☆ บาลีวันละคำ ... สมมุติสงฆ์ vs. อริยสงฆ์ ☆

กระทู้สนทนา
สมมุติสงฆ์

อ่านว่า สม-มุด-ติ-สง
บาลีเป็น “สมฺมุติสงฺฆ” อ่านว่า สำ-มุ-ติ-สัง-คะ

ประกอบด้วย สมฺมุติ + สงฺฆ

(๑) “สมฺมุติ”

รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + มุติ

“มุติ” มาจาก มุ (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย : มุ + ติ = มุติ แปลตามศัพท์ว่า “การรู้” หมายถึง ญาณ, ปัญญา, ความรู้, ความเข้าใจ, สติปัญญา, การกำหนดรู้โดยทางประสาท, ประสบการณ์

สํ + มุติ แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ : สํ > สมฺ + มุติ = สมฺมุติ แปลตามศัพท์ว่า “การรู้พร้อมกัน” คือ รับรู้ร่วมกัน, ยอมรับร่วมกัน

คำว่า “สมฺมุติ” อาจมีรูปคำเป็น “สมฺมต” (สำ-มะ-ตะ) หรือ “สมฺมติ” (สำ-มะ-ติ) ได้อีก มีความหมายในทำนองเดียวกัน

ภาษาไทยใช้เป็น -
: สมมต อ่านว่า สม-มด
: สมมติ อ่านว่า สม-มด ถ้ามีคำอื่นมาสมาสท้าย อ่านว่า สม-มด-ติ-
: สมมุติ อ่านว่า สม-มุด ถ้ามีคำอื่นมาสมาสท้าย อ่านว่า สม-มุด-ติ-

อย่างไรก็ตาม เสียงที่ได้ยินพูดกันมากที่สุดคือ สม-มุด = สมมุติ

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

(๒) “สงฆ์” บาลีเป็น “สงฺฆ” อ่านว่า สัง-คะ

“สงฺฆ” รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ง, แปลง หนฺ เป็น ฆ

: สํ > สงฺ + หนฺ > ฆ + อ = สงฺฆ แปลตามศัพท์ว่า
   (1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน”
   (2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน”


สมมุติ + สงฺฆ = สมมุติสงฺฆ > สมมุติสงฆ์ แปลตามประสงค์ว่า “ผู้เป็นสงฆ์โดยสมมุติ”
หมายความว่า เป็นผู้ที่สังคมยอมรับตกลงกันเองโดยปริยายว่าเป็น “สงฆ์” โดยไม่คํานึงถึงสภาพที่แท้จริง


“สมมุติสงฆ์” มักใช้เมื่อกล่าวเทียบกับ “อริยสงฆ์” ทั้งนี้แสดงนัยว่า
“สงฆ์” ที่แท้จริงในพระพุทธศาสนานั้นคือพระอริยบุคล (ผู้บรรลุภูมิธรรมตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป)
หรือ “สาวกสงฆ์” นั่นคือหมายถึงสงฆ์อันเป็น 1 ในรัตนะ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า แม้ภิกษุผู้ยังเป็นปุถุชนก็มีสถานะเป็น “สงฆ์” ได้ด้วย โดยเป็น “สมมุติสงฆ์” คือ “ผู้เป็นสงฆ์โดยสมมุติ”


การเคารพในสมมุติสงฆ์โดยตั้งจิตระลึกถึงอริยสงฆ์ ท่านว่ามีผลเท่ากับได้ปฏิบัติเช่นนั้นต่ออริยสงฆ์โดยตรง
ดังพระพุทธพจน์ในทักขิณาวิภังคสูตร1ว่า

“ดูก่อนอานนท์ ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู มีผ้ากาสาวะพันคอ เป็นคนทุศีล มีความชั่วช้าเป็นปกติ
คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น

ดูก่อนอานนท์ ทักขิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้นเราก็กล่าวว่ามีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้
แต่ว่าเราไม่กล่าวว่าปาฏิบุคลิกทานมีผลมากกว่าทักขิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไร ๆ เลย

