"คณิต ณ นคร" มั่นใจปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้ ความปรองดองเกิด .... มติชนออนไลน์ .../sao..เหลือ..noi

กระทู้คำถาม
โดย ศุภกาญจน์ เรืองเดช

หมายเหตุ - นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)
และอดีตประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)
ให้สัมภาษณ์มติชน ในประเด็นการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

- ความคิดเห็นของอาจารย์ต่อคณะกรรมการปรองดอง 15 คนที่ กมธ.ตั้งขึ้นมา

เรื่องนี้คงเป็นแนวคิดของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สปช. ซึ่งท่านก็เคยมาพบผม ความจริงแล้วเรื่อง
ความปรองดองนี้ คอป.เราเคยทำไว้หมดแล้ว เสร็จตั้งแต่ปี 2546 และงานของ คอป.ที่เกี่ยวข้องกับ
การปรองดองไม่ถูกจับไปใช้เลย จนผมต้องมาพิมพ์เป็นหนังสือ ซึ่งผมก็แจกไปเยอะแล้ว ไปหาอ่านได้
อันไหนที่เป็นประโยชน์ก็อยากให้จับเอาไปใช้ เพราะเราศึกษาทุกมิติเลย ทั้งทางด้านเหตุและผล
โดยระหว่างการทำงานเราก็ได้เสนอแนะไปหลายเรื่อง เสนอไปทุกอย่างแล้วทั้งระยะสั้น ระยะกลาง
ระยะยาว แต่ไม่เคยถูกหยิบนำมาใช้เลย ทั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
แต่ผมก็ยังขับเคลื่อนต่อ เผื่อใครเห็นประโยชน์จะได้หยิบเอาไปใช้ ส่วนการยึดอำนาจครั้งนี้ผมก็ได้พิมพ์หนังสือ
มาเล่มหนึ่ง ชื่ออภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม

ผมได้มอบให้ท่านนายกรัฐมนตรี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
อดีตรองนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะนายสมคิด ที่เคยพูดถึงเกาหลีโมเดล โดยเมื่อครั้งปัก จุง ฮี ยึดอำนาจ
เขาได้ทำการปราบคอร์รัปชั่น หลังจากนั้นเขาก็ปฏิรูปประเทศ ดูสิเดี๋ยวนี้เกาหลีใต้เขาไปถึงไหนแล้ว
ซึ่งผมคิดว่า หากรัฐบาลชุดนี้ทำตามแนวทางของปัก จุง ฮี ก็จะเป็นประโยชน์มาก สำหรับเรื่องการปรองดอง
ตอนนี้ อ.เอนกท่านกำลังผลักดันเรื่องนี้ ผมไม่รู้ว่าแนวคิดของท่านเป็นอย่างไร แต่ถ้าท่านมาหยิบเอาสิ่งที่
คอป.ทำไว้ไปปัดฝุ่น ก็อาจจะเป็นพื้นฐานที่สามารถนำไปต่อยอดได้

-ถ้าหากให้ประเมินผลสำเร็จที่คาดว่าจะได้รับจากกรรมการปรองดองที่ตั้งขึ้นมา

ผมไม่รู้ความคิดท่านว่าอย่างไร เท่าที่ทราบคือจะมีหลายฝ่าย แต่ไม่รู้ว่าจะขับเคลื่อนไปอย่างไร ตอนที่ท่านมา
พบผม ผมก็ให้หนังสือท่านไป ผมไม่มีสิทธิไปแนะนำอะไรท่าน

- ทุกคนต่างคาดหวังที่จะเห็นความปรองดอง คิดว่า 15 คนที่เข้ามาจะทำให้เกิดความปรองดองได้หรือไม่
  และคนเหล่านั้นจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร


ผมไม่ทราบ เรื่องนี้ต้องไปถามนายเอนก แต่ที่ผมพูดมาตลอดคือ ผมบอกว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่อง
ที่สำคัญ ถ้าเราสามารถปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มันดี ความสงบก็จะเกิด ผมพูดมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่
ผมกลับมาจากต่างประเทศ และผมก็ทำอยู่เรื่องเดียวเท่านั้น ตอนที่ผมเข้าไปสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
(สสร.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ 40 ผมก็ผลักดันให้ศาลออกหมายจับ แต่ยังปฏิบัติกันไม่ถูกต้องเท่าไหร่ เพราะ
ที่ผ่านมาเราเรียนกฎหมาย เราเรียนจำ ไม่ได้เรียนปฏิบัติ

