“พิชัย รัตตกุล อดีตประธานรัฐสภา จากพรรคประชาธิปัตย์” ชี้ รธน. ไม่ใช่ตัวชี้วัดความเป็นประชาธิไตย

“พิชัย”ชี้ รธน.ไม่ใช่ตัวชี้วัดความเป็นประชาธิไตย

วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน 2556 เวลา 13:15 น.

“พิชัย”ชี้ รธน.ไม่ใช่เอกสารชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยของไทย ขึ้นอยู่กับการกระทำ ย้ำความปรองดองไม่สามารถบังคับใช้ได้ตาม กม.ที่ถูกตราออกมา

วันนี้(23มิ.ย.) นายพิชัย รัตตกุล อดีตประธานรัฐสภา จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการหน้าที่พลเมืองถึง“มุมมอง 81 ปีประชาธิปไตยไทยภายใต้ดุลอำนาจ 3 ฝ่าย” ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ ว่า ดุลอำนาจ 3 ฝ่ายกลไกรัฐธรรมนูญปี2550 ยังขับเคลื่อนไปได้ด้วยดีและราบรื่น แม้จะเกิดความสับสนกับบทบาทและอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระบ้าง แต่ก็มั่นใจว่าบุคลากร ผู้ทำหน้าที่ในศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง  คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)และคณะกรรมการปัองกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ) ต่างก็เป็นที่พึ่งพิงของประชาชนได้ ซึ่งองค์กรอิสระควรค่าแก่การดำรงอยู่ต่อไป แต่ต้องอยู่ภายใต้ผู้ทำหน้าที่ในองค์กร ที่มีคุณสมบัติและมีหลักการทำงานเพื่อประชาชนและบ้านเมืองไม่ใช่เห็นแก่ตัวเองและพวกพ้อง

เมื่อถามว่า การแก้รัฐธรรมนูญ กำลังเป็นบทสะท้อนถึงความชัดเจนในอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาและศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ปัญหานี้คงต้องดูที่สาเหตุเป็นหลักเพราะการยื่นคำร้องครั้งนั้น เกิดจากผู้ยื่นกังวลต่อกรณีการล้มล้างการปกครองที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งสังคมไทย ก็ต้องยอมรับว่า เคยเกิดขึ้นจริง และกลายเป็นข้อกังวลถึงปัจจุบันเมื่อถึงจุดนี้ ก็ต้องยอมรับในสิทธิโดยชอบที่จะยื่นคำร้องสอบถามศาลรัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวไม่ติดใจกับการแก้รัฐธรรมนูญและยอมรับในความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย แต่ก็เชื่อว่าต่างฝ่ายต่างก็มีเบื้องหลังของความคิดเห็น ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นแบบไหนอย่างไรไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ แต่ประชาธิปไตยจะมีหรือไม่ขึ้นอยู่กับการกระทำและรัฐธรรมนูญที่เป็นจริง ก็ควรเป็นเพียงแค่แนวทางการทำงาน เป็นกรอบการปฏิบัติการการของบ้านเมือง ซึ่งประเทศไทย อาจมีรัฐธรรมนูญอันแสนสวย มากมาตรา  แต่กลับปกครองในระบบเผด็จการก็ได้หากผู้ใช้เข้าใจและกระทำการแบบผิดๆ

นายพิชัย กล่าวว่า วันนี้บ้านเมืองเราทะเลาะกันรุนแรงเหลือเกิน แบบที่สังคมไทยการเมืองไทยไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยอีกมุมหนึ่งก็เชื่อว่าประชาชนคนไทยก็เบื่อบรรยากาศแบบนี้แล้วไม่ว่าจะฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน จึงมั่นใจว่าคนไทยทุกคนปรองดองกัน แต่การปรองดองนั้นไม่ใช่การออกกฎหมายปรองดอง หรือ นิรโทษกรรม

“วันนี้ เรื่องง่ายๆ ผมบังคับให้คุณดื่มน้ำชา ถ้าคุณไม่ดื่ม ผมจะออกกฎหมายมาบังคับคุณ แต่คุณบอกว่าคุณอยากดื่มน้ำเปล่า ฉันใดก็ฉันนั้นการปรองดองจะเกิดขึ้นด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกันการเจรจาโดยไม่มีเงื่อนไขล่วงหน้าการอะลุ้มอล่วยและยืดหยุ่น ดังนั้นทางสายกลางที่ดีที่สุด ที่จะนำไปสู่การปรองดองและจากคุณต้องการดื่มน้ำเปล่าแต่ผมต้องการให้คุณดื่มน้ำชาจึงน่าจะตกลงกันได้ด้วยดีแบบคนละครึ่งคือผสมน้ำชาลงไปในน้ำเปล่าคุณตกลงไหมนี่ละการปรองดอง” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย ยังกล่าวแสดงความเป็นห่วงในการเปิดประชุมสภาฯ 1 ส.ค.นี้ จะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรองดองและพ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า อยากขอร้องให้ทั้ง2ฝ่ายในสภาฯยุติการโต้เถียงกัน โจมตี หันหน้ามาคุยกันด้วยเหตุและผล จะคุยแบบไม่ต้องเปิดเผยหรือมีเงื่อนไขล่วงหน้าก็ได้ ซึ่งข้อตกลงที่ได้ก็ต้องทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับได้แล้วค่อยมาว่ากันเรื่องกฎหมายปรองดอง เพราะการปรองดองในบ้านเมืองจะออกเพียงกฎหมายไม่ได้ ซึ่งหากขัดขืนฝืนเดินหน้าไป อาจเป็นเหตุให้คนที่รักและเคารพกฎหมาย โดยยึดหลักการตามกระบวนการยุติธรรมออกมาคัดค้านต่อต้านได้ สุดท้ายจะเกิดการเผชิญหน้าและนำมาซึ่งความรุนแรงแบบที่ว่า “การเมืองกับการเมือง ประชาชนกับประชาชน” ซึ่งวาระการพิจารณากฎหมายทั้ง2ฉบับจะถึงขั้นต้องพับไปก่อนหรือไม่นั้น ตนไม่สามารถตอบแทนได้ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของส.ส.และดุลยพินิจของรัฐบาล ที่จะร่วมส่งสัญญาณที่เหมาะสม.


http://www.dailynews.co.th/politics/213969
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ฝ่ายค้าน รัฐบาล นักการเมือง การเมือง เลือกตั้ง
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่