คำว่า “ภิกษุโคตรภู มีผ้ากาสาวะพันคอ” นี่เองคือเราพูดถึงกันว่า เป็นสงฆ์ชนิด “ผ้าเหลืองน้อยห้อยหู” อันเป็นชั้นต่ำสุดของสมมุติสงฆ์
แม้ถึงเช่นนั้นก็ยังตรัสว่า ทานที่ถวายแก่สงฆ์ชนิดนั้นโดยระลึกถึงอริยสงฆ์ยังมีผลมากกว่าที่ถวายเฉพาะเจาะจงแม้แก่พระพุทธเจ้า

☆☆☆☆

อริยสงฆ์ (หรือพระอริยะ)

(๑) “อริย” อ่านว่า อะ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก -

   (1) อรห = “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส”, แปลง อ ที่ ร และ ห เป็น อิย
   : (อร + อห = ) อรห : อห > อิย : อร + อิย = อริย แปลเท่ากับคำว่า “อรห” คือ “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส”

   (2) อรฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคม
   : อรฺ + อิ = อริ + ณฺย > ย = อริย แปลว่า “ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล”

   (3) อารก = “ผู้ไกลจากกิเลส”, แปลง อารก เป็น อริย แปลเท่ากับคำว่า “อารก” คือ “ผู้ไกลจากกิเลส”

   (4) อรฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคม [เหมือน (2)] แปลว่า “ผู้อันชาวโลกพึงเข้าถึง”

   (5) อริย = “ผลอันประเสริฐ” + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
   : อริย + ณ = อริย แปลว่า “ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ”

สรุปว่า “อริย” แปลว่า -
(1) ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส
(2) ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล
(3) ผู้ไกลจากกิเลส
(4) ผู้อันชาวโลกพึงเข้าไปใกล้
(5) ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ


“สงฆ์” ในพระพุทธศาสนามีความหมาย 2 อย่าง คือ -

(1) “สาวกสงฆ์” หมายถึงหมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ที่ได้บรรลุธรรมในภูมิอริยบุคคลคือเป็นพระโสดาบันขึ้นไป
ดังคำสวดในสังฆคุณที่ว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ


(2) “ภิกขุสงฆ์” หมายถึงชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย

บางทีเรียกอย่างแรกว่า “อริยสงฆ์” อย่างหลังว่า “สมมติสงฆ์”

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


อริย + สงฺฆ = อริยสงฺฆ > อริยสงฆ์ แปลตามประสงค์ว่า “ภิกษุผู้เป็นพระอริยะ”

คำว่า “อริยสงฆ์” :


(1) หมายถึง “สาวกสงฆ์” คือหมู่สาวกของพระพุทธเจ้าที่บรรลุธรรม 8 ระดับ คือระดับโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตมรรค อรหัตผล หรือนับตัวบุคคลก็มี 4 คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์

ผู้บรรลุธรรมดังกล่าวนี้อาจเป็นบรรพชิตหรือเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ ย่อมได้รับสิทธิ์เป็น “อริยสงฆ์” โดยอัตโนมัติ

อริยสงฆ์ในความหมายนี้ก็คือที่ตรงกันข้ามหรือคู่กับ “สมมติสงฆ์” คือหมู่ภิกษุที่ยังเป็นปุถุชน

(2) หมายถึง “ภิกษุผู้เป็นอริยบุคคล” คือผู้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันขึ้นไป ดังที่เรียกกันว่า “อริยสงฆ์” หรือ “พระอริยะ”



[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ที่มา
https://www.facebook.com/hashtag/บาลีวันละคำ?source=feed_text&story_id=772081436218929&pnref=story

อ้างอิง
1            [๗๑๓] ดูกรอานนท์ ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู มี
ผ้ากาสาวะพันคอ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะ
สงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น ดูกรอานนท์ ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้น
เราก็กล่าวว่า มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทานว่า
มีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไรๆ เลย ฯ
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=9161&Z=9310&pagebreak=0
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่