- อยากให้อาจารย์เสนอเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ว่าจะต้องทำกันอย่างไร

กระบวนการยุติธรรมมีอยู่ 2 ส่วน คือ 1.ส่วนเจ้าพนักงาน และ 2.ส่วนศาล ในส่วนของเจ้าพนักงานนั้นได้มีการ
ปฏิรูปกันบ้างแล้ว เช่น การให้ศาลออกหมายจับ-ออกหมายค้น และก่อนที่จะไปสู่ศาลควรจะแวะที่อัยการก่อน
และให้ผู้พิพากษานั่งพิจารณาให้ครบ เราเน้นที่ศาลพิจารณา คนที่ไม่ได้นั่งพิจารณาจะพิพากษาไม่ได้นะ เราก็
เสนอไปแล้ว นี่คือในส่วนเจ้าพนักงงาน ซึ่งขณะนี้ในส่วนนี้เรามีหลายหน่วย เดิมมีตำรวจ อัยการ และฝ่ายปกครอง
ต่อมาก็เกิดกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ทั้งหมดนี้มีเป้าหมายอันเดียวกัน และต้องช่วยกัน
ทำงาน

- แต่ภาพที่ออกมาเหมือนกับหน่วยงานที่เกิดขึ้นเหล่านี้มีธง และความขัดแย้งส่วนหนึ่งก็เกิดจากตรงนี้ เพราะ
  ฝ่ายหนึ่งยังรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม


ผมถึงบอกว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นมี 2 ส่วน ในส่วนของเจ้าพนักงานคือการพยายามรักษาความสงบเรียบร้อย
ก็ต้องร่วมมือกัน จะมีกี่คนก็ได้แต่จะต้องมีหัว ผมเคยเสนอเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ปี 2520
แต่ไม่มีใครเป็น ที่ต่างประเทศเขาใช้อัยการ เช่น ที่เกาหลีใต้

เมื่อมีการยึดอำนาจ เรื่องหนึ่งที่มักถูกยกขึ้นเป็นเหตุผลในการยึดอำนาจคือเรื่องการทุจริต แล้วสังเกตไหมว่ามัน
ไม่ได้มีการลงลึกเลย อย่างปี 2549 ที่บอกว่ามีการทุจริตสนามบินสุวรรณภูมิอย่างมโหฬาร แต่กลับไม่สามารถเอา
ใครมาลงโทษได้เลย
ผมอยากบอกว่า ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ไม่ได้บกพร่องที่กฎหมายเลย แต่บกพร่องที่คน
ปฏิบัติ ซึ่ง 1.อาจจะเข้าใจกฎหมายไม่ดี หรือ 2.ไม่ทำงาน ผมก็พูดให้เข้าใจง่ายว่า กระบวนการยุติธรรมของเรานี่
คล้ายๆ กับการเล่นฟุตบอล ที่มีสูตรของการเล่นฟุตบอล คือเรามีสูตรแย่ๆ อยู่ 3-3-3 โดย 3 แรก คือพฤติกรรม
ของคนในกระบวนการยุติธรรม 1.ทำงานไม่ลงลึก ฉาบฉวย หรือขี้เกียจทำงานนั่นเอง 2.ทำงานด้วยความกลัว คือ
กลัวการเมือง และ
3.ประจบการเมือง ต่อมาคือ 3 ที่ 2 คือ 1.ประสิทธิภาพแย่ 2.คุกคามสิทธิเยอะ เช่น เรื่องของ
การเรียกหลักประกัน ตอนจะประกันตัว มีการเรียกในจำนวนสูง เป็นต้น 3.แพง แพงในที่นี้คือแพงงบประมาณ
ประเทศญี่ปุ่นที่ได้ชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมเขาดี จำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ และผู้พิพากษาทั้ง
ประเทศน้อยกว่าเราเยอะเลย ในขณะที่ประชากรเขามากกว่าเรา เขายังดูแลได้เลย

ผมเคยเสนอนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไปว่าไม่มีที่ไหนในโลกที่ศาลสูงสุด
(ศาลฎีกา) พิจารณาพิพากษาข้อเท็จจริง เขาจะพิจารณาพิพากษาข้อกฎหมายเท่านั้น ข้อเท็จจริงเขาจะทำให้
ยุติที่ศาลชั้นต้น แต่ต้องทำองค์คณะให้ดี องค์คณะของเรา ศาลทั่วไปมี 2 คน คือเกิดมาตั้งแต่ยุคสมัยที่เราขาด
แคลนคน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งตอนนี้เราไม่ปรับแต่งเลย และเมื่อข้อเท็จจริงยุติแล้วจึงส่งให้ผู้พิพากษา
ผู้พิพากษาเขาจึงน้อยคน ที่อเมริกาใช้ 9 คน ญี่ปุ่นใช้ 15 แต่บ้านเราศาลฎีกานี่มีร้อยกว่าคน และขนาดคนร้อย
กว่าคน คดียังค้างอยู่ศาลตั้ง 2 หมื่นกว่าเรื่อง เราไม่ได้ปรับแต่งเลย เมื่อครั้งรัฐธรรมนูญ 40 ไม่มีใครเอากับผม
นายบวรศักดิ์ก็บ่นเสียดาย คราวนี้ผมก็เขียนถึงท่านว่าอย่าทำให้ผมบ่นเสียดายนะ

และ 3 สุดท้าย คือ 1.กฎหมาย 2.นักกฎหมาย 3.การศึกษากฎหมาย กฎหมายของเราทันสมัยไม่แพ้ประเทศใด
ในโลกเลย แต่นักกฎหมายของเราแย่ คือยังอ่านกฎหมายไม่แตกฉานเลย เพราะเราสอนให้จำซึ่งมันไม่ใช่
การปฏิบัติกันผิดๆ จึงเยอะ และการเรียนการสอนเราแย่ ตรงสำนวนที่ว่า คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ เทียบคือ
คนที่เรียนมาโดยตรงไม่ได้สอนหรอก ส่วนคนที่สอนนั้นไม่ได้เรียนมาโดยตรง มหาวิทยาลัยต้องปรับปรุง ต้องทำ
อะไรสักอย่าง ผมก็ได้แต่เสนอไปแบบนี้

มนุษย์เราต้องการ 2 อย่างเท่านั้น คือ 1.ความมั่นคงในชีวิต และ 2.ความเป็นธรรม แม้เราจะมีความมั่นคงแต่
ขาดความยุติธรรมมันก็แย่ ซึ่งความเป็นธรรมจะเกิดได้ก็จากกระบวนการยุติธรรมที่ดีและมีประสิทธิภาพ


- ในฐานะที่เป็นประธานคณะ กมธ.ปฏิรูปกฎหมาย อยากให้พูดถึงการปฏิรูปกฎหมาย

การปฏิรูปกฎหมาย ในอดีตเราทำเพราะเราเข้าใจว่ากฎหมายเป็นอุปสรรค เราไม่ได้มีการศึกษาหรือวิจัยใดๆ ทั้งสิ้น
เราทำจากความรู้สึก เมื่อแก้ไปก็เข้ารกเข้าพงไปเรื่อยๆ คณะกรรมการชุดผมปัจจุบันจึงอาศัยความรู้จากการอ่าน
การเปิดเวทีรับฟัง กฎหมายมีผลต่อประชาชนทุกคน มิติของการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูป ซึ่งผมบังเอิญมา
นั่งอยู่ตรงนี้ นอกจากใช้ความรู้แล้วเรายังใช้การมีส่วนร่วมของประชาชน เรามีความอิสระที่จะนำเสนอสิ่งต่างๆ เรา
คาดหวังว่าจะให้กฎหมายมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ถ้าทำจากความรู้เราก็จะพูดกันเป็นเรื่องเป็นราว แต่ถ้าทำจาก
ความรู้สึกว่ากฎหมายไม่ดี ยิ่งแก้เท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มอำนาจรัฐเท่านั้น และคนที่จะได้รับกรรมก็คือประชาชน

- มองการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้อย่างไร

ผมรู้ใจเขาว่าคิดอย่างไร แต่ผมคิดว่าทุกคนเขาก็หวังดี อยากให้เกิดสิ่งที่ดีงามกับประเทศทั้งนั้น แล้วความปรองดอง
ทุกคนก็ต้องการ

- แต่รัฐธรรมนูญที่ร่างออกมา เช่น การให้ ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมด ทำให้รู้สึกว่า ยิ่งร่างยิ่งไกลประชาชน

คุณต้องเข้าใจว่าตอนนี้ยังไม่ใช่ร่างที่ยุตินะ สปช. สนช.เขาไม่แก้หรือ เรื่องนี้ยังมีเวลาอยู่

ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 2 มีนาคม 2558

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1425275012


สาวแว่น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่