางคนก็ชื่นชอบความสุขจากสิ่งที่เรียกว่า บุญ คือจากรักษาศีล จากการมีสมาธิ และจากการทำงานหรือหน้าที่ที่ถูกต้องดีงาม รวมทั้งจากการที่ได้เสียสละหรือช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์หรือมีความสุข เป็นต้น แต่ถึงแม้จะเป็นปุถุชนดีที่มีบุญมาก แต่ก็ไม่สามารถจะหลุดพ้นจากความทุกข์ไปได้ เพราะบุญไม่ได้ช่วยให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้เลย

พระอริยบุคคลตามหลักพุทธศาสนานั้นแยกได้ ๔ ประเภทตามกิเลสที่น้อยลง คือ พระอริยบุคคลระดับต้นที่สุดก็สมมติเรียกว่าพระโสดาบัน คือจิตที่มีดวงตาเห็นธรรมแล้ว (เห็นอริยสัจ ๔ แล้ว) และกิเลสก็น้อยลงมากแล้ว รวมทั้งเป็นคนดีมีศีลธรรมอย่างมั่นคง คือจะไม่ทำความชั่วอีกอย่างเด็ดขาด แต่จะพยายามช่วยเหลือคนอื่นให้พ้นทุกข์ โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ  แต่ท่านก็ยังติดใจในกามารมณ์อยู่ ดังนั้นท่านจึงยังคงมีครอบครัวได้ ส่วนเรื่องความทุกข์นั้นท่านก็ยังคงมีอยู่บ้าง เพราะยังมีกิเลสเป็นความเคยชินตกค้างอยู่ในจิตใต้สำนึก ดังนั้นเมื่อท่านเผลอสติจนเกิดความทุกข์ขึ้นมาเมื่อใด ไม่นานท่านก็จะรู้สึกตัวและดับมันได้ (โดยใช้หลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔)  แล้วจิตของท่านก็จะนิพพาน (คือสงบเย็นหรือไม่เป็นทุกข์) แต่ถ้าพระโสดาบันนี้มีการปฏิบัติมากขึ้น จนสามารถที่จะดับทุกข์หรือนิพพานได้ในทันทีที่เผลอสติให้กิเลสและความทุกข์เกิดขึ้น ก็เรียกว่าพระสกิทาคามี

ส่วนพระสกิทาคามี ที่ปฏิบัติอริยมรรคมากขึ้นจนไม่ลุ่มหลงติดใจในกามารมณ์แล้ว แต่ก็ยังติดใจในความสุขจากวัตถุและเชื่อเสียงเกียรติยศอยู่บ้าง  ก็เรียกว่าพระอนาคามี ที่หมายถึงผู้ไม่มีเรือนหรือครอบครัวแล้ว โดยพระอนาคามีนี้มักจะเป็นผู้ที่ชอบหลีกเร้นหาความสงบ โดยจิตของท่านนั้นจะยังคงมีกิเลสเบาบางและความทุกข์เล็กน้อย (เช่น จากความฟุ้งซ่าน จากความถือตัว และจากความขัดเคืองใจเล็กๆน้อย) อยู่บ้างเท่านั้น  

ส่วนพระอนาคามีที่ปฏิบัติอริยมรรคมากขึ้น จนกิเลสที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกได้ถูกทำลายไปจนหมดสิ้นแล้วอย่างสิ้นเชิง (คือกิเลสจะไม่กลับมาเกิดได้อีกตลอดชีวิต) จิตของท่านก็จะมีสติอย่างถาวรในการที่จะระวังไม่ให้จิตกลับมาเกิดกิเลสใดๆขึ้นมาอีก ดังนั้นจิตของท่านจึงไม่มีความทุกข์ใดๆแม้เพียงเล็กน้อยจนตลอดชีวิต แม้จะมีเรื่องที่เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นกับท่านก็ตาม คือจิตของท่านจะนิพพานแล้วอย่างถาวรหรือตลอดชีวิต

สรุปได้ว่า พระอริยบุคคลนั้นท่านก็เป็นเพียงผู้ที่มีจิตที่มีกิเลสและความทุกข์น้อย ตลอดจนถึงไม่มีความทุกข์เลยจนตลอดชีวิต เพราะท่านมีสติ ปัญญา ศีล และสมาธิตามหลักพุทธศาสนาแล้วอย่างมั่นคง ซึ่งจะต่างกับปุถุชนที่ยังคงมีกิเลสและความทุกข์อยู่เต็มหัวใจ ซึ่งปุถุชนนั้นก็มีทั้งปุถุชนดีและปุถุชนเลว โดยปุถุชนดีก็คือผู้ที่มีกิเลสฝ่ายดี ที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนหรือเห็นแก่ตัวน้อย ส่วนปุถุชนเลวก็คือผู้ที่มีกิเลสฝ่ายไม่ดีหรือชั่ว ที่ชอบเอารัดเอาเปรียบหรือเบียดเบียนผู้อื่นหรือเห็นแก่ตัวจัด แต่ไม่ว่าจะเป็นปุถุชนดีหรือเลวก็ยังมีความทุกข์อยู่เต็มหัวใจจากความแก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากจากสิ่งที่รัก ประสบกับสิ่งที่ไม่รัก และจากความผิดหวัง เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่ดีกว่าหรือประเสริฐกว่าการเป็นปุถุชนก็คือการได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลในทุกระดับ เพราะหลุดพ้นจากความทุกข์ที่เป็นปัญหาใหญ่หลวงที่สุดของชีวิตได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่